Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จับตาที่ดินชายแดนเปลี่ยนมือคึกคักรับ AEC

“วานิตย์ อินทรักษ์” บนภารกิจ 114 ปี กรมทีดิน

จับตาที่ดินชายแดนเปลี่ยนมือคึกคักรับ AEC

++++++++++++++++++++++++++++++++++++
โดย เอกราช มูเก็ม



          กว่า 114 ปี ของการกำเนิดกรมที่ดิน  ซึ่งเริ่มก่อตั้งในสมัย รัชกาลที่ 5 เอกสารทีดินฉบับแรกออกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นก็เริมออกโฉนดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ภารกิจของกรมที่ดิน คือการออกเอกสารสิทธิ์ การออกโฉนดที่ดินถือครองเป็นเครื่องมือยึดมั่นในการถือครอง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ ประกันหนี้และสามารถจำนองกับสถาบันทางการเงินด้วย รวมถึงการจดทะเบียนสิทธิ และการทำนิติกรรมต่างๆ ในการซื้อขาย โอนหรือยกให้ เป็นการทำธุรกรรมที่กรมที่ดิน

            นี่คือภารกิจบางส่วนของกรมที่ดิน นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับนี้ เรามาทำความรู้จักและบทบาทของกรมที่ดินผ่าน “วานิตย์ อินทรักษ์” รองอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย

นอกจากกรมที่ดินจะทำหน้าที่ออกเอกสารสิทธิ์ และจดทะเบียนสิทธินิติกรรมที่ดินแล้ว การรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน ที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย ก็อยู่ในหน้าที่ของกรมที่ดินอีกด้วย

            อีกภารกิจหนึ่งคือ การจัดที่ดิน ของสำนักการจัดการที่ดินของรัฐ กรมที่ดินคอยดูแลที่ดินที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน และที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ทิ้งร้างว่างเปล่า มีประชาชนผู้บุกรุกไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะต้องผลักดันให้ออกไป

           “ เมื่อคนบุกรุกเข้ามาอยู่ แต่ไม่สามารถที่จะผลักดันหรือใช้วิธีทางกฎหมายได้ รัฐจึงต้องจัดที่ดินให้เขาอยู่ให้เป็นที่เป็นทางไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่ม เรียกว่า การจัดที่ดินให้คนจน โดยกรมที่ดินเข้าไปจัดให้อยู่เป็นสัดเป็นส่วน ”

            สำหรับผู้ที่เข้าไปครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ ก่อนปี 2546 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ก็จะจัดให้เข้าไปอยู่ ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเรียกว่า ให้สิทธิทำกิน ไม่ใช่ กรรมสิทธิ์ โดยการเช่า ในระยะเวลา 5 ปี เสียค่าตอบแทน โดยรัฐจะเข้าไปอำนวยความสะดวกให้ ทั้งถนนขุดท่อระบายน้ำให้มีแหล่งน้ำ หรือการจัดที่ดินเพื่อความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน กรมที่ดินก็จะเข้าไปจัดที่ดินทำกินให้ พร้อมถนนหนทางตามนโยบายของรัฐตลอดมา

            วานิตย์  บอกว่า ที่ผ่านมากรมที่ดินได้พยายามพัฒนาให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากร ระเบียบข้อบังคับและกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยกับประชาชน ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องเป็นธรรมทุกอย่างมีการปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินฉบับปี 2497 ซึ่งเป็นการเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 60 ของกรมที่ดิน ท่านอธิบดีกรมที่ดิน จึงดำริที่จะประมวลข้อกฎหมายต่างๆ กฎหมายไหนที่ไม่ได้ใช้ ทำให้ถูกต้อง ซึ่งต้องทำให้เหมาะสมกับเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ (คืนความสุขให้ประชาชนไป)

