Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จากคดี" อัลรูไวรี่" ถึง " ทนายสมชาย"

จากคดี" อัลรูไวรี่" ถึง " ทนายสมชาย" กระบวนการยุติธรรมไทย ที่ถูกกังขา

โดย จันทร์เสี้ยว บางนรา

++++++++++++

                 เหตุการณ์การหายตัวไปของ นายมูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจซาอุดิอารเบีย ซึ่งเป็นสายพระญาติของกษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย  เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 หรือ กว่า 20  ปีที่ผ่านมา

                 การสอบสวน คดีนี้ ได้ดูเหมือนจะ ไม่ธรรมดา

                 เพราะ แนวทาวการสืบสวนพบว่า มีนายตำรวจใหญ่ คือ พ.ต.ท.สมคิด บุญถนอม (ยศขณะนั้น) กับพวก ถูกระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของ นายอัลรูไวรี่ แต่ท้ายสุด อัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอ ทำให้คดีถึงที่สุด เมื่อ เมื่อปี 2536

                ต่อมาได้มีการจัดตั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขึ้น ตำรวจจึงได้โอนเรื่องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบ และตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำการสืบสวนสอบสวนต่อ  กระทั่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยของ " พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" เป็นอธิบดี ได้ปัดฝุ่นคดีการหายตัวไปของนักธุรกิจซาอุฯ อีกครั้ง

                จนนำไปสู่การ ออกหมายเรียก พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ตำแหน่งขณะนั้น) ,พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือ สมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ,พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี ,พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ มารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และไตร่ตรองไว้ก่อน ปิดบังซ่อนเร้นทำ ลายศพ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำการใด

                โดยดีเอสไอระบุว่า "  มีพยานหลักฐานใหม่ " เพื่อรื้อฟื้นคดีซึ่งมีน้ำหนักพอที่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ได้ จนกระทั่งมีการต่อสู้ทางศาล ซึ่งคดีความจะยุติทางคดี ในวันที่ 31 มีนาคม 2557 ที่จะถึงนี้

                แต่ดูเหมือนว่า เรื่องนี้ มีปมปริศนา ซ่อนเงื่อนหลายอย่าง ทั้งเรื่องกระบวนการสอบสวน จนมีการตั้งข้อสังเกตจาก สถานฑูตซาอุดิอารเบีย ประจำประเทศไทย ว่า กระบวนการยุติธรรมไทย มีการทำงานตรงไป-ตรงมา หรือไม่

                จากคดีเพ็ชรซาอุ ฯ และ การสังหารเจ้าหน้าที่ฑูต รวมถึง การหายตัวไปของนักธุรกิจ เชื้อสายกษัตริย์ ซาอุฯ ทำให้ ซาอุดิอารเบีย ลดความสัมพันธ์ กว่า 20 ปี สองประเทศ ยังไม่สามารถรื้อฟื้น ความสัมพันธ์ ได้

                นี่คือ คดีมหากาพย์ ที่กำลังรอการพิสูจน์ กระบวนการยุติธรรมของไทย

         +++++++++++++++++++       
                คดีสำคัญอีกเรื่อง ที่ยังมีคำถามและกังขา ต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย  คือ กรณี การหายตัวของทนายความ " สมชาย นีละไพจิตร " อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เหตุเกิดเมื่อ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547

                วันจันทร์ที่ 12 มีนาคมของทุกปี อาจไม่มีความหมายใดๆกับคนไทย หรือ รัฐบาลใดๆ ในโลกนี้ หรือ แม้กระทั่งรัฐบาลไทยในชุดนี้หรือชุดไหนก็ตาม

                แต่ วันที่12 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันแห่งการเจ็บช้ำและจดจำตลอดไปของคนในตระกูล " นีละไพจิตร" และ เพื่อนพ้องน้องพี่ของกลุ่มนักกฎหมายมุสลิม หลังจากที่อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม อย่าง " สมชาย นีละไพจิตร " ได้หายตัวไป เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547

                จากวันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงวันนี้ 12 มีนาคม 2557 ระยะเวลา 10  ปีเต็ม ที่ ทนายสมชาย หายตัวไป แม้แต่ซากศพก็ไม่รู้อยู่ไหน

                เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดในสังคมไทย

                 เพราะก่อนหน้านี้ ฮัจยีสุหลง กับลูกชายและเพื่อนอีก 2 คน รวม 4 ชีวิต ก็หายตัวไป เมื่อประมาณ 50 ปี ที่ผ่านมา ในยุค จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม หรือ เรียกอีกฉายาว่า " ยุคอัศวิน " ซึ่งตำรวจครองเมืองและทรงอำนาจ

               
                 จนถึงขณะนี้ทั้ง 4 คน ก็ไม่มีใครพบแม้แต่ซากศพเช่นเดียวกัน

                จากเหตุการณ์ ฮัจยีสุหลง และ  นักธุรกิจซาอุฯ อัลรูไวรี่ หรือ แม้กระทั่ง เหตุการณ์ทนายสมชาย นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งสามเหตุการณ์ มีการตั้งข้อสังเกตและ เชื่อว่า เป็นฝีมือของคนที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ และรู้เห็นเป็นใจด้วย

                แม้วันเวลาจะหมุนเปลี่ยน และทำให้สังคมลืมหายไปจากความทรงจำไปบ้าง

                แต่เชื่อว่า คนกลุ่มหนึ่งยังเรียกหา และทวงความยุติธรรม ไม่รู้จบ .