Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์

สัมภาษณ์พิเศษ :  “ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้นึกถึงเรา”
                               
                                  พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์

                               บนภารกิจปลัดกระทรวงยุติธรรม

โดย เอกราช มูเก็ม

++++++++++++++++++

                 เมื่อเอ่ยถึงกระทรวงยุติธรรม หลายคนคิดถึงศาลยุติธรรม แต่ใครจะรู้ว่าภารกิจของกระทรวงยุติธรรม จะทำงานสนับสนุนการทำงานศาลและอีกหลายภารกิจทำงานเพื่อช่วยเหลือเหยื่อจากอาชญากรรมและเหยื่อจากความไม่ยุติธรรมรวมถึงเหยื่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ด้วย

นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับต้อนรับศักราชใหม่ 2558 เรามาทำความรู้จักกระทรวงยุติธรรม ผ่าน” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ” ปลัดกระทรวงยุติธรรม

               “ ที่ผ่านมามีกรรมาธิการงบประมาณหลายท่านก็พูดถึงภารกิจหน้าที่ของศาลยุติธรรมเช่น ถามว่า คดีทำไมล่าช้า พิจารณาช้าต้องใช้เวลาเท่าไหร่หรือควรมีการกำหนดเวลา...ที่พูดมานี้ คือไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงยุติธรรมเลย แต่เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม..”

                 ผมยกตัวอย่างให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะประชาชน ยังเข้าใจบทบาทของกระทรวงยุติธรรมไม่ถูกต้อง ยังเข้าใจกันว่าเป็นศาลยุติธรรม...เราเริ่มสนทนาและเกริ่นถึงที่มาของความไขว้เขว การรับรู้ถึงภารกิจของกระทรวงยุติธรรม

                 พล.ต.อ.ชัชวาลย์ เล่าย้อนการเกิดขึ้นของกระทรวงยุติธรรมให้ฟังว่า ระบบศาลเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านทรงเห็นว่า ศาลมีหลายศาล มีหน้าที่การงานกระจัดกระจาย พระองค์ท่านได้มีการรวมศาลมาตั้งเป็นกระทรวง สถาปนาหรือก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ซึ่งในปีนี้จะครบ 124 ปี ของการสถาปนาก่อตั้งกระทรวงยุติธรรม

                  ในอดีต กระทรวงยุติธรรมที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นการมาจากการรวมศาล ฉะนั้นการบริหารงานในสมัยนั้นปลัดกระทรวงหรือบุคลากรจะมาจากศาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมามีแนวคิดว่าเรื่องของศาล น่าจะมีเป็นความอิสระ แต่ในเรื่องงานธุรการของศาลน่าจะแยกการทำงานให้เห็นชัดเจน

                  “ในวันนี้ วันที่ผมมานั่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เราบริหารตาม พ.ร.บ.ปี 2540 ซึ่งได้บัญญัติให้ศาล เป็นองค์กรอิสระ ทำให้ กระทรวงยุติธรรมได้แยกกันเด็ดขาดระหว่างศาลกับงานธุรการ ต่อมาในปี 2543 เริ่มมีการแยกให้ศาลเป็นอิสระ ขณะที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเดิมมีอยู่แล้วเพียงแต่แยกศาลให้เป็นอิสระเท่านั้นเอง”

                   ซึ่งหลังจากแยกการทำงานที่ชัดเจน ทำให้กระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานที่สังกัดตามมา ประกอบด้วย สำนักงานคณะนายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายบริหารและรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุด ปลัดกระทรวงเป็นข้าราชการประจำ รัฐมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุด อยู่ในกระทรวงยุติธรรม มีสำนักนายกรัฐมนตรี มีสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม อีก 3 หน่วย คือ กรมบังคับคดี กรมควบคุมความประพฤติ และอีกอย่างคือ สำนักพินิจและคุ้มครองเด็ก อยู่ในหน่วยงานของสำนักปลัด ก็มีการถามความสมัครใจว่าจะอยู่กระทรวงใดปรากฏว่า ข้าราชการส่วนใหญ่จะอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ไม่ไปกับศาล

                    นี่คือ ความชัดเจนการทำงานของศาลยุติธรรม กับกระทรวงยุติธรรม ในปัจจุบันนี้

                     พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า ต่อมา กระทรงยุติธรรมก็เพิ่มหน่วยงานสังกัด หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรมอีกครั้งในปี 2545 ทำให้เกิดกรมเพิ่มเติม เช่น กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเดิมสังกัดกระทรวงมหาดไทย โอนมาในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

