Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   บนเส้นทางธนาคารอิสลามฯ 10 ปีทีผ่านมา

IBank ผ่านวิกฤติ ICU ชู SMEs Halal รับตลาด AEC

โดย เอกราช มูเก็ม
      บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ดิ อะลามี่
+++++++++++++

            นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย " ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ " นั่งจับเข่าคุย ถึงสถานการณ์การเงิน และสภาพคล่องของธนาคาร ตลอดจนแผนในอนาคต เพื่อนำพาองค์กรสู่การยอมรับ

            บนเส้นทางธนาคารอิสลามฯ 10 ปีทีผ่านมา ล้มลุกคลุกคลาน ทั้งจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ทำให้ธนาคารฯ เดินเข้าสู่วิกฤติหลายรอบ ล่าสุด ธนาคารมีหนี้สะสมมากถึง 4 หมื่นล้านบาท ทำให้สถานะของธนาคารฯ แม้ว่า จะเป็นรัฐวิสาหกิจ  ทำให้ลูกค้าขาดความมั่นใจในระดับหนึ่ง

            ดร.ครรชิต เข้ามารับไม้ต่อจากอดีตผู้จัดการธนาคารอิสลาม ที่ส่งไม้ต่อปีเดียวถึง 2 คน โดยเข้าตำแหน่งรักษาการ ผู้จัดการธนาคารอิสลามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556  

            " ต้องยอมรับว่าในวันที่เข้ามารับตำแหน่งสภาพคล่องของธนาคารตกต่ำมากสุด ในช่วงกลางปี จาก 6.9 พันร้อยล้านบาท ลงมาเหลือ 2.9 พันล้านบาท ประมาณกลางปีในช่วงไตรมาส 3  BIS (อัตราส่วนเงินคงคลัง) ติดลบ 10 %  สภาวะในตอนนั้นขาดทุนสะสมหลายพันล้าน เงินฝากไหลออกอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาขาดความเชื่อมั่น  สินเชื่อปล่อยไม่ได้เลย"

            ดร.ครรชิต บอกว่า ในวันที่ตัดสินใจมารับตำแหน่งรักษาการผู้จัดการในวันนั้น มีความรู้สึกสองด้าน ด้านแรกคือ หนักใจมาก แต่ความรู้สึกที่สอง คือ เป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะมันไม่มีอะไรที่ยากกว่านี้แล้ว เชื่อว่าสถานการณ์แบงก์ ถึงจุดต่ำสุดแล้ว

            " จากนั้นก็เดินหน้าประชุมทีมผู้บริหารที่จะร่วมลุยด้วยกัน เราวางแผน และเริ่มทำงานกัน โดยภารกิจแรกที่ต้องทำคือ 1. แก้ไขหนี้เสียก่อน ภารกิจที่ 2 คือ เพิ่มสภาพคล่องให้กลับมาอยู่ในสภาวะที่ปกติ ภารกิจที่ 3  ต้องเรียกความเชื่อมันกลับมา เมื่อความเชื่อมั่นกลับมาจะส่งผลต่อเรื่องเงินฝาก ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น และสุดท้ายคือ เรื่องการแก้ไขกองทุนติดลบ "

            ดร.ครรชิต ย้อนการทำงานให้ฟังว่า ในวันนั้นได้ปรับวิธีการทำงานใหม่ สร้างความเชื่อมั่น และ แก้ปัญหาเงินกองทุน เรามีการปรับวิธีการดำเนินใหม่ จากเดิมที่มีการประชุมบอร์ดแก้หนี้ (บอร์ดทีดีอาร์) เดือนละครั้ง จัดมาเป็นมีทุกอาทิตย์ เรียกลูกค้าที่มีปัญหาหนี้มาคุยกัน ว่าความสามารถในการชำระหนี้จ่ายได้เท่าไหร่ โดยการเรียกมาวันละ 2-3 ราย

