Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ภูเก็ต ฮาลาลอันดามัน 2014

เปิดประตูภูเก็ต สู่เมืองธุรกิจฮาลาลอันดามัน

Phuket Andaman Halal for Tourism 2014 : PAHT 2014

โดย เอกราช มูเก็ม
 

            ปัจจุบันอุตสาหกรรมฮาลาลกับการท่องเที่ยว เริ่มเป็นที่รู้จัก ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็ได้พัฒนาความน่าเชื่อถือเรื่องฮาลาล สู่นานาชาติมากขึ้น 

            นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้ ขอนำท่านผู้อ่านรู้จักภูเก็ต ในอีกมุมมอง ผ่าน " สรธรรม จินดา "  รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานฝ่ายแผนงานและงบประมาณ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถึงบริบทการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อบทบาทความร่วมมือและสนับสนุนกิจการศาสนาอิสลาม

           สรธรรม เริ่มสนทนากับเรา โดยอธิบายภาพรวมของความเป็นเมืองภูเก็ต ว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวระดับโลกคุ้นเคย ซึ่งหมายความว่า ถ้านักท่องเที่ยวรู้จักประเทศไทย ก็ต้องรู้จักภูเก็ต ในฐานะเมืองท่องเที่ยวสำคัญของโลก

          " ในฐานะที่เราเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด จึงต้องมีหน้าที่ส่งเสริมอาชีพ และสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต " ไพบูลย์  อุปัติศฤงค์ " ท่านเป็นนักคิดและนักพัฒนา จึงมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดภูเก็ต อาทิเช่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว เราสนับสนุนเรื่องการทำโรดโชว์ เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเที่ยวภูเก็ต "

            นอกจากนั้นยังเป็นผู้สนับสนุนในการฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากรในทุกด้านของการท่องเที่ยว รวมถึงให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน  อบจ.ภูเก็ต จัดทำงบประมาณ เกี่ยวกับ ซีซี ทีวี. เพื่อความปลอดภัย ของประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการให้การอุดหนุนส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ทั้ง อบต. และเทศบาล อื่นๆด้วย

            ปัจจุบันเรามี 2 โปรเจ็คใหญ่ คือ การตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และโครงการ ไลฟ์การ์ด ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ จะดูแลชายหาด7 แห่ง 7 พื้นที่ ในภูเก็ต โดยเฉพาะพื้นที่มีนักท่องเที่ยว นี่คือภารกิจ ที่เห็นเป็นรูปธรรม

           " ภูเก็ตมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์กว่า 3 แสนคน แต่ในสภาพความเป็นจริงภายใน 1 วัน จะมีผู้คนอาศัยอยู่ในภูเก็ตมากถึง7 แสน – 1 ล้านคน ซึ่งแล้วแต่เทศกาล ฉะนั้นประชากรแฝงที่อยู่ในภูเก็ต จึงเป็นอีกภาระของ อบจ. ที่จะต้องดูแลเช่นกัน " สรธรรม กล่าวและว่า

            ขณะเดียวกัน ภูเก็ตยังเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เป็นลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวมุสลิมจากกลุ่มประเทศอาเซียน หรือประเทศอื่นๆรวมถึงนักท่องเที่ยวในแถบยุโรป และจากโลกมุสลิม

            หนึ่งในโครงการที่ อบจ.เข้าไปสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวผนวกกับองค์กรศาสนาอิสลามคือโครงการจัดงาน ภูเก็ตอันดามันฮาลาล เพื่อการท่องเที่ยว (Phuket Andaman Halal for Tourism) ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่เราดำเนินมา

          " จังหวัดภูเก็ต มีมุสลิมประมาณ 9 หมื่นคน คิดเป็นสัดส่วนประชากรกว่า 20 % ของจังหวัด มีมัสยิดที่จดทะเบียนถูกต้อง 54 แห่ง มีชุมชนมุสลิมกระจายไปทั่วเกาะภูเก็ต ในจำนวนนี้มุสลิมดั้งเดิมราว 90 % ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อาทิเช่น ร้านอาหาร หรือภาคบริการ ซึ่งล้วนเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว"

            ฉะนั้นในบทบาทของมุสลิมกับการท่องเที่ยว มีส่วนเกี่ยวข้องที่ชัดเจน อยู่ที่ว่า แต่ละคนเข้ามีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องแตกต่างกันไป

            ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็น รองนายก อบจ.และเป็นคนภูเก็ต เขามองการเติบโตของนักท่องเที่ยวตลาดมุสลิม ว่า แม้จะไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่จะเห็นได้ว่ามัสยิดในภูเก็ต เริ่มมีนักท่องเที่ยวที่เป็นมุสลิม แวะเข้าไปละหมาด และร่วมบริจาค สะท้อนให้เห็นว่า มัสยิดแต่ละชุมชน เริ่มจะมีความสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

            "  ปัจจุบันจะเห็นว่า ร้านอาหารที่เป็นมุสลิม มีการแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามารับประทานอาหาร ขณะที่ร้านอาหารมุสลิมเริ่มเปิดตัวและเปิดให้บริการมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวเอง ก็ถามหาร้านอาหารฮาลาล มากขึ้นเช่นกัน"

            ในอดีต งาน ภูเก็ตฮาลาลอันดามัน จะเน้นเรื่องการสืบสานวัฒนธรรม แต่ 3 ปีที่ผ่านมา เราโฟกัสเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยใช้คำว่า “ ภูเก็ตอันดามัน ฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว ” Phuket Andaman Halal for Tourism  นั่นหมายความว่า เพื่อต้องการที่จะให้ผู้แทนองค์กรฮาลาล เอเจนซี่ จากต่างประเทศ หรือ องค์กรภาครัฐ ทั้งในและต่างประเทศ ได้มาสัมผัสและเห็นวิถีชีวิตของคนภูเก็ต เพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น

