Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /    รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กับบทบาทประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

" ดร.อิศรา ศานติศาสน์ " สสม.สะพานเชื่อมสู่สังคมมุสลิม

โดย วรัญญา พุ่มเพ็ชร

++++++++++++++++++++++++++

           สัมภาษณ์พิเศษ : มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย  หรือ สสม. เป็นองค์กรภาคเอกชน ที่เริ่มมีบทบาทในสังคม โดยเฉพาะการเติมเต็มสังคมที่ขาดการดูแล หรือโครงการของรัฐที่ไปไม่ถึง สสม.วันนี้กำลังย่างก้าวสู่ปีที่ 11 กับ บทบาทที่กำลังถึงยุคเปลี่ยนผ่าน


              รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทยกล่าวถึงการก่อตั้ง มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) เป็น องค์กรของสังคมมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ ด้วยเจตนาที่ต้องการสร้างเสริมสุขภาวะในสังคมมุสลิมให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

             ปัจจุบันจำนวนประชากรมุสลิมทั่วประเทศที่มีประมาณ 6.5 ล้านคน แต่ด้วยความเป็นกลุ่มประชากรที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการ แม้ปัญหาสุขภาวะส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างไปจากคนไทยทั่วไปนัก แต่หลายปัญหาเป็นปัญหาเฉพาะ เช่น ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข (การขาดสารอาหาร ยารักษาโรค) ปัญหาเรื่องความยากจน และอื่นๆ 

             “ ปัญหาคือ รัฐเข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าใจ ดังนั้น สสม,จะทำหน้าที่ นำโครงการเหล่านี้ไปให้ถึงพี่น้องเหล่านั้น  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เราต้องใช้ความเข้าใจเฉพาะด้าน รวมไปถึงการพัฒนากระบวนการให้เข้าถึงสังคมมุสลิมมากขึ้น ”

            รศ.ดร.อิศรา กล่าวว่า หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการ BiotechEconomics ดูแลเรื่องต้นทุนเศรษฐศาสตร์ของโครงการรัฐ ได้เห็นการนำเสนอโครงการพัฒนาที่รัฐให้การสนับสนุนประมาณ 300-400 โครงการ ในจำนวนนี้โครงการของมุสลิม 2-4 โครงการ อีกทั้งเป็นโครงการขนาดเล็กทั้งหมด

            ในฐานะที่มุสลิมเป็นพลเมืองไทย มีหน้าที่จ่ายภาษี แต่กลับพบว่าได้รับงบสนับสนุนในการพัฒนาน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขของคนมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอัตราการยากจนสูงมาก รายได้ต่อหัวน้อยกว่าทุกภาค ขณะเดียวกันโครงการต่างๆของรัฐ ไปไม่ถึงพี่น้องมุสลิม ผมมองว่าต้องมีคนช่วยหาโครงการ หรือ งบประมาณให้

            " ผมมองว่า สสม. ต้องทำหน้าที่เป็นองค์กร นำงบประมาณในการพัฒนาของรัฐ ไปดูแลสังคมมุสลิม นั่นคือเป้าหมายหลัก ขณะเดียวกัน สสม. ก็ทำงานคู่ขนาน กับ ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม โดยทำหน้าที่ดึงนักวิชาการเก่งๆ เข้ามาช่วยกันในการมาพัฒนา "

            นักวิชาการมุสลิมเก่ง ๆ หลายคนเข้ามาช่วย อาทิเช่น รองศาสตราจารย์ เสาวนีย์ จิตหมวด ร่วมคิด ร่วมจัดทำ และผลักดันนโยบายโลกมุสลิมของรัฐ เพื่อให้ออกมาจากมุสลิมอย่างแท้จริง มาจากคนที่เข้าใจปัญหาของพี่น้องมุสลิม ทั้งนี้ที่ผ่านมา มีนโยบายจำนวนมากที่ทำพยายามตอบสนองมุสลิม แต่รัฐอาจไม่มีข้อมูล หรือไม่มีทางเลือก จึงไม่ตอบสนองอย่างจริงจัง

           " สสม. ทำงานในเชิงมวลชน เอางบประมาณที่รัฐจัดเก็บได้ ไปให้พี่น้องมุสลิม ส่วน ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม มีหน้าที่ทำวิจัย ทำในเชิงนโยบาย นำผลวิจัยไปบอกรัฐว่า อะไรคือปัญหา ทางแก้คืออะไร เพื่อนำความสุขไปให้พี่น้องมุสลิม  ที่ผ่านมา ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำวิจัยวางนโยบายให้รัฐหลายชิ้น เช่น ร่าง พรบ. เปิดเสรีการเงินอิสลาม การผลักดันอาหรับโซนในกรุงเทพมหานคร และอื่นๆ”

            ทั้งนี้การทำงานของ สสม. เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเข้าไปในสังคมมุสลิม โดยวางยุทธศาสตร์สำคัญไว้ 4 ขั้นตอนคือ
4