นอกจากนี้ได้เกิดกรมใหม่ขึ้นมาคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก (ยกสถานะจากเดิม) สำนักกระทรวงยุติธรรม และรวมถึง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

                 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะแยกการบริหารงาน แต่การทำงานของกระทรวงยุติธรรม ยังทำงานเกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมอยู่เหมือนเดิม อาทิเช่น กรมบังคับคดี ทำตามคำสั่งของศาล กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก คือ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ต้องทำตามคำสั่งของศาลเช่นกัน กรมควบคุมความประพฤติ ที่มาคุมประพฤติอยู่ในระหว่างศาลจะตัดสิน ให้โอกาสไม่ต้องโดนขัง แต่โดนควบคุมความประพฤติแทน พวกนี้เป็นงานที่เกี่ยวข้องของศาลเช่นกัน

                  ในขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ใช้อำนาจของศาลในการสั่งขัง ไปสู่การลงโทษ ตามการพิจารณาของศาล จะเห็นว่างานพวกนี้ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับศาลอยู่ แต่ไม่ได้อยู่หน่วยงานเดียวกันกับศาล

                   ฉะนั้นจึงทำให้หลายคนคนที่เข้าใจว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นศาล แต่ในความเป็นจริงเราเป็นคนปฏิบัติตามคำสั่งของศาล แต่ยังมีอีกบางองค์กรในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับศาลเลย ในแง่ของภารกิจแต่แน่นอนจะต้องไปเกี่ยวข้องกับการทำงานยกตัวอย่าง กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ ) ทำงานคดีป้องกันและปราบปราม คดีพิเศษเป็นคดีอาชญากรรมกรณีพิเศษ คดีที่มีความสลับซับซ้อน ต้องใช้กฎหมายเป็นพิเศษ ใช้อำนาจในการสืบสวนสอบสวน ผู้ที่มีความเสียหายกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องผู้มีอิทธิพลคนสำคัญ เป็นเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญ และ เรื่องของผู้ที่กระทำความผิดของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตั้งแต่ระดับสารวัตรขึ้นไป ทหาร ก็เป็นระดับนายพันเอก ขึ้นไป ฝ่ายปกครองก็เป็นระดับนายอำเภอขึ้นไปอันนี้อยู่ในคดีพิเศษได้ หรือเงื่อนไขที่อยู่ท้ายพระราชบัญญัติในกรณีพิเศษ

                     นอกจากนี้การเกิดขึ้นของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานสนับสนุนการทำงาน ของ DSI ด้วยซ้ำไป คือการป้องกันอาชญากรรมในการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ และการพิสูจน์หลักฐาน

                    ปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังกล่าวถึง บทบาทของหน่วยงานในสังกัด อาทิเช่น สำนักงานกรมคุ้มครองสิทธิ์ มีหน้าให้เงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาตามกฎหมาย จะพูดถึงชีวิต ร่างกายและเพศ การถูกทำร้าย ถูกข่มขืน หรือฆ่า ถ้าใครถูกกระทำอย่างนี้รัฐจะให้เงินค่าตอบแทน ในฐานะที่รัฐไม่สามารถดูแลประชาชนได้ไม่เต็มที่ ก็มีเงินทดแทนจ่ายให้ ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนเป็นตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย

                  นอกจากนี้ในส่วนของตัวพยาน กลุ่มคุ้มครองสิทธิฯ จะมีหน่วยงานคุ้มครองพยาน ฉะนั้นใครที่เป็นพยานก็จะมีกฎหมายเข้ามาสู่การคุ้มครองหรือว่าตัวจำเลย เมื่อถูกฟ้องไปแล้ว หากเขาไม่ได้กระทำความผิดแต่ถูกกลั่นแกล้งยัดเยียดหรืออะไรก็แล้วแต่ จะได้รับเงินค่าตอบแทนชดเชยให้กับจำเลยในคดีอาญานั้นด้วย รวมถึงเรื่องการให้เงินประกันตัวผู้ต้องหา

                 “ เรากำลังจะยกระดับเป็นกฎหมายคือจัดตั้งกองทุนยุติธรรม ซึ่งเงินกองทุนนี้จะเอาไว้ใช้ในเรื่องช่วยเหลืออรรถคดีทั้งหลาย อาทิเช่น คนเป็นผู้ต้องหา ไม่มีเงินประกันตัว เงินนี้อาจจะช่วยประกันตัวออกมา (ประกันอย่างเดียวไม่เกี่ยวข้องกับคดี) หรือเงินวางศาล (เอาเงินกองทุนไปวางศาลได้) เป็นการช่วยเหลือผู้ต้องหาที่มีโอกาสน้อยหรือให้เข้าถึงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม

               พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้อธิบายถึงภาพของกระทรวงยุติธรรมวันนี้ โดยจะเห็นว่า ปัจจุบันเรามีบทบาทและภารกิจในลักษณะที่ดูแลงาน ในกระบวนการยุติธรรม ทำงานร่วมกับการทำงานของศาลและหน่วยงาน เพื่อทำให้บ้านเมืองนั้นมีความสงบสุข เราจึงมีภารกิจอีกส่วนหนึ่งเหมือนเป็นงานเสริมความมั่นคง เพราะว่า ประเทศชาติจะมั่นคงหรือไม่มั่นคง มันจะเกี่ยวกับเรื่องของการยุติธรรม ทั้งนี้หากเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นเมื่อไหร่แล้ว บ้านเมืองก็จะไม่สงบสุข ส่งผลถึงทางเศรษฐกิจไปด้วย

                นอกจากนี้ กรมบังคับคดี  ที่ผ่านมาได้นำทรัพย์สินที่ยึดมาทำการขายทอดตลาดทำให้เงินเข้าสู่สภาพคล่องของการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น กรมบังคับคดี ก็มีส่วนช่วยในด้านเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของความยุติธรรมเท่านั้น นี่คือหน้าตาโดยภาพรวมทั้งหมดฉายให้เห็นว่ากระทรวงยุติธรรมในวันนี้ดูแลในกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศาลยุติธรรม

               ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงการทำงานของกระทรวงโดยระบุว่า เราพยายามที่จะส่งเสริมด้านกฎหมายและความรู้ด้านสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ไปถึงพี่น้องประชาชน ในเข้าถึงให้ได้มากที่สุด โดยผ่านหน่วยงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนกระทรวงยุติธรรมไปอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

                 “ วันนี้เรามีคำว่ายุติธรรมชุมชน ยุติธรรมตำบล เราพยายามที่จะให้งานของกระทรวงขับเคลื่อนไปสู่จังหวัด ชุมชน และตำบล ทำให้คนเหล่านี้ได้รับความรู้ให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจเข้าถึงสิทธิ์ทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว ”

                ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเข้าใจว่ากระทรวงยุติธรรมอาจจะอยู่ห่างจากประชาชน แต่ถ้ามองในมิติการทำงานของกระทรวงยุติธรรมจะเห็นว่าความยุติธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมเพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าพูดถึงวิสัยทัศน์ของกระทรวงยุติธรรม เราก็พูดถึงว่า “ยุติธรรมถ้วนหน้า ประชามีส่วนร่วม” กระทรวงยุติธรรมต้องเข้าถึงทุกคนและความสำเร็จต้องมาจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนด้วย ประชาชนต้องมี่ส่วนร่วมด้วย การทำงานของกระทรวงยุติธรรมกับประชาชนจะเป็นเนื้อเดียวกันต้องทำงานไปด้วยกัน

                พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวถึง อีกภารกิจของกระทรวงที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งวันนี้รัฐบาลรวมทั้ง คสช.ได้ให้นโยบายในการแก้ปัญหา3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยชัดเจน โดยมี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใต้ของภาค 4 ส่วนหน้า (พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งในองค์กรที่จัดขึ้นจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพีน้องประชาชนหลายมิติ

                ทั้งนี้ โดยหลักการและกรอบคิดต้องการจะทำอย่างไรให้ การบริหารงานและการพัฒนาชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นั่นคือ การลดใช้การรุนแรง สนับสนุนแนวทางสันติวิธี ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข

                 นอกจากนี้ในทางมิติของสังคมในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความอันเข้มแข็ง เช่น วัฒนธรรมทางศาสนา ทำอย่างไรที่จะอยู่ตรงนั้นอย่างมีความเข้มแข็ง อีกทั้งจะทำอย่างไรให้ประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่รวมทั้งในต่างประเทศสนับสนุนหน่วยงานของภาครัฐ

               
                  ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล และ คสช. คือจะทำอย่างไรให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดเหตุ ความรุนแรง และที่สำคัญคือต้องมีความยุติธรรม และในคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับการดูแล มีชีวิตที่ดี มีความเข้าใจ เพื่อหาทางออกในการลดความขัดแย้ง

                 พล.ต.อ.ชัชวาลย์ บอกว่า ฉะนั้นการทำงานในวันนี้ กระทรวงยุติธรรม จึงมีบทบาทหนึ่งอยู่ในภารกิจที่ต้องทำคือภารกิจเกี่ยวกับหน่วยงานยุติธรรม เยียวยา เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว แม้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันแต่เมื่อมีการเกิดเหตุเกิดขึ้นก็จะมีการสูญเสียเกิดขึ้น คนที่เป็นผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยา โดยรัฐต้องมีหน้าที่ในการสนับสนุน เนื่องจากรัฐไม่สามารถที่จะปกป้องไม่ให้เกิดเหตุกับเขาได้เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

