Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   อัลกุรอานเขียนด้วยลายมือ มรดกแห่งชายแดนใต้

อัลกุรอานเขียนด้วยลายมือ มรดกแห่งชายแดนใต้

++++++++++++++++

            สำนักข่าวอะลามี่ : หลังจากที่ พระมหาคัมภีร์ อัลกุรอาน  อันเก่าแก่ ซึ่งเขียนด้วยลายมืออายุกว่า 800 ปี ได้นำไปซ่อมแซม ณ ประเทศตุรกี นานกว่า 2 ปี


            ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา คณะผู้แทนจากประเทศไทย นำโดย นายณรงค์  ศศิธร  รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายเอนก  สีหามาตย์  อธิบดีกรมศิลปากร ดร.มะรอนิง สาแลมิง  รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายเซ็ง ใบหมัด รองประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี /ผู้แทนสภาอุลามะห์ประเทศไทย นางไซนับ อับดุลรอแม แชมป์นักกอรีโลก

            พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร คณะครู โรงเรียนสมานมิตรวิทยา เดินทางสู่ห้องสมุด SULEYMANIYA (สุไลมานียะห์) ณ.กรุงอังการา นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อเข้าร่วมพิธีรับมอบมหาคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ อายุกว่า 800 ปี กลับคืนสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

            โดยมี  Prof Dr. Muhittin  Macit  (ศาสตราจารย์ ดร.มูฮิทติน  มาเซ็ท) หัวหน้าคณะห้องสมุด SULEYMANIYA (สุไลมานียะห์)  และ Miss Nal  Baydar (มิซซิสนิว  ไบดาส) หัวหน้าทีมซ่อมแซมคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมทั้งคณะทำงาน คอยให้การต้อนรับ

             นายเซ็ง ใบหมัด รองประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี / ผู้แทนสภาอุลามะห์ประเทศไทย  กล่าวทั้งน้ำตาด้วยความปิติ ว่า ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ และสภาอุลามะห์  รู้สึกดีใจ ปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางรัฐบาลไทย โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่อย่าง ศอ.บต. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

            ทั้งนี้การรับคัมภีร์อัลกุรอานกลับมาในครั้งนี้ จะเป็นการฟื้นฟูมรดกที่สำคัญอันล้ำค่า เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของอุลามะห์ในอดีต ที่อยากให้มุสลิมได้เข้าใจในเรื่องของศาสนาอย่างลึกซึ้งและถูกต้อง

            " การที่ อัลกุรอาน มีอยู่ทั่วทุกมุมของโลกแสดงให้เห็นว่า  ในหลักการและแนวทางของศาสนาอิสลามอยู่ในอัลกุรอาน เขียนไว้ว่ามนุษย์เราสามารถอยู่โลกนี้ได้ ด้วยความสันติสุขและสามารถอยู่ร่วมกันได้ในทุกศาสนิก ช่วยกันพัฒนา " ผู้แทนสภาอุลามะห์ประเทศไทย กล่าว

          ด้าน ดร.มะรอนิง  สาแลมิง รองเลขาธิการ ศอ.บต.  กล่าวว่า  เป็นที่ทราบกันดีว่า อัลกุรอาน เป็นมรดกของมุสลิมทั้งโลก การที่เราพบอัลกุรอาน ที่เขียนด้วยมืออายุหลายร้อยปี เท่ากับว่า โลกมุสลิมนั้นมีมรดกใหม่ ที่ถูกเก็บไว้ไม่มีใครเคยเปิดเผย

            " ศอ.บต.มีแนวทางที่จะให้สิ่งเหล่านี้อยู่เป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมือง โดยจัดเก็บไว้ที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบอัลกุรอาน นี้เป็นครั้งแรก และในอนาคตจะมีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สถานที่เพื่อเก็บอัลกุรอานทั้ง 6 เล่มนี้ เป็นอย่างดีและทรงคุณค่า " ดร.มะรอนิงกล่าวและว่า

            การนำคณะมารับอัลกุรอานโบราณในครั้งนี้ ถือเป็นคุณค่าทางจิตใจ ที่เป็นความภาคภูมิใจของมุสลิมทั้งประเทศ และโลกมุสลิม ว่า อัลกุรอาน ที่เขียนด้วยมืออายุกว่าหลายร้อยปีได้ถูกเปิดเผย ถือว่าในวันนี้คนในพื้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะได้รับรู้ว่า อัลกุรอาน อันทรงคุณค่าอยู่ในพื้นที่ของตน

         อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าพิธีรับมอบคัมภีร์อัลกุรอ่านโบราณ  Miss Nal  Baydar (มิซ นัร  ไบดาส) หัวหน้าทีมซ่อมแซมคัมภีร์อัลกุรอ่าน ของตุรกี ได้นำคณะผู้แทนจากประเทศไทย เข้าชมวิธีการเก็บรักษาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งจัดเก็บในห้องเก็บที่ควบคุมอุณหภูมิ ภายในประกอบด้วย คัมภีร์อัลกุรอาน เก่าแก่จากทั่วทุกมุมโลก กว่า 200,000 เล่ม ในจำนวนนี้ 80,000 เล่ม เป็นคัมภีร์กุรอาน เขียนขึ้นด้วยมือ

          สำหรับความเป็นมาของคัมภีร์อัลกุรอ่าน ทั้ง 6 เล่ม มรดกอันทรงคุณค่าของไทยนั้น  สืบเนื่องจาก ทางโรงเรียนสมานมิตรวิทยา จังหวัดนราธิวาส ได้เก็บรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่ ที่เขียนด้วยลายมือ ที่ตกทอดมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าของคนมุสลิมในประเทศไทยและมุสลิมทั่วโลก มีจำนวนไม่น้อยกว่า 70 เล่ม อายุอยู่ในราว 150 - 1,200 ปี โดยคัมภีร์ดังกล่าวได้มาจากพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย จากคาบสมุทรมาลายู และบางประเทศในโลกมุสลิม ที่เคยติดต่อกับประเทศไทยในอดีต

            อย่างไรก็ตามสภาพของคัมภีร์บางเล่มเริ่มชำรุดเสื่อมสภาพ จำเป็นที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และถูกจัดเก็บให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ประเทศไทยไม่มีวัสดุ ที่ใช้ในการซ่อมแซม และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ชาวตุรกี ได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนเรียนสมานมิตรวิทยา และได้เข้าชม อัลกุรอาน เก่าแก่ในศูนย์การเรียนรู้

            ชาวตุรกีได้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์มรดกดั้งเดิมนี้ เพื่อเก็บไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าต่อไป จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ชำนาญการมารับคัมภีร์อัลกุรอานไปซ่อมแซมจำนวน 6 เล่ม ในการสนับสนุนงบประมาณการดูแลคัมภีร์อัลกุรอานทั้งระบบ จวบจนกระทั่ง การเดินทางเพื่อมารับคัมภีร์อัลกุรอานกลับไว้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ .

++++++
ตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ มีนาคม 2557