            ระยะเริ่มต้น (เฟส 1)  เราผลักดันในเรื่องการสร้างศักยภาพในการพัฒนาโครงการ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำเงินจากภาครัฐมาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมชุมชน โดยมองว่า การพัฒนาพื้นที่ต้องรู้จักคิด รู้จักนำเสนอหรือเขียนโครงการ คิดงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการเป็นระบบ ใช้หลักการของศาสนาอิสลามเข้ามารณรงค์ต้านบุหรี่ผ่านคุตบะฮ์วันศุกร์ ร่วมงานกับสำนักจุฬาราชมนตรีในการฟัตวาบุหรี่ว่าเป็นฮาราม พัฒนาชุมชนต้นแบบ และทำงานกับสื่อมุสลิม ความสำเร็จสำคัญคือการผลักดันให้การทำสุนัตของมุสลิมไทยทุกคน ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากภาครัฐจนถึงปัจจุบัน

            ระยะที่สอง ( เฟส 2) เราเน้นการพัฒนาคน พัฒนาการเป็นผู้นำ เรื่องของคน ปัจจุบันเรามีผู้นำชุมชนแล้วในกว่า 150 ชุมชน จากชุมชนในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 3,000 ชุมชน หรือ เราสามารถเข้าไปสร้างผู้นำชุมชนได้แล้วเกือบ 5% กระจายไปทุกภาคของประเทศโดยมีเครือข่ายมากกว่า 1,500 คน      

           ในระยะนี้เราเริ่มผลักดัน ร่าง พรบ. ส่งเสริมกองทุนซะกาต  ซึ่งเป็นหลักคิดเฉพาะของสังคมมุสลิม ที่อยู่นอกเหนือนโยบายของ สสส.

            ระยะที่ สาม (เฟส 3) เน้นการสร้างปัจจัยเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านคน คือผู้นำชุมชนทั้งชายและหญิง มัสยิดที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ปลอดบุหรี่ มีห้องน้ำคนชรา และแตกหน่อชุมชนรักสุขภาวะจากชุมชนต้นแบบที่มีอยู่ประมาณ 10 กว่าชุมชน ให้เป็นหัวเชื้อของการพัฒนาต่อไป   

           ส่วน ในระยะที่สี่ (เฟส4) เน้นการทำงานต้านบุหรี่และสิ่งมึนเมาต่าง ๆ ผ่านโครงการลาคอมรฺ การสร้างมัสยิดครบวงจรให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของชุมชน

           นอกจากสุนัตฟรีปีละ 2,000 คนที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สปสช. แล้ว สสม.ยังมีงานอื่นอีกหลายงานที่ไม่เกี่ยวกับ สสส. เช่น การผลักดันทุนเรียนเศรษฐศาสตร์ให้กับเยาวชนสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุนการศึกษาระดับประถม มัธยม อาชีวะ และมหาวิทยาลัย ของสสม. เองปีละกว่า 20 ทุน

            รศ.ดร.อิศรา บอกว่า สิ่งที่ทำงานมากว่า10 ปี ในวันนี้ เราประเมินพัฒนาการ และความต้องการของชุมชนต่อ สสม. ว่าจากนี้ไป สสม. จะต้องเป็นองค์กรของมวลชนอย่างแท้จริง ล่าสุดด้วยความเมตตาของอัลเลาะห์ (ซบ.) มีผู้บริจาคที่ดิน ในจังหวัดลำพูน  และกรุงเทพฯ ในเขตร่มเกล้า ซึ่งเราจะสร้างศูนย์ฝึกอบรม และสำนักงานใหญ่ของ สสม.

            ทั้งนี้วัฎจักรของสังคมหมุนไป เมื่อมีคนรุ่นเก่า ย่อมต้องมีคนรุ่นใหม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ในระยะยาวองค์กรก็ต้องโตด้วยตัวของมันเอง

            " สสม. ต้องพัฒนาตัวเอง ทำงานในนามองค์กร เชิงมูลนิธิ จากเดิม อยู่ในสังกัด คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเป็นมูลนิธิฯ ต้องเลิกหาเงินด้วยการขอ เราต้องการยืนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องของบจากรัฐบาล หรือ สสส." รศ.ดร.อิศรากล่าวและว่า

            คาดว่า ในอนาคตอันใกล้ สสม. ต้องเข้าสู่ยุคผลัดใบ เนื่องจากผู้บริหารหลายคนอายุมากแล้ว ดังนั้นการทำงานต้องมีคนใหม่ขึ้นมา แทน ซึ่งนั่นหมายถึง ระยะที่ 5 ที่เรากำลังวางแผน จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อดุแลศูนย์ภาคต่างๆ ภายใต้ร่มของ สสม.

 

///////////////////////////////////////////

 People Focus/ นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเมษา 2557