Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   กองทุนธนาคารอิสลาม (ธ.ก.ส.) สถาบันการเงิน อีกทางเลือกธุรกิจฮาลาล

กองทุนธนาคารอิสลาม (ธ.ก.ส.) สถาบันการเงิน อีกทางเลือกธุรกิจฮาลาล

โดย เอกราช มูเก็ม
        บรรณาธิการบริหาร

     
       กระแสการเติบโตและการเปิดเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้นำพาระบบการเงินอิสลามเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน

            ขณะเดียวกันสถาบันการเงินในระบบอิสลามในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดการเงินของภูมิภาคนี้ และตลาดโลกตั้งรับอย่างไร  นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับนี้ เราขอแนะนำ และมารู้จักกองทุนธนาคารอิสลาม (ธ.ก.ส.) ผ่านมุมมอง “ อภิญญา ปุญญฤทธิ์ ”  ผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝาก กองทุนธนาคารอิสลาม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

            คุณอภิญญา กล่าวถึงแนวคิดในการบริหารกองทุนธนาคารอิสลาม (ธ.ก.ส.) ว่า หลังจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อ คุณภาพชีวิตของเกษตรกร ในจำนวนนี้มีลูกค้าของเราส่วนหนึ่งที่เป็นมุสลิม มีความต้องการระบบธนาคารที่สอดคล้องตามหลักศาสนา เราจึงได้จัดตั้งกองทุนธนาคารอิสลามที่ถูกต้องตามหลักชารีอะห์ ตั้งแต่ ปี 2542 ที่ผ่านมา

            “ ระบบการบริหารจัดการจะแยกออกมาจากระบบการเงินปกติของธนาคารคือกองทุนธนาคารอิสลาม ธ.ก.ส. เสมือนกับเป็นอีกหน้าต่างหนึ่งของ ธ.ก.ส. ”

          ส่วนเรื่องการบริหารจัดการ เราจะแยกออกจากการดำเนินงานปกติ เพราะระบบการเงินอิสลามเป็นระบบการเงินที่ฮาลาล จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักศาสนา (ชารีอะฮ์) ไม่เกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ย(Riba) ความไม่แน่นอน (Gharar)  และไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข (Maisir) กองทุนธนาคารอิสลาม ธ.ก.ส. ดำเนินธุรกรรมการเงินทั้งเงินฝากและสินเชื่อ ภายใต้พ.ร.บ.ธ.ก.ส.และการกำกับดูแล โดยคณะกรรมการที่ปรึกษากองทุน ประกอบด้วย อ.อรุณ บุญชม เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอีก 4 ท่าน คือ รศ.ดร. วรวิทย์ บารู อ.วินัย สะมะอูน อ.อับดุลเลาะห์ แอนดริส และ อ.วิทยา วิเศษรัตน์

           สำหรับการบริหารกองทุนธนาคารอิสลาม เราจะแยกบัญชีเงินฝากและสินเชื่อต่างหากจากระบบปกติของธนาคาร การบริหารเราแยกออกมาบริหารในรูปชารีอะห์ เปรียบเสมือน ธนาคารเล็กในธนาคารใหญ่ของเรา  โดยนำรับเงินฝากระบบอิสลามนำไปลงทุนในระบบสินเชื่ออิสลาม  เมื่อได้ผลกำไรก็จัดสรรปันส่วน แบ่งปันผลกำไร ให้กับผู้ฝาก เปิดให้บริการผ่าน สำนักงานสาขาของ ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ 1,250 สาขา

            ส่วนของการให้บริการทางการเงิน เราเปิดให้บริการทางด้านการเงินประกอบด้วยเงินฝากออมทรัพย์ (วาดีอะฮ์) และเงินฝากประจำ (มูฎอรอบะฮ์) รวมทั้งเป็นเงินฝาก 65,472 บัญชีจำนวนเงิน1,999 ล้านบาท

           เงินฝากออมทรัพย์ (วาดีอะฮ์) เป็นการฝากเผื่อเรียกหรือฝากเผื่อถอน การฝาก-ถอน ผ่าน ATM  CDM เหมือนเงินฝากปกติ ส่วนที่แตกต่างจากเงินฝากปกติคือ เป็นการฝากทรัพย์เพื่อความปลอดภัย ไม่ต้องการผลตอบแทน และอนุญาตให้ธนาคารนำเงินไปลงทุนที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา เมื่อครบรอบปีบัญชีของธนาคาร ธนาคารจัดสรรผลกำไรจากการดำเนินงานมอบเป็นทุนเดินทางประกอบพิธีฮัจญ์และหรืออุมเราะห์ ให้กับผู้ฝากเงินที่เป็นมุสลิม ผ่านโครงการ “มหกรรมส่งต่อความดี”

            สำหรับปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ในการมอบทุนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,080,000 บาท แยกเป็นทุนฮัจญ์ 13 ทุนๆ ละ 180,000  บาท และทุนอุมเราะห์ 29 ทุนๆ ละ 60,000 บาท จำนวนทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามจำนวนเงินรับฝากคงเหลือในแต่ละปีบัญชีของธนาคาร  เงินฝากออมทรัพย์ (วาดีอะฮ์) ณ สิ้นปี ปีบัญชี 2557 (31 มีนาคม 2558) เรามียอดเงินฝากทั้งสิ้น 1,414 ล้านบาท จากบัญชีทั้งหมด 64,878 บัญชี

             เงินฝากประจำ (มุฎอรอบะฮ์) เป็นเงินฝากเพื่อการลงทุนทั่วไปตามระยะเวลา คือระยะสั้น 3,6,12 เดือน และระยะยาว 18,24 เดือน คำนวณผลตอบแทนจากกำไรที่ได้รับจากลงทุนในแต่ละเดือน และจ่ายผลตอบแทนเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาเงินลงทุนของผู้ฝากจาการขาดทุน ธนาคารจัดสรรกำไรที่ได้รับแต่ละเดือน ร้อยละ 5 จัดสรรเข้ากองทุนสำรองการขาดทุน เพื่อสำรองการจ่ายผลตอบแทนในกรณีที่ผลตอบแทนน้อยกว่าเงินฝากประจำในระบบปกติของธนาคาร ตั้งแต่เราตั้งกองทุนฯ มาไม่มีการขาดทุนเลย และที่ผ่านมาผลตอบแทนที่จ่ายให้ลูกค้าเฉลี่ยกว่าร้อยละ 2  ณ สิ้นปี ปีบัญชี 2557 (31 มีนาคม 2558) มีบัญชีเงินฝากประจำ(มูฎอรอบะฮ์)  จำนวน 594 บัญชี จำนวนเงิน 585 ล้านบาท

             การดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อ เป็นการดำเนินธุรกรรมตามหลักมุรอบาฮะฮ์ ซึ่งถือปฏิบัติตามหลักการซื้อ-ขายสินค้า (ทุน+กำไร) โดยการนำเงินฝากทั้งเงินฝากออมทรัพย์ (วาดีอะฮ์) และเงินฝากประจำ (มูฎอรอบะฮ์) รวมกันเป็นทุนดำเนินงานทางด้านสินเชื่อดังกล่าว ที่ผ่านมาเราเปิดสินเชื่อไป ณ สิ้นปี ปีบัญชี 2557 (31 มีนาคม 2558) จำนวน 1,444 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อให้กับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมาย ภาคการเกษตร ทั้งเกษตรกรรายย่อยและสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) เป็นการสนับสนุนธุรกิจฮาลาล ภาคการเกษตร เกี่ยวเนื่องการเกษตร และการขยายการผลิตสู่ธุรกิจแปรรูป

            อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกองทุนธนาคารอิสลาม ธ.ก.ส. จะต้องพัฒนาไปสู่การเกษตรและอุตสาหกรรม ทั้งภาคบริการ อาทิเช่น การต่อยอดจากไร่กาแฟ สู่ธุรกิจการส่งออกกาแฟ ซึ่งกองทุนธนาคารอิสลามของเราจะสนับสนุนธุรกิจภาคการเกษตรตั้งแต่ ต้นน้ำยันปลายน้ำ

            “ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น แม้จะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ แต่เราก็อยากสนับสนุนให้ภาคเกษตรของไทยมีการพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อยกระดับการแข่งขัน เช่น สนับสนุนการพัฒนาการส่งออกข้าว ในรูปแบบของสินค้าพรีเมี่ยม มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์(packaging)สวยงาม และใช้นวัตกรรมในการผลิตที่เพิ่มหรือขยายเวลาในการจัดเก็บให้ยาวนานขึ้น แต่ยังคงรสชาติเหมือนเดิม”

            สำหรับโอกาสการขยายตัวของกองทุนธนาคารอิสลาม (ธ.ก.ส.) มองว่าการเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเราส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และนับว่าประชากรเหล่านี้ เป็นผู้กำเศรษฐกิจอาเซียนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย บูรไน อินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี

          “ ที่ผ่านมา ธ.ส.ก. เป็นหนึ่งในสมาชิกของ สมาคมธนาคารเพื่อการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน มีสมาชิกซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เราเป็นมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน มีการแลกเปลี่ยนและทำการค้ากับเรา ล่าสุด มีนักธุรกิจไทยร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวบรูไน ต้องการสินค้าเกรดพรีเมี่ยม เราเห็นโอกาสการทำงานตรงนี้ร่วมกัน และเราก็มีสินเชื่อประเภทนี้รองรับ ซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเกษตรกรซึ่งเป็นฐานรากของประเทศไทย ”