                 “ วันนี้รัฐบาลได้มอบภารกิจนี้ ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแกนนำ แน่นอนจะทำเองโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลเกี่ยวกับคนด้วย มี กอ.รมน./ ศอ.บต. กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง “

                 ทั้งนี้มั่นใจว่าหากทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันทำตามภารกิจและทำตามนโยบายตามการขับเคลื่อน แก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการร่วมมือกันอย่างเต็มที่คิดว่าจะสามารถตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาลและเป็นไปตามคาดหวังของประชาชนอย่างแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นกับ 3 จังหวัดภาคใต้คนส่วนใหญ่จะต้องการเห็นความสงบ ต้องการอยู่อย่างสันติ

                  “ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ มันจะสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ก็ต้องเข้ามีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งองค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาร่วมมือกัน จะทำอย่างไรให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันเกิดขึ้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์”

                   ปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้บริหารสูงสุดและดูแลกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีนักโทษในเรือนจำ มีผู้ต้องขังหลักแสนคนทั่วประเทศ มีแยกเป็นผู้หญิง ผู้ชาย สำหรับผู้ต้องขังที่เป็นมุสลิม ทางกรมราชทัณฑ์ ได้ดูแลผู้ต้องขังแยกออกแตกต่างจากผู้ต้องขังทั่วไป มีการดูแลในเรื่องอาหารให้ถูกตามหลักการ รวมถึงสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ ในเรื่องนี้ก็มีการดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่ต้องให้กับคนมุสลิมในทุกเรือนจำทั่วประเทศ ดูแลในมาตรฐานเดียวกันในทุกเรือนจำ

                   อย่างไรก็ตามแม้ว่ากระทรวงยุติธรรมจะทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายและความยุติธรรม แต่ภาพลักษณ์ที่จะสื่ออกไปของกระทรวงยุติธรรม ทุกวันนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปยังเข้าใจผิดอีกเยอะถึงบทบาทภารกิจ

                   “อยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่ากระทรวงยุติธรรมเป็นกระทรวงหนึ่งที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานในกระบวนการยุติธรรม และดูแลพี่น้องประชาชนในเครืองานของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด มีอะไรที่เดือนร้อนจากการที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาญาหรือทางแพ่งก็ตาม กระทรวงยุติธรรมเรามีหน่วยงานและบุคลากรช่วยดูแลตอบสนอง ให้การดูแลเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ในเรื่องของอำนวยความยุติธรรม”

                   นอกจากนี้ในเรื่องของการคุ้มครองพยาน การให้โอกาสที่จะได้รับการประกันตัวด้วยเงินกองทุน และประสานงานการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นอัยการหรือศาลเพื่อที่จะให้การขับเคลื่อนงานในขอบเขตที่จะให้ได้ แต่เราจะไม่เข้าร่วมก้าวก่ายการทำงาน แค่การประสานงานเพื่อเชื่อมโยงอยากให้เข้าใจว่ากระทรวงยุติธรรมสามารถที่จะตอบสนองด้านนี้ได้

                    “ ในเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไม่ว่าในเรื่องของการเกิดเหตุทางอาญา เหตุเรื่องทางแพ่ง หากวันไหนที่มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้นึกถึงกระทรวงยุติธรรม เราสามารถเข้าไปช่วยในการดูแล ให้ท่านมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมได้มากที่สุด

                   พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวถึงภาพลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมว่า ปัจจุบันพนักงานทุกคน เป็นข้าราชการพลเรือน ถึงวันนี้มีตนจะมียศเป็นพลตำรวจเอก แต่ไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจวันนี้ผมมีสถานะข้าราชการพลเรือน ในฐานะปลัดกระทรวงยุติธรรม ขอให้ประชาชนมีความเข้าใจในกระทรวงยุติธรรมและเข้ามามีส่วนร่วมในหลายมิติ

                   “ ถ้ามีเรื่องใดที่เราต้องการขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เช่นอาสาสมัครควบคุมความประพฤติ อาสาสมัครที่จะมาดูแลพี่น้องในชุมชน หรือตำบล อยากให้เข้ามาร่วมมือ ทั้งภาคราชการ แม้กระทั่งข้าราชการ และบุคลากร อยากจะลงไปเชื่อมให้เกิดความเข้าใจ และทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ”
+++++++

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ มกราคม 2558