            ส่วนการพัฒนาด้านข้อมูล และแผนที่ต่างๆ ที่สลับซับซ้อนกันอยู่ เราก็มีการปรับปรุง โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาจัดให้เป็นหมวดหมู่ ข้อมูลการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศ หรือรูปแผนที่ รูปแปลงที่ดิน ในทางกายภาพทั้งหลาย เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบที่ดินว่า ที่ดินแปลงนี้มีชื่อเป็นของใคร ใครเป็นกรรมสิทธิ์  ซึ่งได้จัดจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการโดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555

            วานิตย์  บอกว่านอกจากนี้แล้ว ในด้านการจัดการรูปแผนที่ดินของรัฐ กรมที่ดินให้รับการไว้วางใจให้เป็นศูนย์รูปแปลงที่ดินแห่งชาติ คือเป็นศูนย์รวบรวมรูปแปลงที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมธนารักษ์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ฯลฯ ให้นำรูปแปลงที่ดินของรัฐทั้งหมดมารวมไว้ที่เดียว มาตราส่วนเดียวจะสะดวกต่อการจำแนกของเขตที่ดินของรัฐ และที่ดินเอกชนจะมีขอบเขตที่ขัดเจนขึ้น ลดข้อพิพาทให้หมดไป

            “ การจัดทำข้อมูลแผนที่ จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการได้ในทุกด้าน หากมองในรูปประเทศอาจเห็นภาพไม่ชัด แต่ในรูปของจังหวัดค่อนข้างชัดเจน ส่วนราชการในแต่ละจังหวัดมีมากข้อมูลต่างๆ หลากหลายต้องนำมาบูรณาการร่วมกัน โดยหัวหน้าส่วนราชการหากมีเครื่องมือนี้จะสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ดีทั้งในยามปกติและในยามฉุกเฉินได้ง่ายขึ้น”

            โครงการนี้เรากำลังพัฒนาและสามารถตอบโจทย์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องการ แต่เรายังขาดแคลนงบประมาณบางส่วน โดยเราเริ่มดำเนินการมา 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความคาดหวังจะพยายามทำให้สมบูรณ์ถูกต้องมากที่สุด โดยสามารถเรียกดูข้อมูลจากสำนักงานส่วนกลางได้ทันที ขณะนี้เราได้ดำเนินการไปประมาณ 50% แล้ว

              รองอธิบดีกรมที่ดิน ยังวิเคราะห์แนวโน้มของการพัฒนาที่ดินในประเทศไทย โดยระบุว่าพื้นที่ในบริเวณชายแดนทั่วประเทศ ขณะนี้มีการตื่นตัวมาก ทั้งนี้ผู้ประกอบการและนักลงทุนมองถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจรองรับการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามกรอบการพัฒนาความร่วมมือเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

           “ที่ดินบริเวณชายแดนเริ่มตื่นตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความเคลื่อนไหวตื่นตัว ทั้งการเก็งกำไร และการลงทุนจริงจัง มีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสูงขึ้น เพราะคาดหวังว่าจะทำธุรกิจแนวตะเข็บชายแดนรองรับ AEC”

            วานิตย์ ยังระบุว่าที่ดินที่มีน่าจับตามองมากที่สุด และดูแนวโน้มโอกาสการพัฒนามีหลายพื้นที่ อาทิเช่น อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก ที่กำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนเมืองชายแดนต่างๆ ก็มีการตื่นตัวเช่นกัน

ส่วนเมืองท่องเที่ยว เช่น หวัดภูเก็ต ราคาที่ดินพุ่งขึ้นสูงมาก ที่ดินทุกตารางนิ้วมีค่าหมด นอกจากนี้ยังมองว่าเมืองบริวารของการท่องเที่ยว ก็มีโอกาสเติบโต แม้อาจไม่ได้เติบโตในด้านเศรษฐกิจ แต่อาจเติบโตในลักษณะเมืองที่อยู่อาศัยมากกว่า

            สำหรับมูลค่าของที่ดินในส่วนของการประเมินราคาจังหวัดกรุงเทพมหานคร ยังคงมีราคาประเมินสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนสีลม สุขุมวิท หรือพื้นที่ที่อยู่ติดทางรถไฟฟ้า ต่างมีราคาสูงขึ้นตลอดรองลงมา ก็เป็นจังหวัดใหญ่ ๆ เช่นภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย

            รองอธิบดีกรมที่ดิน ยังกล่าวถึงนโยบายในการช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินของมัสยิด และกุโบร์ทั่วประเทศ ว่า แม้ว่าจะเป็นภารกิจของกรมที่ดินซึ่งมีหน้าที่ในการออกเอกสารสิทธิ์ต่างๆ แต่บางครั้งก็มีการตกหล่น ในเรื่องนิติบุคคลที่ไม่สามารถออกโฉนดได้ทันที ตัวอย่างเช่น ที่ดินของมัสยิด ก่อนจะมีการจัดตั้งมัสยิดมีองค์กรหรือบุคคลไปถือครองไว้ก่อน เช่นในนามโต๊ะครูหรืออิหม่าม พอถึงเวลาจะใช้ประโยชน์ก็ติดปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมการโอน หรือไม่เมื่อราคาที่ดินราคาสูงขึ้น ก็มีปัญหาในเรื่องของทายาทไม่ยินยอมเช่นกัน

          “กรมที่ดินเราตระหนักดีในเรื่องนี้ ไม่ว่าศาสนาไหน อิสลาม คริสต์ พุทธ กรมที่ดินพยายามเข้าไปพบปะผู้นำ แนะนำว่าหากมีที่ดินที่เป็นของศาสนสถาน กรมที่ดินจะเข้าไปดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งนอกจากเป็นการทำตามหน้าที่และภารกิจของกรมแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลอีกด้วย” วานิตย์ กล่าวและว่า
             สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินของมัสยิดทั่วประเทศเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดำเนินการโดยโดย มูลนิธิ ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี ร่วมกับกรมที่ดิน ได้แจกไปแล้ว 3-4 แปลง  ส่วนต่างจังหวัดกำลังดำเนินการอยู่ แม้ว่าต้องใช้เวลานาน แต่ต้องเร่งทำ ทั้งนี้หากพี่น้องชาวมุสลิมต้องการให้เราเข้าไปช่วยในเรื่องนี้ ให้แจ้งมาที่มูลนิธิต่วนฯ (หรือติดต่อคุณพีรพจน์ เมธาพงศ์บริบูรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานและผู้ประสานงานโครงการ 081- 9353880) เราจะส่งคนไปดู และจะเร่งดำเนินการทำให้ถูกต้องในเรื่องเอกสารสิทธิ์

               วานิตย์ บอกว่า ปัจจุบันกรมที่ดินสามารถจัดเก็บรายได้ส่งเข้ารัฐปีละประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือนับแสนล้านบาท/ปี นับเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถจัดเก็บรายได้เป็นอันดับต้นๆ แต่นั่นไม่ใช่รายได้ของกรมที่ดินทั้งหมด เพราะรายได้ที่จัดเก็บมาได้ เราต้องจัดส่งให้กับหน่วยงานอื่นๆ เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สรรพากร ซึ่งที่เป็นรายได้ของกรมที่ดินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ทั้งหมด

              รองอธิบดีกรมที่ดิน ยังฝากเตือนการการทำธุรกรรมจากเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เพราะปัจจุบันมีมิจฉาชีพที่สลับซับซ้อน ขอเตือนว่า อย่าเซ็นใบมอบอำนาจโดยที่ไม่ได้กรอกข้อความ อาจจะทำให้แปลเจตนารมณ์ผิด ต้องตรวจสอบให้ดี รวมไปถึงการซื้อขายที่ดิน ต้องมีเอกสารกำกับว่ามีกรรมสิทธิ์เท่านั้นถ้าสงสัยเรื่องที่ดินต่างๆ ให้ปรึกษาสำนักงานที่ดินในพื้นที่ได้ตลอด ทั้งนี้ที่ดินที่ถูกต้องต้องมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์เท่านั้น….

 
ตีพิมพ์ครั้งแรก; นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557