            ส่วนการทำงานของ กองทุนธนาคารอิสลาม จะไปทับซ้อนหรือเป็นคู่แข่งกับสถาบันการเงินอิสลาม อื่นๆ หรือไม่นั้น เรามองว่า สถาบันการเงินอื่นๆ เช่น สหกรณ์ เขาคือลูกค้าของเรา ทั้งนี้สหกรณ์ จะเป็นสถาบันการเงินที่ใกล้ชิดกับลูกค้า ส่วนกองทุนธนาคารอิสลามฯ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้สนับสนุนการทำธุรกิจและเอื้อกันมากกว่า

            อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพลักษณ์ของ ธ.ก.ส. มีนโยบายเน้นการเกษตร แต่ขณะนี้เราพร้อม ที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร โดยจะเพิ่มความสะดวกกับภาคการเกษตรในลักษณะการต่อยอดทางธุรกิจและการแปรรูปมากขึ้น เช่น การปลูกข้าว หรือสัปปะรด นำมาแปรรูป ตลอดจนทำการส่งออก เพื่อตัดวงจรคนกลาง และสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตมากขึ้น

            เมื่อถามว่าเป้าหมายกองทุนธนาคารอิสลาม จะไปทางไหนอย่างไร คุณอภิญญา บอกว่า กองทุนธนาคารอิสลามเป็นเหมือนกับสาขาของแบงก์ แต่เราค่อยเป็นค่อยไป เราพยายามที่จะทำหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินให้กับลูกค้า อยากให้ลูกค้าทุกภาคเป็นลูกค้าของเรา เพราะเรามั่นใจว่า เราทำถูกต้องตามหลักศาสนามากที่สุด เพราะเรามีผู้รู้ด้านศาสนามาเป็นที่ปรึกษา

          “ธ.ก.ส. เป็นสมาชิกในกลุ่มธนาคารอาเซียนในพันธกิจ สินเชื่อเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบท” ในธนาคารภูมิภาคอาเซียนเรามีการแลกเปลี่ยนกันบ่อยมาก เราจะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์เหมือนพี่น้อง”

            อย่างไรก็ตามแม้ว่า เราจะไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์แบบ 100%  แต่เราก็จะพัฒนาการบริการทางการเงินที่ครบวงจรมากขึ้น รวมถึงเสริมทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเราจะต้องก้าวไปสู่จุดนั้น อย่างไรก็ตามการพัฒนาและการขยายสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อก็ต้องดูความสัมพันธ์ ตามสัดส่วนของเงินฝาก  ปัจจุบันเรามีลูกค้าสินเชื่อ 1,444 ล้านบาท และเงินฝากในวงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท ต้องสัมพันธ์ระหว่างสินเชื่อกับเงินฝาก ถ้าเราขยายฐานสินเชื่ออิสลามเพิ่มขึ้นเราก็ต้องขยายฐานเงินฝากอิสลามเพิ่มขึ้นด้วย จะเป็นความแตกต่างจากแบงก์อื่น ซึ่งแบงก์อื่นอาจจะกู้เงินจากแบงก์อื่นมาซับพอร์ตได้

            ในระยะยาวเรากำลังศึกษาว่า กองทุนอิสลาม จะสามารถออกพันธบัตรอิสลาม(ศุกูก) ได้หรือไม่ ทั้งนี้เราอยากพัฒนาให้กองทุนธนาคารอิสลาม ให้เป็นสถาบันการเงิน เป็นที่พึ่งของสังคมมุสลิมอย่างถูกต้อง และมีการดำเนินงานภายใต้ระบบการเงินฮาลาล ถ้าพูดถึงเรื่องฮาลาล เราจะคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารอย่างเดียว การประกอบธุรกิจฮาลาล หากเริ่มต้นจากเงินทุนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย (รีบา) เป็นการเริ่มต้นจากรอม (สิ่งที่ศาสนาไม่อนุมัติ) ก็ไม่ฮาลาลทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ Halal SME สามารถใช้บริการกองทุนอิสลาม ธ.ก.ส.เป็นแหล่งเงินทุนประกอบธุรกิจฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักศาสนาให้กับพี่น้องมุสลิมได้

            “กองทุนธนาคารอิสลาม ธ.ก.ส. เราให้บริการผ่านช่องทางสาขาของ ธนาคารการเกษตรและเพื่อสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีสาขาทั่วประเทศ 1,250 สาขา พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศสามารถใช้บริการได้ มีทั้งบัญชี ออมทรัพย์ เพื่อรักษาทรัพย์ตามหลักวาดีอะฮ์ หรือฝากประจำ เพื่อการลงทุนตามหลักมูฎอรอบะฮ์ และสินเชื่อตามหลักมุรอบาฮะฮ์ เป็นการดำเนินงานที่ถูกต้องตามหลักศาสนา (ชารีอะฮ์) สนับสนุนการประกอบธุรกิจฮาลาลา สนับสนุนการประกอบพิธีฮัจญ์ อุมเราะห์ และช่วยเหลือสังคมผู้ด้อยโอกาสทางสังคมผ่านกองทุนซะกาต ซึ่งเป็นการนำบทบัญญัติของศาสนานำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน”

 หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบัะบเดือนมิถุนายน 2558