Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จาก " ดุซงญอ - กรือเซะ"รอยอดีตปมลึกฝังใจชายแดนใต้

จาก " ดุซงญอ - กรือเซะ"รอยอดีตปมลึกฝังใจชายแดนใต้

โดย จันทร์เสี้ยว บางนรา

++++++++++++++++++

            ปฎิบัติการ 28 เมษายน อรุณรุ่งเมื่อปี 2547 จนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 10 ปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงเป็นคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ

            หากจะย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ในชายแดนใต้พบว่า ในห้วงเดือนเมษายนในอดีตกาล มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นหลายครั้ง นับจากเหตุการณ์ 28 เมษายน 2491 ซึ่งน่าสนใจยิ่ง ซึ่งเรียกกันว่า ”กบฎดุซงญอ”

            ในขณะนั้น โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.)ได้แผ่ขยายอิทธิพล และมีพฤติกรรมฮึกเหิมทั้งเรียกค่าคุ้มครอง เรียกค่าไถ่ ขโมยทรัพย์สิน และยึดที่ทำกินของคนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ผู้ใดถูกสงสัยว่าเป็นสายให้กับทางการไทย และนำข้อมูลออกนอกพื้นที่จะต้องถูกฆ่าตาย

            การกระทำของ จคม. ที่มีต่อพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะกรณีของชาวบ้าน ดูซงญอ (ปัจจุบัน ดูซงญอ เป็นตำบลหนึ่งอยู่ในอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส) ชาวบ้าน ดูซงญอ เรียกพวกนี้ว่า "จีนอมือลอ" การเข้ามาของ จคม.ในพื้นที่ทำความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอันมาก

            ชาวบ้านไม่รู้จะพึ่งใคร หันไปทางซ้ายก็พบ จคม. หันไปทางขวาเจอคนของรัฐ ที่มีแต่ข่มขู่-เอารัดเอาเปรียบ คอรัปชั่น ไม่ยอมทำความเข้าใจ และพูดกันคนละภาษา แต่งตัวก็ไม่เหมือนกับคนไทยทั่วไป 
            ทางออกที่น้อยนิดของประชาชนคือ เดินหน้าเพื่อพึ่งตนเอง

             ยุทธวิธีการต่อสู้ ถูกกำหนดเพื่อเอาชนะ " จีนอมือลอ "  ให้ได้ “ชาวดูซงญอ” ต้องเสาะแสวงหายุทธวิธีโบราณเช่นการอยู่ยงคงกระพันเช่น อาบน้ำมัน วิชาแคล้วลาด ความรู้ในเรื่องอำนาจเร้นลับ อาทิ การเสกเป่า คาถาให้ใบไม้กลายเป็นผึ้งหรือสัตว์ร้าย หรือ ให้เห็นคนนุ่งขาวห่มขาว หรือการให้เกิดมีเสียงน่ากลัวต่าง ๆ

            นอกจากนี้ยังมีการขอดุอาร์ และซิเกร (ขอพรและกล่าวรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า) นอกเหนือจากการปฏิบัติศาสนกิจปกติ โดย ชาวดูซงญอ ปฏิบัติกันทุกหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด ในค่ำคืนอันเงียบสงบ ตลอดจนยามดึกดื่นที่วังเวง เขาทั้งหลายต่างรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ และ อนุภาพอันมหาศาลของอัลเลาะห์

                "......ยา ซัล ญาลา ลิวัล อิครอม : อัลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่และทรงอานุภาพยิ่ง

                ยา ซัล ญาลา ลิวัล อิครอม : อัลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่และทรงอานุภาพยิ่ง....."

          เสียงขอพร ดังกระหึ่มในทุกค่ำคืนตามซอกหลืบแห่งเทือกเขาสันกาลาคีรี จากคำขอพรที่ได้ยินว่า ” ยาซัล ญาลา ถูกตีความหมายเป็น “ ยาลอ หรือ ยะลา เลยทึกทักว่า กำลังเรียกร้องแบ่งแยกยะลา ” และถูกคนของรัฐมองว่า ” พวกแขกกำลังปลุกกระดมให้ประชาชนรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล ” โดยมี โต๊ะแปรัก (Tok Perak) และผู้นำศาสนาหลายคนเป็นแกนนำ

            และแล้ว ปฏิบัติการปราบปราม ได้ปะทุขึ้น ณ สุเหร่าบ้านตือกอ (Surau Kampong Teko) บ้านดูซงญอ ในขณะที่ชาวบ้านกำลังละหมาด (ปฏิบัติศาสนกิจ) ช่วงเวลาก่อนอรุณรุ่ง (ละหมาดซุบฮิ)  เมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2491

             ปฏิบัติการในครั้งนั้น ผู้คนที่กำลังละหมาดถูกกระสุน ต้องสังเวยชีวิตทันทีหลายสิบคน โดยตัวเลขการสูญเสียชีวิตของชาวบ้านในครั้งนั้นประมาณ 400 คน ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ

            วันที่ 3 เม.ย. 2490  " หะยีสุหรง บิน อับดุลกาเคร์ มูฮัมมัด เอล ฟาโทนิ"  หรือ " หะยีสุหรง โต๊ะมีนา " ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ต่อ พล.ร.ต.หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (ในขณะนั้น) ประกอบด้วย  1.ให้แต่งตั้งคนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาปกครองกันเอง  2.ข้าราชการในพื้นที่ต้องเป็นคนมุสลิมเกิน 80% 3.ให้ใช้ภาษามลายู และภาษาไทยเป็นภาษาราชการ  4.ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในโรงเรียนระดับประถมศึกษา  5.ให้ใช้กฎหมายมุสลิม โดยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย  6. ภาษีทั้งปวงที่เก็บได้ในพื้นที่ ต้องนำมาใช้จ่ายในพื้นที่เท่านั้น และ 7.ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง

             แต่ข้อเรียกร้องของหะยีสุหรง ก็ถูกปฏิเสธ โดยในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้หะยีสุหรง โต๊ะมีนา พร้อมด้วย หะยีแวะ อุเซ็ง หะยีแวะ มามิน และ หะยีแวะ สะแมะ ถูกจับกุมในข้อหาเข้าข่ายเป็น การเตรียมการแบ่งแยกดินแดน อันเป็นการทำลายอธิปไตย และ บูรณภาพแห่งราชอาณาจักร หรือ "กบฏต่อแผ่นดิน"

            ต่อมาในปี 2497 หลังจากพ้นโทษจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน  หะยีสุหรง เดินทางกลับจังหวัดปัตตานี  แต่ได้หายสาบสูญพร้อมคนสนิทและลูกชาย คือ นายอาห์มัด โต๊ะมีนา ชาวบ้านปักใจเชื่อว่า หะยีสุหรง และคนอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่จับถ่วงน้ำที่ทะเลสาบสงขลาจนเสียชีวิตทั้งหมด และเชื่อว่าเป็นฝีมือของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น

            หากจะย้อนเวลาจากวันที่ 28 เมษายน 2547 กลับไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2491 นับเป็นเวลา 56 ปีบริบูรณ์  ซึ่งการลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้ในครั้งนี้เหมือนจะบอกนัยยะจากความทรงจำอะไรบางอย่าง

            28 เมษายน หรือ เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จึงนับเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ จนถึงทุกวันนี้

ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเมษายน 2557