            อีกทั้งจะสะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ต มีความพร้อมในด้านต่างๆไม่แพ้ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการให้ความสะดวกสบายกับนักท่องเที่ยว ในสไตล์ความเป็นมุสลิม มีอาหารฮาลาล ทั้งในจังหวัดภูเก็ต รวมไปถึง พังงา กระบี่ ด้วย 

             สำหรับนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่กังวลเรื่องที่พักความเป็นส่วนตัว อาทิเช่น นักท่องเที่ยวในกลุ่มของประเทศอาหรับ (เป็นครอบครัว) อยากมีความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิงมุสลิม ภูเก็ตเรามีห้องส่วนตัว 3,000 - 4,000 ห้อง หมายความว่า เมื่อคุณเข้าไปข้างใน คุณสามารถใช้สระน้ำ ห้องน้ำส่วนตัวได้ โดยที่คนภายนอกไม่สามารถเข้าไปได้ ซึ่งปัจจุบันมีทุกหาด ตั้งแต่ หาดในยาง หาดไม้ขาว อ่าวบางเทา หาดสุรินทร์ ป่าตอง หาดกมลา กะตะ กะรน แม้แต่ด้านฝั่งตะวันออก คือ ป่าคลอก หาดยามู อ่าวมะขาม อ่าวปอ รวมถึงเกาะยาว จังหวัดกระบี่

             สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เรื่องราคาไม่ใช่ปัญหา ที่ผ่านมาเพียงแต่เรายังขาดการประชาสัมพันธ์ในส่วนกลุ่มของประเทศโลกมุสลิม อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะ ททท. หรือ สมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยังไม่ให้ความสำคัญกับตลาดกลุ่มนี้

           " นักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม ที่มาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  90% จะมุ่งหน้าไปสู่ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย มาเมืองไทยแค่ 10 %  งาน ภูเก็ตอันดามัน ฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว จึงต้องสร้างกระแสการรับรู้ถึงประเทศเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ” สรธรรม ย้ำด้วยท่าที่ที่จริงจัง

            สำหรับงาน " ภูเก็ตอันดามัน ฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว”  ( Phuket Andaman Halal for Tourism 2014 : PAHT 2014 ) จะมี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การสัมมนาเชิงวิชาการ เชิญตัวแทนจากต่างประเทศ และบุคคลสำคัญต่างๆจากกรุงเทพฯ  ณ ภูเก็ต เกรซแลนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา (ป่าตอง) ส่วนที่ 2 เป็นการจัดงานเอ็กซ์โป บริเวณสะพานหิน มีการนำสินค้าฮาลาลจากภูเก็ต และจังหวัดอื่นๆรวมถึงจากประเทศมาเลเซีย มาจัดงานแสดงสินค้าด้วย

            " กิจกรรม จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 -31 พฤษภาคม 2557  วันแรก จะเป็นการเลี้ยงต้อนรับคณะที่มาร่วมสัมมนาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงแขกผู้ใหญ่และตัวแทนจากกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย วันที่สอง เป็นการสัมมนา มีทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย วันที่สาม เป็นการศึกษาดูงานของผู้เข้าร่วมสัมมนา พาไปชม วิถีชุมชนมุสลิมในจังหวัดภูเก็ต ล่องเรือไปอ่าวพังงา อ่าวนาง จังหวัดกระบี่  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้สัมผัสกับวิถีมุสลิมอันดามัน จากนั้นจะกลับมาร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมเอ็กซ์โป อาหารฮาลาล ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30-31พ.ค. บริเวณการจัดแสดงสินค้าที่ สะพานหิน "

            สรธรรม บอกว่า การจัดงาน ภูเก็ตอันดามัน ฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว จะเป็นการสร้างสัญลักษณ์เพื่อส่งสัญญาณไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นมุสลิม และผู้ใหญ่ในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นระดับภาค ระดับกระทรวง ควรจะหันมาสนใจ นักท่องเที่ยวตลาดกลุ่มมุสลิมมากขึ้น

            อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า อบจ.ภูเก็ต ได้ทำหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนมุสลิม หรือ องค์กรศาสนาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การสนับสนุนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต ในเรื่องของการเรียนการสอนศาสนาภายในมัสยิด โครงการอุดหนุนการเรียนการสอนในโรงเรียนสามัญ  โครงการอบรมจริยธรรมอิสลาม โดยร่วมกับองค์กรส่งเสริมจริยธรรมภูเก็ต โดยสำนักจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการจังหวัด

            โครงการสุนัตหมู่  โครงการการอบรมผู้ประกอบการฮาลาล  โครงการพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม และโครงการอบรมสตรีมุสลิมภูเก็ต ตลอดจนโครงการอำนวยความสะดวกให้ผู้แสวงบุญเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

            นอกจากนี้ยังใช้งบประมาณในการสร้างศูนย์อบรมจริยธรรมปีละ1-2 แห่ง ใช้งบแห่งละ 3-7 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีจะใช้งบสนับสนุนชุมชน และองค์กรศาสนาเกือบ 20 ล้านบาท ในจัดสรรลงไปโดยตรง ซึ่งในจำนวนนี้ ยังไม่รวมการจัดสรรที่เป็นโครงการเสริม หรือ ทางอ้อมอีกจำนวนมาก.

: ตีพิมพืครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับพฤษภาคม 2557