Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   'อะมานะฮ์'สร้างฐานธุรกิจตัวแทน รุกตลาดมุสลิม

"อะมานะฮ์"สร้างฐานธุรกิจตัวแทน รุกตลาดชุมชนมุสลิม ปั้นแบรนด์สู่ตลาดโลก

โดย กองบรรณาธิการ

//////////////////////////////////

            จากนี้จะไปเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของ " อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง " ในอดีตดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถยนต์ และทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ 

            วันนี้เรามาถอดรหัสความคิดของ " คุณธงรบ ด่านอำไพ " กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลิสซิ่งที่ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักชะรีอะฮ์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง แตกต่างจากลิสซิ่งอื่นอย่างไร

          นับตั้งแต่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง  ในสัดส่วนร้อยละ 49  ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา  บริษัทฯ ได้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีนโยบายในการประกอบธุรกิจที่ชัดเจน คือ จะไม่ประกอบธุรกิจหรือให้สินเชื่อกับผู้ที่ประกอบธุรกิจที่ผิดต่อหลักชะรีอะฮ์ ประเภทของธุรกิจที่ผิดต่อหลักชะรีอะฮ์ เช่น ธุรกิจผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากเนื้อสุกร เป็นต้น

            " บริษัท อะมานะฮ์ ฯ ไม่เหมือนกับลิสซิ่งทั่วไป ตรงที่เราทำธุรกิจตามหลักชะรีอะฮ์ การตกลงราคาซื้อขาย มีการผ่อนชำระราคา บวกผลกำไร จะมีการกำหนดราคาแน่นอน โดยยึดหลักการทำงานสำคัญคือ การไม่เอาเปรียบลูกค้า "

            คุณธงรบ กล่าวว่า บริษัท อะมานะฮ์ฯ เป็นสถาบันทางการเงินที่ดำเนินการตามหลักชะรีอะฮ์นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการในเรื่องของการซื้อ-ขายรถยนต์แล้ว เรายังเล็งเห็นที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคม และหันมาเติมเต็มในเรื่องของการยกระดับคุณภาพของชีวิตในสังคมมุสลิม หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการเข้าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้มากขึ้น จึงนำมาสู่การดีไซน์ธุรกิจใหม่ๆ ของเรา เพื่อตอบสนองความต้องการ และเจาะตลาดกลุ่มมุสลิมโดยเฉพาะ

  จากธุรกิจลิสซิ่ง สู่ Amanah Express

            คุณธงรบ อธิบายถึง การเข้าถึงโครงสร้างชุมชนมุสลิมว่า พี่น้องชาวมุสลิมทั่วไปอาศัยกระจายอยู่ทั่ว 39 จังหวัดในประเทศไทย ปัจจุบันมีมัสยิดที่จดทะเบียนแล้ว 3,700 กว่ามัสยิด และไม่ได้จดทะเบียนอีกมากกว่า 7,000 มัสยิด หรือ รวมกันมากกว่าหมื่นมัสยิด โดยมีชุมชนหลายขนาด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งอิหม่ามเป็นผู้นำชุมชน ที่มีรูปแบบวัฒนธรรมเหมือนกันทั่วโลก

            จึงเป็นแนวคิด ที่จะต้องสร้างฐานการตลาดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมุสลิม ที่กำหนดให้ทุกมัสยิดเป็นศูนย์กลางทางข้อมูล และการตลาดในชุมชนของตนเอง อะมานะฮ์จึงกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด รูปแบบใหม่เข้าไปให้บริการกับกลุ่มลูกค้าชาวมุสลิมทั่วประเทศ โดยผ่าน  อะมานะฮ์ เอ็กเพรส เข้าไปประสานงานกับผู้นำมุสลิมแต่ละมัสยิด จัดเก็บข้อมูลจากทุกชุมชน นำมาเป็นข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจและวิจัยความต้องการของชุมชน ซึ่งแต่ละมัสยิดจะคัดเลือกสัปบุรุษ (ชาวบ้านในชุมชนมุสลิม) ที่เชื่อถือได้ เป็นผู้ดูแลลูกค้าแทน อะมานะฮ์ ในแต่ละชุมชน เพื่อดำเนินธุรกิจชุมชน โดยมีรูปแบบการเงินสนับสนุน แบบอิสลามิคไฟแนนซ์เชียล 100 %

            " เราจะดูแลชุมชนผ่าน อะมานะฮ์ เอ็กเพรส เป็นการช่วยเหลือตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่สินค้า อุปโภคบริโภค สินค้าในชีวิตประจำวัน "

