Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   มุสลิม

มุสลิม'มะละแหม่ง' พม่า 

วิถีบนความหลากหลาย

โดย สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี

            หลังจากที่รัฐบาลเมียนม่าร์ หรือ รัฐบาลพม่า ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้บริบททางการเมืองพม่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น   

            ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลพม่า ให้ความสำคัญมากที่สุด  เช่น การส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่า และจากเดิมชาวต่างชาติ มีข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่ในพม่ามาก อันเนื่องมาจากปัญหาสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา อย่างเช่น เมืองมะละแหม่ง หรือ เมาะลำเลิง ที่อยู่ในรัฐมอญ

            แต่ปัจจุบันนี้ พม่าอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปยังเมืองมะละแหม่งได้แล้ว

            เมืองมะละแหม่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพม่า ประชาชนส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มมอญ ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ ในเมืองมะละแหม่ง จึงเต็มไปด้วยวัดแบบศิลปะชาวมอญมากมาย เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์ แบบคลาสสิคโบราณ เพราะเมืองมะละแหม่ง ถูกยึดครองโดยทหารอังกฤษ และถูกปกครองโดยประเทศอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม

             เช่นเดียวกับ สุเหร่า หรือ มัสยิดกว่า 100 แห่ง ซึ่งเป็นอาคารทรงศิลปะ มีความเก่าแก่ ตามยุคตามสมัย ทั้งถูกสร้างขึ้นมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และในระยะหลังจากนั้นมา  บรรดาชาวมุสลิมส่วนมากได้เข้ามาทางด้านทะเลอันดามัน ขึ้นฝั่งที่เมืองมะละแหม่ง

            ชาวมุสลิมจากเมืองมะละแหม่งจึงมีเชื้อสายบังคลาเทศ จากประเทศอินเดีย

            ชาวมุสลิม ที่อยู่ในเมืองมะละแหม่ง ส่วนมากประกอบชีพค้าขาย ทำธุรกิจ เ ปิดร้านค้า ตามแบบฉบับของบรรพบุรุษ ที่เข้ามาในสมัยก่อนเพื่อค้าขายกับชาวพม่า และต่อมามีการตั้งรกรากถิ่นฐาน อยู่ในพม่าจนแตกหน่อ แตกก่อ มีลูกหลาน

            ในเมืองมะละแหม่ง แห่งนี้ ร้านค้าส่วนมาก จึงเป็นของชาวมุสลิม เช่น ร้านค้าผ้า ร้านอาหาร  ร้านกาแฟ และร้านโชว์ห่วย ซึ่งจัดอยู่เป็นโซน

            มัสยิดที่เมืองมะละแหม่ง ในช่วงที่ผ่านมา ทางการพม่าไม่ยอมให้บูรณะซ่อมแซม จึงถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพที่เก่าแก่  แม้ว่าจะขยายต่ออีกก็ไม่ได้ หากจะดำเนินการใดๆ ต้องขออนุญาตทางการก่อน แต่กระนั้น แม้ว่าจะยื่นเรื่องขอรัฐบาลพม่า ก็ไม่อนุญาต ทำให้สภาพของมัสยิดไม่ได้รับการดูแล เว้นแต่การเก็บกวาดในแต่ละวันเท่านั้น ขณะที่ตัวอาคาร อยู่ในสภาพที่พอจะเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจหรือ พิธีละหมาด ได้ตามปกติเท่านั้น

            อาหมัด อาลี  ชาวมุสลิมพม่าในเมืองมะละแห่ง บอกว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธ กับ ชาวมุสลิมในพม่า ทำให้ลำบากใจมาก เพราะพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อย จึงต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับฝ่ายพี่น้องชาวพุทธ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหากันมาก่อน
            " ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างอยู่ ต่างฝ่ายต่างนับถือศาสนา ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมาเกิดปัญหาเรื่องชาวยะไข่ ที่เป็นมุสลิม กับชาวพุทธ ทะเลาะกันทำให้ชาวพม่ามุสลิม กับชาวพุทธในพม่า ต้องระหวาดระแวงกัน"

            อาหมัด บอกว่า ปัจจุบันชาวมุสลิมกับชาวพุทธในพม่า เริ่มมีความเข้าใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองมะละแหม่ง ขณะที่การบูรณะและก่อสร้างต่อเติมมัสยิดก็เริ่มทำได้แล้ว จึงอยากให้มีบรรยากาศที่ดีเช่นนี้ตลอดไป

          "ชาวมุสลิมใน มะละแหม่ง ปัจจุบันมีความสามัคคีกันดี มีอะไรก็ช่วยเหลือกันฉันท์พี่น้อง"

            สำหรับวัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย การรับประทานอาหาร ของชาวมุสลิมพม่า ก็ไม่ต่างไปจากชาวมุสลิมในบังคลาเทศ และอินเดีย  

            เรามีโอกาสเห็นการเตรียมงานในงานนิกะห์ ( พิธีแต่งงานตามพิธีทางศาสนาอิสลาม ) งานหนึ่ง พบว่าชาวมุสลิมพม่าทั้งชาย–หญิง  ได้ร่วมกันทำขนม โดยการใช้ไม้กวนขนม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มาจากบังคลาเทศ และอินเดีย อย่างชัดเจน

            นอกจากนี้บรรยากาศในย่านชุมชนมุสลิมในเมือง ยังมีร้านน้ำชา ที่มีรสชาติอร่อย และขนมที่หลากหลาย รวมทั้งโรตีชนิดต่างๆ ขณะที่บรรยากาศภายในร้านซึ่งเป็นร้านข้างถนนในเมืองมะละแหม่ง สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ไปเที่ยวชมเมืองเก่าแก่ ซี่งเป็นเมืองทีมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมแห่งนี้

   

 ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557