            จนกระทั่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 มีตัวเลขออกมาดีขึ้น แก้หนี้ได้ประมาณ 2 หมื่นล้าน  ขณะที่ กระทรวงการคลัง ตั้งเป้าไว้ให้ 6.5 พันล้าน แต่เราทำได้ 2 หมื่นล้าน ซึ่งได้อนุมัติไป 3 หมื่นล้าน แต่พอเอาเข้าจริง อีกหมื่นล้านเราทำไม่ได้ ปัจจัยมาจาก ลูกค้ายังไม่ชำระ ขอปรับเงื่อนไขและยังไม่พร้อมที่จะลงนามสัญญา ทำให้แก้หนี้ที่จบได้จริงๆ แค่ 2 หมื่นล้านบาท จึงยกยอดมาปี 57

            ณ วันนั้น ธนาคารฯ มีเงินสำรองตีกลับเข้ามาหมื่นล้าน หักกับขาดทุนของเดิม ส่วนที่ 2 แบงก์ช่วงตอนนั้นรัน ตอนนั้นแบงก์ มีรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไรอยู่ประมาณ 700 ล้านบาท หักล้างกับส่วนสำรองสุทธิปลายปีประมาณ 2.7 ร้อยล้าน ซึ่งใน 2.7 พันล้าน เป็นเงินสดอยู่ประมาณ 700 พันล้าน ส่วนอีก 2,000 พัน ล้าน เป็นตัวเลขเฉยๆ ทำให้สภาพคล่องจากเคยเลวร้ายที่สุดคือ 6,900 พันล้าน มาแตะที่ประมาณ 2.1 พันล้าน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ทำให้ความเชื่อเริ่มกลับมา รวมถึงเงินฝากก็กลับมาด้วย  โดย ณ สิ้นปีมีเงินเงินฝากและ สินเชื่อ กลับมาอยู่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท

             " สัญญาณนี้บอกว่า เรานั้นกำลังมาถูกทาง ทีมงาน และผู้บริหารทุกคน  เราพอใจ จะพ้นห้องไอซียู ออกมาเดินได้บ้าง แต่สภาพยังต้องพยุงอยู่ หนี้เสียจากปี 56  ถูกยกยอดมาปี 57 ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังเองก็พอใจ กับแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว"

            ดร.ครรชิต กล่าวถึงแผนในปี 57 ว่า แม้ว่าความเชื่อมั่นของลูกค้ากับเงินฝาก จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไตรมาสแรกมีปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่ได้ข้อยุติและไม่หยุดนิ่ง ทำให้ผู้ประกอบการณ์รายใหม่ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการณ์รายเดิม ชะลอการลงทุนชะลอการขยายธุรกิจ ลูกค้ามาขอสินเชื่อน้อยลง ทำให้สินเชื่อของไอแบงก์ใน 3 เดือนแรกไม่ได้ตามเป้า

            " เราตั้งเป้าปี 57 ไว้จากพอร์ตเดิมประมาณ 1.7 แสนล้านบาท โดยมาจากเงินฝาก และสินเชื่อ ซึ่งหากเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นตั้งเป้า 1.3 หมื่นล้านบาท ถือว่ายังเล็กอยู่มาก "

            ส่วนเรื่องการแก้หนี้ในปีนี้ จากยอดยกมา 3.3 หมื่นล้านบาท กำลังหาพิจารณา 2 แนวทาง คือ ทางแรก เราเข้าไปแก้เอง โดยธนาคารจะเข้าไปแก้เองสัก 1.3 หมื่นล้านบาท เหลือ 2.2 หมื่นล้านบาท

            ส่วนแนวทางที่สอง หมื่นล้าน เราแก้เองเหมือนเดิม แต่จะเอา อีก 1.2 หมื่นล้านบาท ไปให้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน หรือ ปรส. ให้จ้างบริหารจัดการ ถ้าแก้ได้หนี้จะหายไป 2.2 หมื่นล้าน จะเหลือปลายปีแค่หมื่นล้าน เหลือแค่ไม่ถึง 10 %  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ใกล้ได้ข้อยุติแล้ว

            รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลาม กล่าวถึงช่องทางในการหารายได้เพิ่ม ว่า เราเริ่มคุยกับทางบริษัท เพื่อเพิ่มรายได้ ในส่วนของด้านธรรมเนียม โดยกลุ่มแรก การชำระค่าสาธารณูปโภคโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเจรจากับค่ายมือถือ ทั้ง ทรู เอไอเอส ดีแทค ซี่งมีเข้ามาบ้างแล้ว น่าจะจบที่กลางปี

            กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มประกันชีวิต และวินาศภัย แม้ว้าที่ผ่านมาธนาคารอิสลามจะทำแล้วก็ตามแต่น้อยมาก โดยเราจะปัดฝุ่น และทำกันใหม่ ซึ่งจะมีกลุ่มประกันชีวิต 4 บริษัท และกลุ่มวินาศภัยอีก 4 บริษัท รวมเป็น 8 ทำสัญญาแต่งตั้งเราเป็นโบรกเกอร์ โดยธนาคารจะลงมาทำจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีเบี้ยประกัน 500 ล้านบาท

            กลุ่มที่ 3 คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ แม้ว่าที่ผ่านมา บริษัท อะมานะฮ์ลิสซิ่ง จะทำอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะจับตลาดรถมือสอง โดยเราจะเจาะตลาดกลุ่มพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นไปตามกฎชารีอะห์โดยตั้งเป้าปีแรกประมาณ 1 พันล้าน

            ส่วนกลุ่มที่ 4 จะเป็นบันไดที่จะก้าวเข้าไปข้างหน้าต่อ ไอแบงก์ ไปร่วมมือกับ ซีไอเอ็มบีไทย ในการบริการเงินโอนระหว่างประเทศ ซึ่ง ซีไอเอ็มบี มีโปรแกรมที่เรียกว่า "speed sent" ที่สามารถโอนเงินได้ทั่วโลก ซึ่งโปรแกรมนี้การโอนเงินจะถูกมาก เมื่อเทียบกับระบบมันนี่แกรม ทั้งนี้ในแง่กำไรอาจมีมาก แต่เราไปรองรับการเป็นผู้บริหารกองทุนศุกูก ให้กับหน่วยงานรัฐบาลที่คาดว่าจะออกในปี2558

            สำหรับในส่วนของศุกูกมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ ไอแบงก์ออกเองคาดว่าจะออกได้ทันในไตรมาสสี่ วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคลองของธนาคารอย่างเดียว โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ นักลงทุนรายย่อย กับนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเราพร้อมแล้ว เพียงรอตลาดอยู่ และต้องดูจังหวะเท่านั้น

            ส่วนกองทุนที่สอง คาดว่าต้องรอปีหน้า เพื่อเป็นการระดมทุนมาลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ตามนโยบายของรัฐ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง หากไม่ทำ เราจะตามสิงคโปร์ เวียดนาม พม่า หรือแม้เขมร ไม่ทัน

            " ปัจจุบัน อินโดนีเซีย ออกศุกูก ในนามประเทศ ไปพัฒนาประเทศตัวเอง แต่ยังเข้าเมืองไทยไม่ได้ เพราะเราไม่มีกองทุนรองรับ ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่รัฐจะใช้เป็นทางเลือกระหว่างประเทศได้ "

            ดร.ครรชิต ยังกล่าวถึงบทบาทของธนาคารอิสลามฯ ว่า แม้ ไอแบงก์ จะเป็น ธนาคารอิสลามิก ดำเนินธุรกรรมทางพาณิชย์ แต่อีกขาหนึ่ง คือการเป็นกลไกของรัฐ ในการนำนโยบายของรัฐเข้าสู่พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ทีมผู้บริหารทุกคน มีความเชื่อว่าเราเป็นธนาคารเดียวในประเทศ ที่มีความเหมาะสมที่จะเข้าสู่พื้นที่ของพี่น้องมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนมากกว่าธนาคารอื่น

            " เรารับนโยบายรัฐบาล ( รัฐบาลไหนก็ตาม) จะต้องมีการพัฒนา 5 จังหวัดชายแดน โดยในปีนี้ เรารับนโยบายในการดำเนินการ 10 โครงการโดยใช้งบ 500 ล้านบาทไปใช้ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะตั้งศูนย์บัญชาการที่หาดใหญ่ โดยจะมีศูนย์ย่อยประจำ 5 จังหวัด ( ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ สงขลา ) โดยเตรียมเจ้าหน้าที่ 90 คน เพื่อภารกิจหลักนี้ ซึ่ง 1 ใน 10 โครงการ คือการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารไทยในมาเลเซีย "

            ในฐานะธนาคารอิสลามฯ เป็นระบบการเงินทางเลือก ซึ่งสอดรับตามหลักศาสนาอิสลาม จึงได้จัดทำโครงการปล่อยสินเชื่อกับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่ออุตสาหกรรมฮาลาล  โดยธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โปรแกรมที่ชื่อว่า " เอสเอ็มอี ฮาลาล เทรดไฟแนล " ( SMEs Halal Trade Finance ) เพื่อให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ ทั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

            โดยโครงการนี้ได้ตั้งวงเงินไว้ 2,000 ล้านบาท เราสามารถให้สินเชื่อโดยขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยเน้นหนักเพื่อให้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือรองรับตลาดเวทีประชาคมอาเซียน( AEC ) เพื่อยกระกับผู้ประกอบการรองรับฮาลาลสู่ระดับโลก รองรับ AEC รองรับสู่ตลาดโลก ทั้งหมดเริ่มสตาร์ทตั้งเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเปิดตัวโครงการในเร็วๆนี้

            " ( SMEs Halal Trade Finance จะจับกลุ่มผู้ปรกอบการที่ต้องการเงินลงทุนตั้งแต่ 20 -200 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้จะเน้นขยายตลาดไปในกลุ่ม AEC หรือ เน้นนอกประเทศ หรือส่งไป สหภาพยุโรป(Eropean Union:EU ) แต้ถ้าผู้ประกอบการที่ต้องการเงินกู้ต่ำกว่า 20 ล้าน ก็จัดอยู่ในกลุ่มรายย่อย ก็สามารถกู้ได้อีกช่องทางหนึ่ง  ทั้งนี้ เพื่อเติมเต็มให้อุตสาหกรรมฮาลาลให้สมบูรณ์ สินเชื่อที่ปลอดจากระบบดอกเบี้ย"

             รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามฯ ยังได้ประเมินบทบาทของธนาคารอิสลามในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา  เมื่อมองย้อนกลับไป จะเห็นว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ คือจากเดิมเพื่อกลุ่มมุสลิม แต่หลังจากนั้น ผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิมก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร เราทำประชาสัมพันธ์ผ่านทางมวลชน ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น

            ในส่วนของรัฐบาลเองยอมรับว่าในอดีต อาจไม่เข้าใจว่าหลักชารีอะห์ หรือ อิสลามิกแบงก์คืออะไร ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) หรือ กระทรวงการคลัง เดินทางไปเรียนรู้ อิสลามิกไฟแนนซ์ ที่มาเลเซีย ตอนนี้มีการศึกษา และเข้าใจมากขึ้น  หรือ แม้กระทั่ง หน่วยงานศาลตุลาการ  ในกรณีคำฟ้องที่ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีสัญญากู้ยืม มีแต่สัญญาซื้อขาย ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งศาลจะไม่เข้าใจเลย ปัจจุบันธนาคารฯ ได้จัดคนไปให้ความรู้กับศาลตุลาการ จนเข้าใจมากขึ้นตามลำดับ

            ดร.ครรชิต ยังได้วิเคราะห์ โอกาสการขยายตัวของระบบการเงินอิสลาม ว่าตลาดโลกมีการตื่นตัวนานแล้ว ทั้งนี้จากข้อมูลยืนยันว่าในช่วงวิกฤติการเงินของโลกสถาบันการเงินในระบบอิสลามิกไฟแนนซ์ เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบ

            ทั้งนี้ตลาดการเงินในระบบอิสลามิกแบงก์ของตลาดโลก จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15% ต่อปี นับเป็นตลาดที่ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศมาเลเซีย เป็นศูนย์กลางของระบบการเงินอิสลามในภูมิภาคอาเซียน มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 60% จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ในการเลือกใช้บริการ ค่อนข้างที่จะมั่นคง .

 
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนเมษายน2557