            ผู้บริหารอะมานะฮ์ฯ มองถึงช่องทางและโอกาสด้านการตลาดว่า ประชากรมุสลิมในประเทศไทยประมาณ 8-10 ล้านคน  มีความต้องการบริโภค โดยจะมีตัวแทนอะมานะฮ์เข้าไปให้บริการสินค้าอุปโภค บริโภค ในราคาที่ยุติธรรม และจะทำให้ราคาถูกกว่าการเดินไปซื้อในห้าง เนื่องจากเราลดขั้นตอนค่าการตลาดที่แฝงอยู่ในธุรกิจประมาณ 30% จะทำให้ลูกค้าบริโภคสินค้าราคาถูก ที่ผ่านการกลั่นกรองว่า เป็นสินค้ามีมาตรฐานฮาลาล100% และมีระบบการเงินรองรับที่ถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์

            " ขณะนี้เรากำลังรวบรวมสินค้า และประสานงานกับนักธุรกิจมุสลิมจำนวนมากเพื่อจัดระบบ  การส่งมอบผลิตภัณฑ์สินค้า และบริการให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งสำคัญ  ในการปรับทิศทางธุรกิจให้ตรงกับเป้าหมายความต้องการของสังคมมุสลิม

ผนึกผู้นำองค์กรศาสนา-ผู้นำชุมชน คาด ปี 2558 เปิดครบทุกมัสยิดทั่วประเทศ
            เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารอะมานะฮ์ ฯเข้าพบ ท่านจุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล  นายอรุณ บุญชม ประธานคณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร พร้อมประชุมสัมมนาร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามฯทั้ง 39 จังหวัด เพื่อปรึกษาและวางแผน เตรียมประสานงานดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

            นอกจากนี้เราส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ และเริ่มคัดเลือกสัปบุรุษที่เชื่อถือได้เป็นตัวแทน ถือเป็นหุ้นส่วนของ อะมานะฮ์  ทั้งนี้ เราจะเปิดบริการนำร่องสาขาแรกในชุมชน ที่มัสยิดบ้านดอน กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายน นี้

          " เรากำลังเร่งดำเนินการในเรื่องของโปรแกรมที่จะเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งจะเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบในเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 นี้ คาดว่าจะสามารถ เลือกชุมชนที่มีความพร้อมก่อนประมาณ 1,000-1,500 มัสยิด และคาดว่าภายในปี 2558  เรามีตัวแทน อะมานะฮ์   เอ็กเพรส ครอบคลุม10,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งในวันนั้นจะทำให้เราเป็นบริษัทที่มีฐานข้อมูลมากที่สุดในประเทศไทย "

            คุณธงรบ อธิบายถึงขั้นตอนการเข้าไปสู่ชุมชนของ อะมานะฮ์ เอ็กเพรส ว่า หลังจากที่เราได้ข้อมูลและทางตัวแทนมัสยิดคัดเลือกสัปบุรุษมาเป็นตัวแทน อะมานะฮ์ เอ็กเพรสแล้ว  เขาจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้บริการสินค้า และให้คำปรึกษาด้านการเงินกับคนในชุมชน ซึ่งแน่นอน เป็นธุรกิจที่ต้องมีความคุ้มค่ากับผู้ที่จะเป็นตัวแทน 

            โดยตัวแทน อะมานะฮ์ เอ็กเพรส จะมีรายได้จากผลกำไร จากการทำนิติกรรมซื้อขายระหว่างคนในชุมชนกับผู้ขายสินค้า หรือผู้รับซื้อสินค้าจากชุมชน ซึ่งเราไม่ได้หวังผลแต่เรื่องธุรกิจเท่านั้น ตัวแทนของอะมานะฮ์ เอ็กเพรส จะมีส่วนร่วมกับชุมชน จะแบ่งผลกำไร ออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่หนึ่ง จะนำเงินไปดูแลมัสยิด เพื่อนำไปบำรุงศาสนสถานในชุมชน

             ส่วนที่สอง เป็นรายได้ของตัวแทน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจในการทำงานของตัวแทน และส่วนสุดท้าย รายได้อันเกิดจากการบริการของตัวแทน อะมานะฮ์ เอ็กเพรส จะถูกจัดเป็นกองทุนซะกาต 2.5 % กลับคืนสู่ชุมชน

            " ตัวแทนจะเปรียบเสมือน ผู้ดูแลชุมชน ดังนั้นรูปแบบธุรกิจนี้ เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่จะสอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิมที่เป็นอยู่แล้วทั่วโลก ซึ่งตรงกับหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามอย่างลงตัวพอดี"

