Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เปิด“จุดอ่อน-จุดแข็ง” ยุทธศาสตร์ฮาลาลไทย

เปิด“จุดอ่อน-จุดแข็ง” ยุทธศาสตร์ฮาลาลไทย

โดย เอกราช มูเก็ม
        บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร ดิ อะลามี่

++++++++++++++++++++

                   จับตายุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย หลังจากที่มีความพยายามขับเคลื่อนในหลายรัฐบาล

                ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงอุตสาหกรรมฮาลาล ในโอกาส เป็นประธานพิธีเปิดงานประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly” เพื่อแสดงศักยภาพของกิจการฮาลาลแห่งประเทศไทยปลายเดือนธันวาคม 2557 ที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนากิจการฮาลาล เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศ และเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ซึ่งการส่งออกของไทยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

               นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ว่าการส่งออกของไทยจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาหลายอย่างในโลก มีการแข่งขันมากขึ้น จึงต้องสร้างหุ้นส่วนอาเซียนและสร้างศักยภาพในทุกด้าน โดยมีผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ

            ทั้งนี้ ในปี 2558 จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ถือเป็นตลาดใหญ่และกว้างขึ้น เนื่องจากเกิดจากการรวมกลุ่มของประชาคมอาเซียน ซึ่งมีชาวมุสลิมประมาณ  300 ล้านคน การค้าขายการลงทุนจึงต้องเน้นไปที่สินค้าและผลิตภัณฑ์ของชาวมุสลิม ที่มีกระบวนการการผลิตที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร

           “ เราต้องพัฒนาให้สินค้าของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ศาสนารับรอง และวิทยาศาสตร์รองรับ โดยนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากขึ้น ที่สำคัญจะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลกต่อไปพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี   กล่าว

              นี่คือสัญญาณด้านบวก ที่รัฐบาลได้ส่งไปถึงไม่เฉพาะผู้ประกอบการมุสลิมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องฮาลาลทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล ที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังเสียที

             แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลก ซึ่งมีมูลค่าตลาด เพื่อรองรับประชากรมุสลิมประมาณ 1,800 ล้านคนทั่วโลก และมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แต่ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในส่วนของอาหารฮาลาลที่น้อยมาก เพียง 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เป็นการส่งออกอาหารไปยังประเทศมุสลิมทั่วโลก

             หากย้อนกลับไปดูเมื่อรัฐบาลที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบาย ไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 นโยบายด้านเศรษฐกิจ และการตลาด การค้าและการลงทุน ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เป้าหมายรวมถึงการกำหนดนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก (Kitchen to the World) โดยหวังให้ประเทศไทยมีส่วนแบ่งทางด้านการตลาดฮาลาลสูงขึ้น แต่จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่า ยังไม่มีอะไรคืบหน้าและยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม

               อย่างไรก็ตาม เอกสาร ของ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ในคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมสภาผู้แทนราษฎร 2556 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ได้สรุปสภาพปัญหาไว้ค่อนข้างชัดเจน ประกอบด้วย

              ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่า การขาดผู้นำในการดำเนินการเรื่องฮาลาลเป็นรูปธรรม และจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งจึงเกิดความไม่ต่อเนื่องในการบูรณาการเชื่อมโยง การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจฮาลาล

              ด้านการบริหารจัดการ ภาครัฐขาดหน่วยงานรับผิดชอบหลักและเชื่อมโยงการพัฒนาฮาลาล ทุกภาคส่วนได้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องมีประสิทธิภาพ ทั้งยังขาดระบบการจัดเก็บข้อมูลสินค้า และบริการฮาลาล ของประเทศ

               ด้านกฎหมาย ภาครัฐขาดกฎหมายเฉพาะด้านฮาลาล และการคุ้มครองผู้บริโภคฮาลาลของประเทศจึงส่งผลต่อความเชื่อมั่น ทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ รวมทั้งยังไม่มีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน และการถ่วงดุลกันของหน่วยงานรับรอง (Certification Body : (B) หน่วยงานตรวจสอบ(Accreditation: AB) และหน่วยงานสนับสนุน (Supporting Body) ที่จะทำให้การพัฒนาธุรกิจฮาลาลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเป็นทางปฏิบัติ

