Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   โปรดเกล้าทหาร584ตำแหน่ง(30ก.ย.54)

   (Update..!!!) โปรดเกล้าฯทหาร 584 ตำแหน่ง(30กันยายน2554)

            สำนักข่าวอะลามี่ : โปรดเกล้าฯทหาร 584 ตำแหน่ง ไม่พลิกโผ การเมืองยังไม่กล้าแตะ เสถียรขึ้นปลัดกห. ธนะศักดิ์ผบ.สส. สุรศักดิ์ผบ.ทร. ดาว์พงษ์รองผบ.ทบ.

            ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทหารรับราชการ โดยมีพระบรมราชการโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณดังต่อไปนี้ จำนวน 584 นาย ทั้งนี้หมายเลข 49 , 50 หมายเลข 86 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.2554 นอกนั้นให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2554 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 30 ก.ย.? 2554 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

          ทั้งนี้โผทหารที่เกิดความล่าช้าเป็นเพราะสาเหตุเกิดจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมที่ไม่ลงตัว โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการที่จะเสนอชื่อของ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ (ตท.11) รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม เพราะต้องการคนที่ไว้ใจขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้

           โดยที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้ขอความเห็นชอบจาก ผบ.เหล่าทัพ ในการผลักดันให้ พล.อ.วิทวัส มาดำรงตำแหน่งนี้ โดยที่ ผบ.เหล่าทัพ ก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด จนกระทั่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้นำบัญชีรายชื่อเสนอไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล่้า แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ดูบัญชีรายชื่อดังกล่าวจึงได้ตีกลับมาให้กองทัพกลับไปทบทวนพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมมาเป็น พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ (ตท.11) ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพไทย

            ทั้งนี้การที่ พล.อ.เสถียร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพราะได้รับการผลักดันจากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะบทบาทสำคัญของ ดร.ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ ภรรยาของ พล.อ.เสถียร ที่เป็นนายกเทศมนตรีตำบลคำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และมีความสนิทสนมเป็นผู้สนับสนุนในพื้นที่เลือกตั้ง จ.อุบลราชธานี ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งเข้ามาถึง 7 ที่นั่ง

            นอกจากนี้มีการขยับให้ พล.อ.ชาตรี ทัตติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม พล.อ.อ.ไมตรี โอสถหงษ์ รองเสนาธิการทหาร และ พล.ร.อ.รุ่งรัตน์ บุณยรัตพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย ขยับเป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม

          พล.ท.พฤณท์ สุวรรณทัต ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ท.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระรวงกลาโหม เป็นเจ้ากรมเสมียตรา โดยมี พล.อ.ภุชงค์ รัตนวรรณ ผู้บัญชาการสถาบัญวิชาการป้องกันประเทศ เป็นจเรทหารทั่วไป พ.อ.สุรศักย์ วัยคุณา เป็นหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี และ พ.อ.พันลึก สุวรรณทัต เป็นนายทหารคนสนิทนายกรัฐมนตรี

           ส่วนบัญชีรายชื่อในส่วนของกองทัพไทยเป็นไปตามคาดหมายที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนอให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เสนาธิการทหารบก ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เจ้ากรมเสมียนตรา พล.อ.อ.หม่อมหลวงสุปรีชา กมลาศน์ หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผุ้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และ พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ขยับให้ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองเสนาธิการทหารบก เป็นเสนาธิการทหาร

          พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุท ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพไทย พล.ร.ท.ไพบูลย์ ช้อยเพ็ง เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหาร และ พล.อ.ท.ระพีพัฒน์ หลาลเลิศบุญ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นรองเสนาธิการทหาร ส่วน พล.ท.สมหมาย เกาฎีระ ปลัดบัญชีทหาร เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ท.สุพรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เจ้ากรมข่าวทหาร เป็นเจ้ากรมยุทธการทหาร พล.ท.อรรถนพ ศิริศักดิ์ ผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นเจ้ากรมข่าวทหาร พล.ท.วิทยวัส บุญยสัมพันธุ์ จเรทหาร เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล

          นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนในตำแหน่งเจ้ากรมกิจการชายแดน โดยให้ พล.ท.วรวิทย์ ดรุณชู ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพไทยเป็นเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เพื่อเข้ามาสานงานต่อในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) เพื่อหวังที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา รวมถึงการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) มาเป็น พล.ท.เชาวฤทธิ์ ประภาจิตร์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการรร้ายสากล ซึ่งการมาดำรงตำแหน่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ถูกย้ายฟ้าผ่าเมื่อครั้งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกลุ่มคนเสื้อแดง ทำร้ายที่กระทรวงมหาดไทย ทั้ง ๆ ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น และขยับให้ พล.ต.หฤษฎ์ พุ่มหิรัญ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร น้องชายของ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร

            ขณะที่กองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้จัดทำโผและยังคงดันเพื่อน "ตท.12" ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญหลายคน โดยเฉพาะการดัน พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ จากเสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็น รองผู้บัญชาการทหารบก และขยับ พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม "ตท.11" จากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นเป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทบ. และเปิดทาง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน "ตท.11" เพื่อนร่วมรุ่นจากที่ปรึกษากองทัพบก ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ตามข้อตกลงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งนี้เมื่อปีที่ผ่านมา

          นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากรัฐบาลเพื่อไทยสนับสนุน เนื่องจากเป็น "น้องเขย" ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ พล.ท.โปฎก บุนนาค ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และขยับให้ พล.ท. ศิริชัย ดิษฐกุล "ตท.13" รองเสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็นเสนาธิการทหารบก เพื่อดูสายงานด้านยุทธการ พร้อมทั้งยังมีแรงหนุนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ผลักดันเพื่อให้ขึ้นมารับตำแหน่งนี้ พล.ต.ชลิต เมฆมุกดา เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา พล.ต.กฤษณ์ กิจสุวรรณ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 7 พ.อ.จารุเกียรติ ชัยวงศ์ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 ซึ่งถือเป็นกองพลใหม่ที่ตั้งขึ้นมาดูแลพื้นที่ จ.ขอนแก่น

          ส่วนที่ตำแหน่งที่ฮือฮาของ ทบ. คือ พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผบ.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ที่มีส่วนการปราบปรามคนเสื้อแดง ขึ้นเป็นรอง แม่ทัพภาคที่ 1 ขณะที่ พ.อ.การุณ รัตนสุวรรณ น้องชาย พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้ขึ้นเป็น ผบ.กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ส่วน พล.ต.พะโจมม์ ตามประทีบ เสธ.นสศ. น้องชาย พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีบ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. นายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ขยับเป็น ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 3 กองพลทหารราบที่มีบทบาทสำคัญในการทำปฏิวัติรัฐประหาร และมีบทบาทในการปราบปรามการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเมษายนปี 52 และ 53 ได้มีการเปลี่ยน ผบ.กองพล โดยโยก พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผบ.กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) กลับเข้าเมืองนั่งเป็น ผบ.กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) เป็นสายตรง พล.อ.ดาว์พงษ์ ขณะที่ พ.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ.ส่วนทาง พล.ต.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผบ.มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ขยับเป็น ผบ.กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ซึ่งทั้งสองคนถือเป็นทหารสาย “บูรพาพยัคฆ์”

         ผู้สื่อข่าวรายงาน กองทัพเรือ(ทร.)ถือเป็นประวัติศาสตร์ของ ทร. ที่ตำแหน่ง 5 ฉลามเกษียณอายุราชการพร้อมกันหมด ทำให้มีการขยับตำแหน่งระดับหัวครั้งใหญ่ ทำให้นายทหารจาก ตท.13 ขึ้นเป็น 5 ฉลาม ทร.เกือบทั้งหมด โดยที่ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. “ตท.13” ที่ได้รับแรงสนับสนุนจาก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทร. เพื่อสานต่อโครงการเรือดำน้ำที่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งถือเป็นแคนดิเดทที่มีข่าวได้ตำแหน่ง ผบ.ทร.แบบนอนมากว่า 2 เดือนเลยทีเดียว

         ขณะที่ พล.ร.อ.วีรพล กิจสมบัติ หน.คณะฝสธ.ประจำ ผบ. “ตท.11” ขยับเป็น รองผบ.ทร. ส่วน พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ผู้ทรงวุฒิพิเศษ ทร. “ตท.12” ขึ้นเป็น ประธานคณะที่ปรึกษา ทร. ส่วนทาง พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ผู้ทรงวุฒิพิเศษ ทร. “ตท.13” ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทร. ส่วน หัวหน้าโครงการเรือดำน้ำมือสองเยอรมนี พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. “ตท.13” ขึ้นเป็น เสธ.ทร. และ พล.ร.ท.ฆนัท ทองพูล ผบ.กองทัพเรือภาค 1 “ตท.12” ขึ้นเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ พล.ร.ท.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ (อัตราพลเอก) พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร จากที่โผเดิมเคยมีข่าวว่าจะไปดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

          กองทัพอากาศ(ทอ.) พล.อ.อ.ศรีเชาวน์ จันทร์เรือง (ตท.12)ผช.ผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทอ. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง (ตท.13)เสธ.ทอ. เป็น ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.ท.วินัย เปล่งวิทยา (ตท.12) ผบ.ควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ(คปอ.) เป็น ผช.ผบ.ทอ. และ พล.อ.ท.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ (ตท.13)รองเสธ.ทอ. เป็น เสธ.ทอ

         สำหรับนายพลหญิงที่ได้รับการโปรกเกล้าฯมีทั้งหมด 11 คน คือ 1.พล.ต.หญิงดวงกมล สุคนธทรัพย์ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ 2.น.อ.หญิงฐิติวรรณ กาญจนโยธิน เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพไทย 3.พ.อ.หญิงอภินทร์พร พุธวัฒนะ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 4.พ.อ.หญิงวรรณรินทร์ เอี่ยมสอาด เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก

        5. พ.อ.หญิงภัสสรา ลาวัณย์ทักษิณ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก6.พ.อ.หญิงเกศินี ยุทธนาถจินดา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 7.น.อ.หญิงพัฒนทวิ ศรีสมวงศ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรมกรมแพทย์ทหารเรือ 8.น.อ.หญิงนภาวดี อิ่มพูลทรัพย์ เป็นผู้ชำนาญการกองทัพอากาศ 9.น.อ.หญิงประอรณี ถนัดพจนามาตย์ เป็นผู้ช่วยปลัดบัญชีทหารอากาศ 10.น.อ.หญิงเมตตา คันธา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ 11.น.อ.หญิงปทุมพร เหมโสรัจ เป็นผู้ชำนาญการกองทัพอากาศ

ที่มา: เวปไซด์เนชั่น

หมายเหตุ:อ่านรายละเอียดรายชื่อต่อตามสังกัดดังนี้

                 กระทรวงกลาโหม: http://www.rta.mi.th/data/300954/001.pdf

                 กองบัญชาการกองทัพไทย: http://www.rta.mi.th/data/300954/002.pdf

                 กองทัพบก:http://www.rta.mi.th/data/300954/army.pdf

                กองทัพเรือ: http://www.rta.mi.th/data/300954/004.pdf

                กองทัพอากาศ :http://www.rta.mi.th/data/300954/005.pdf