  พร้อมรุกรองรับการตลาด AEC

            คุณธงรบ กล่าวถึง เข็มทิศของธุรกิจว่า ขณะนี้บริษัท อะมานะฮ์ฯ มีความชัดเจน ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจในระบบชะรีอะฮ์ และพัฒนาระบบการบริหารงานอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาด้านงานบริหาร ปรับปรุงองค์กร ตลอดจนพัฒนาบุคลากร ให้มีความเข้าใจระบบชะรีอะฮ์

            " เรากำลังเปลี่ยนแปลง จากธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์ สู่การทำตลาดระดับโลกในสินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่รถยนต์เพียงอย่างเดียว โดยที่เรายังคงทำธุรกิจรถยนต์ต่อไปตามความถนัดของเราอยู่ ซึ่งนักธุรกิจมุสลิมเองก็ตื่นตัวกับยุทธศาสตร์ใหม่ หรือ ที่เราเรียกว่า ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมแห่งความมั่นคงและยั่งยืน สู่การพัฒนาบริษัทและเศรษฐกิจไทย อย่างยั่งยืน   โดยมุ่งเป้าไปยังชุมชนมุสลิมทั่วทั้งในประเทศ ซึ่งมีประชากรมุสลิม 8-10 ล้านคน และตลาดมุสลิมในภูมิภาคอาเซียนกว่า 300 ล้านคน รวมไปถึงตลาดมุสลิมโลกที่มีกว่า 1,600 ล้านคน "

            คุณธงรบ มองโอกาสตลาดในการก้าวสู่ เวที AEC ว่า การเปิดเวทีประชาคมอาเซียนในปี 2558 จะมีประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะเข้ามาทำการค้ากับประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะต้องการทำธุรกิจกับมุสลิม เขาต้องเข้ามาติดต่อกับเรา เพราะต่อไปเราจะมีข้อมูลพร้อมที่สุดอันเอื้อประโยชน์สำหรับ การตัดสินใจลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

            ขณะเดียวกัน ตัวแทนในชุมชนสามารถนำสินค้าในชุมชน(OTOP) คัดสินค้าเกรด A ของชุมชนมาขยายสู่ระดับประเทศ ได้โดยผ่าน " อะมานะฮ์ เอ็กเพรส " เพื่อกระจายไปตลาดอาเซียน และตลาดโลก  ภายใต้แบรนด์ “อะมานะฮ์ “ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือชุมชนได้อีกทางหนึ่งต่อไป

 เตรียมคลอด ศุกูก 2 พันล้าน รองรับการขยายตัวธุรกิจ

            เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของธุรกิจ ขณะนี้ อะมานะฮ์ ฯ เตรียมเพิ่มวงเงิน ด้วยการออก ศุกูก หรือตราสารระดมทุนในระบบอิสลาม วงเงิน 2 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งเราได้ที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคาร CIMB ไทยและมาเลเซีย มาเป็นที่ปรึกษาเรื่องระบบการเงินอิสลาม คาดว่าประมาณ 2 เดือน จะดำเนินการแล้วเสร็จ และคาดว่าจะเปิดขายศุกูกได้ภายในต้นปี 2558

                 " จากนี้ไป เราจะปรับตัวและขยายตัวจากธุรกิจลิสซิ่ง ด้วยการให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม ด้วยการเพิ่มการทำธุรกิจให้ทั่วถึงในทุกชุมชน  เพื่อเป็นการเข้าถึงพี่น้องมุสลิมตั้งแต่รากหญ้า เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายรายได้ เป็นการสร้างงาน รวมไปถึงสร้างความสุขให้กับพี่น้องในชุมชน พร้อมๆ กับ รีแบรนด์ใหม่ “ อะมานะฮ์ " เพื่อจะนำแบรนด์ อะมานะฮ์ สู่ตลาดโลก “ ธงรบ กล่าวและว่า

              ต่อไปนี้เราจะเป็นแบรนด์เด่นของมุสลิมภายใต้ " แบรนด์ อะมานะฮ์ "  จะมีนักธุรกิจมุสลิมชั้นนำ เข้ามาร่วมกับเรา เพื่อนำสินค้าเข้าสู่ตลาด ภายใต้แบรนด์ " อะมานะฮ์ " บนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจตามกรอบชะรีอะฮ์   ทั้งหมดจะออกสู่สายตาประชาชนเร็วๆ นี้  และจะเป็นรูปธรรมภายในปี 2558  เพื่อรองรับการเข้ามาของ AEC ได้ทันท่วงที ให้เป็นไปตามสโลแกน " สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความสุขให้กับชุมชน " และอะมานะฮ์คือวิถีชีวิตของมุสลิม และชุมชนทุกชุมชนคือ ชุมชนอะมานะฮ์ต่อไป.