               ด้านการประชาสัมพันธ์ การสร้างความรู้ ความเข้าใจและการตลาด ภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจฮาลาล การโฆษณามาตรฐานแบรนด์ฮาลาล ของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาสู่ตลาดฮาลาลโลก และยังขาดการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs มุสลิม ในประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น

               ด้านการรับรองและพัฒนามาตรฐาน ระบบรับรองฮาลาลของไทยขาดแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกัน รวมถึงการขาดการปรับปรุงกฎหมาย ให้มีความเหมาะสมกับการเปิดเสรีการค้า หรือเพื่อกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ละเมิดการรับรองฮาลาล

              ด้านการส่งเสริมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สถานประกอบการและบุคลากร ขาดการพัฒนาผู้ประกอบกิจการฮาลาล และขาดลำดับความสำคัญผลิตภัณฑ์ ที่จะพัฒนาสินค้าฮาลาลหลักของประเทศ การดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทำให้การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยังไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับขาดการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และปัจจัยสนับสนุนการลงทุนด้านต่างๆ

               
               ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ชุดนี้ ยังได้สรุป และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในยุคนั้น โดยแยกย่อย ตามประเด็นสภาพปัญหา
ประกอบด้วย    

              
              ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์
ควรกำหนดแผนการดำเนินงาน (Roadmap) เป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่ชัดเจนเพื่อหน่วยงานที่มีภารกิจสิ่งเสริมฮาลาล ได้นำไปผลักดันหรือเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศในทิศทางเดียวกัน

              ด้านการบริหารจัดการ ควรมีนโยบายในการจัดตั้งหน่วยงานฮาลาลของประเทศ ซึ่งภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณ โดยผ่านหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น และควรแยกหน่วยงานตรวจสอบและรับรองเป็นการเฉพาะ โดยอาจเทียบเคียงมาตรฐานอื่นๆ เพื่อดำเนินการที่มีความสอดคล้องทั้งมาตรฐานสินค้า และมาตรฐานของผู้ให้การรับรอง

               ด้านกฎหมาย ควรออกกฎด้านฮาลาลและคุ้มครองผู้บริโภคฮาลาล โดยเน้นกำหนดบทบาทของหน่วยงานรับรอง หน่วยงานตรวจสอบ และหน่วยงานสนับสนุนอย่างชัดเจน

             ด้านการประชาสัมพันธ์ การสร้างความรู้ ความเข้าใจและการตลาด ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจฮาลาลให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่น ต่อสินค้าฮาลาลจากประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการมุสลิมให้เติบโตเพื่อการสร้างเครือข่ายกับตลาดการค้าโลกมุสลิม

             ด้านการรับรองและพัฒนามาตรฐาน ควรจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการรับรองตามมาตรฐานฮาลาล ศึกษาผลกระทบของการเปิดเสรีการค้า และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดตราฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม

            ด้านการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สถานประกอบการและบุคลากร เร่งสร้างผู้ประกอบการมุสลิมรายใหม่ รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการมุสลิมเดิมให้เข้าถึงแหล่งทุนและเติบโตได้ และควรจัดลำดับความสำคัญของผลิตภัณฑ์ฮาลาลโดยใช้ตลาดเป็นตัวนำ

            นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ยังได้เสนอแนะ การดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า จะต้องกำหนดแนวทางส่งเสริมกิจการฮาลาล ทั้งในระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) และระดับชุมชน ตามศักยภาพของพื้นที่ โดยให้มีการบูรณาการ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลครบวงจรในเชิงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์แพะและแกะ

              ส่วนกรณีการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของพื้นที่ ที่มีศักยภาพ และมีความปลอดภัย ที่กระจายไปยังพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ นักลงทุน

ปลุกผีนิคมฯ ฮาลาลปัตตานี

             นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลปัตตานี ในพื้นที่อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี บนพื้นที่ กว่า 900 ไร่ ที่พยายามผลักดันเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ดูเหมือนไม่มีอะไรคืบหน้า ปัจจุบันมีเพียงอาคารศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ของ กนอ. ที่สร้างแล้วเสร็จ อีกทั้งตัวอาคารยังปรากฏร่องรอยความเสียหายจากการลอบก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ จนทำให้เหมือนสภาพร้าง

              การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลปัตตานี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 บริษัท ฟาตอนีอินดัสทรีส์ จำกัด ต้องการตั้งโรงงานแปรรูปไก่แช่แข็งป้อนตลาดตะวันออกกลาง ระหว่างทำการศึกษาทราบว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดปัตตานี สนองนโยบายการส่งเสริมให้ภาคใต้ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9

              บริษัทเห็นว่า หากมีนิคมฯ เกิดขึ้นก็จะเข้าไปตั้งโรงงานในเขตนิคมฯ แต่หากว่าภาครัฐดำเนินการเองอาจไม่ทันการ จึงเสนอเข้าร่วมโครงการด้วย โดยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 บริษัท ฟาตอนีฯ ลงนามสัญญาร่วมดำเนินการกับ กนอ. 7 วันต่อมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กนอ. เป็นเจ้าภาพร่วมดำเนินการกับ บริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด

             อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ส่งผลถึงสถาบันการเงินและนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่กล้าลงทุนและสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ ในขณะนั้น บริษัท ฟาตอนีฯ ติดค้างชำระค่าที่ดินกับชาวบ้าน จากการกว้านซื้อที่ทำกิน เดิมคือที่ดิน นส.3 ก. โดยมีโฉนดที่เป็นชื่อบริษัทเพียงแปลงเดียว (ที่มา: ศูนย์ข้อมูล &ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง(TCIJ) )

             “ แม้ว่าโครงการจะหยุดชะงัก งบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางกลับถูกอนุมัติลงมาตลอด จนถึงปี 2555  เป็นจำนวนเงินกว่า 600 ล้านบาท ”

               ล่าสุดมีข้อมูลจาก สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่สำรวจเพื่อเลือกสถานที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปัตตานีใหม่อีกครั้ง โดยตัดสินใจเลือกพื้นที่บริเวณตำบลบานา อำเภอเมือง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานีในปัจจุบันขณะที่พื้นเดิมคือ อำเภอปานาเระ ซึ่งได้ดำเนินการและก่อสร้างอาคารไปแล้ว  อาจถูกยกเลิกเนื่องจากที่ผ่านมาถูกผู้ก่อความไม่สงบลอบโจมตีหลายครั้ง เกรงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

มาเลเซียบุกอีสานตั้งฐานนิคมฮาลาลอุดรธานี

            ในขณะที่ประเทศไทยยังมีมีความชัดเจนเรื่องนโยบายอุตสาหกรรมฮาลาล  ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียได้เดินแผนเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งใหม่ ในไทย ภายใต้การบริหารของเอกชนมาเลเซีย

เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ล่าสุด บริษัทด้านการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และอุตสาหกรรมผลิตรถจักรยานยนต์ ของมาเลเซีย อย่าง บริษัท GMC International Holding จำกัด (มหาชน) ได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ว่าด้วยเรื่องฐานการขยายตลาดอุตสาหกรรม

               แหล่งข่าว ระบุว่า ก่อนหน้านี้มาเลเซียเล็งที่จะไปพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่เชียงใหม่ แต่หลังจากการศึกษาพบว่าเชียงใหม่ เป็นเมืองการท่องเที่ยวมากกว่า จึงหันมาดูพื้นที่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดอุดรธานี

            “ พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีขนาด 2,219 ไร่ อยู่ในท้องที่ตำบลโนนสูง และหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นพื้นที่ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม อยู่ห่างสนามบินอุดรธานี เพียง 20 กิโลเมตร “

               ทั้งนี้หนึ่งในความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะใช้จังหวัดอุดรธานี เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่(บิ๊กไบด์) เพื่อส่งออกไปยังกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการก่อสร้างรถไฟรางคู่ เส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ รวมถึงการเชื่อมโยงไปลาวและมณฑลยูนนาน ของจีน อีกด้วย”

            นี่คือภาพรวมของอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ประเทศไทยจะต้องตั้งรับ และต้องหันมาปรับนโยบายเชิงรุก เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ที่กำลังจะเปิดประตูการค้าในช่วงปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้

 
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558