Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ฝ่าลมร้อนทะเลทราย ตามรอยศาสดามูฮัมมัด

ฝ่าลมร้อนทะเลทราย  ตามรอยศาสดามูฮัมมัด

โดย จอกอ
+++++++++

        มาชาอัลลอฮ์!

          “และพระองค์คือผู้ทรงหลั่งน้ำฝนลงมา หลังจากที่พวกเขาหมดหวังกันแล้ว และพระองค์ทรงแผ่กระจาย พระเมตตาของพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงคุ้มครอง ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ” (อัล-กุรอานซูเราะห์อัซซูรอ 42:28)

            ในท่ามกลางข่าวร้าย เมอร์สไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศซาอุดิอาระเบียก่อนหน้านี้  ผมก็พบตัวเองยืนอยู่บนผืนทรายกว้างใหญ่ ระอุร้อนด้วยอุณหภูมิ  ทะลุ 50 องศา ของประเทศซาอุดิอาระเบีย นี่คือประเทศที่ร่ำรวยและร้อนที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

            การเดินทางครั้งสำคัญในชีวิตครั้งนี้ เกิดขึ้น โดยคำเชื้อเชิญของกษัตริย์องค์ใหม่แห่งซาอุดิอาระเบีย  ซัลมาน บินอับดุลอาซีซ อาลาซอูด ในโครงการอุมเราะห์ 2015 ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงศาสนาและศาสนสมบัติฯ และสถานทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย

            กษัตริย์ซัลมาน วัย 79 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ หลังจากกษัตริย์อับดุลเลาะห์พระเชษฐาต่างมารดา  สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ พระองค์ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และรัฐมนตรีกลาโหมมาตั้งแต่ปี 2555 และเคยเป็นผู้ว่าราชการริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบียมายาวนานถึง 50 ปี

            อามีน ศิยาม ชาวซาอุฯ ผู้เคยมีบทบาทนายตำรวจ ทำหน้าที่ประสานงานติดตามคดีเพชรซาอุฯ อธิบายว่า นี่คือซะกาต ของกษัตริย์ซัลมาน

            ซะกาต เป็นทานภาคบังคับ เป็นหน้าที่สำคัญของมุสลิมทุกคนในความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการทดสอบศรัทธาของมนุษย์ทางหนึ่ง และกษัตริย์ซัลมาน ก็นับเป็นศรัทธาชนที่มั่นคงอย่างยิ่งในแนวทางนี้

          ซาอุดิอาระเบีย เป็นสถานที่ตั้งของ มหานครมักกะห์ อันเป็นที่ตั้งของอัล-กะบะอ์กิบลัต หรือทิศที่มุสลิมทั่วโลกจะต้องผินหน้ามาสู่เมื่อทำละหมาด และนครมะดีนะห์ ฐานที่มั่นและศูนย์บัญชาการใหญ่ของศาสดามูฮัมมัด ในการสถาปนารัฐอิสลามทั้งในรูปแบบอาณาจักรและศาสนจักร มั่นคงและต่อเนื่องยาวนานมาถึงวันนี้ 1436 ปี  

            อัล-กะบะอ์ หินรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ คลุมด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำ ปักอักษรจากคัมภีร์อัล-กุรอาน สีทอง ที่มุมหนึ่งวางตั้งไว้ด้วยหินดำ โอบล้อมด้วยอาคารมัสยิดดิลฮะรอม

            มัสยิดดิลฮะรอม  มัสยิดมะดีนะห์หรืออัล-บานาวีย์ รวมทั้งมัสยิดอัล-อักศอ ที่เยรูซาเล็ม เป็นสามมัสยิดสำคัญที่สุดบนเส้นทางประวัติศาสตร์อิสลาม

             โดยสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การมีอยู่อย่างน้อยของมะดีนะห์ และมักกะห์ ทำให้ซาอุดิอาระเบีย กลายเป็นประเทศมุสลิมที่ทรงอิทธิพลที่สุด แต่มะดีนะห์และมักกะห์ ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว และรัฐบาลซาอุฯก็ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาเยือนของมุสลิมนับล้านคนในแต่ละปี นอกจากรายได้จากการค้าน้ำมัน ในฐานะที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก

          ราคาน้ำมันในประเทศลิตรละ 4 บาท ทำให้ปริมาณรถยนต์ในท้องถนนแออัด คับคั่งยิ่งกว่ากรุงเทพช่วงวิกฤติ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ 3 เมือง มะดีนะห์ มักกะห์ ริยาด คนชาอุส่วนใหญ่ใช้รถยนต์โตโยต้าฮุนได และส่วนน้อยเชฟโรเลต เบนซ์และฟอร์ด

           นอกตึกราม บ้านช่อง ร้อนระอุดุจไฟเผา แต่ภายในเย็นฉ่ำด้วยแอร์ขนาดใหญ่ เปิด 24 ชั่วโมง บ้านพักอาศัย รัฐบาลจ่ายค่าไฟให้ครึ่งหนึ่ง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวซาอุดิอาระเบีย จึงนับว่าสุขสบายพอสมควร

การเดินทางครั้งนี้ เริ่มก้าวแรกที่มะดีนะห์....

          มะดีนะห์ เดิมชื่อยัษริบ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องเพราะเป็นสถานที่ ที่ศาสดามูฮัมมัด ฮิจเราะฮ์ หรืออพยพหนีภัยการต่อต้านศาสนาใหม่ ไปสู่เมืองที่ประชาชนให้การต้อนรับ  ประชาชนมะดีนะฮ์ ถูกเรียกว่า “อันศอร” หรือผู้ช่วยเหลือ “มูฮาญีรีน” คือผู้ที่อพยพมาจากนครมักกะห์ร่วมกับศาสดามูฮัมมัด

            มะดีนะห์ นับเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของมุสลิม และเป็นที่พำนักอย่างถาวรของศาสดามูฮัมมัด จนกระทั่งวะฟาด หรือวายชนม์ ศพของท่านถูกฝังอยู่ภายในบริเวณมัสยิดอัล–บะนาวีย์

          วันนี้ของมะดีนะห์ เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญแห่งหนึ่ง รายรอบมัสยิดอัล–บะนาวีย์ ตั้งไว้ด้วยตึกสูง ไม่เกิน 13 ชั้น ด้วยสถาปัตยกรรมประตูโค้ง และการตกแต่งแบบอาหรับ แบบเครือเถา เรขาคณิต ที่เน้นลวดลายมากกว่ารูปทรง เช่นเดียวกับที่มักกะห์ ตึกสูงจึงกลมกลืนไปกับมัสยิดสำคัญ ที่ยังคงความขรึมขลังในแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของชนชาติแห่งอาระเบีย

            สถาปัตยกรรมและรูปแบบของงานศิลปะ บนพื้นที่ทั้งอาคารสูง บ้านพักอาศัย สิ่งของ ถาวรวัตถุต่างๆ ล้วนเรียงร้อยด้วยรูปทรงเรขาคณิต และอักษรภาษาอารบิค ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ทดแทนรูปปั้น รูปเคารพต่างๆ รวมทั้งอัลลอฮ์และศาสดามูฮัมมัด ก็ปรากฏเพียงตัวอักษร  อันซ่อนความหมายที่ลึกซึ้ง ในการให้ผู้คนยึดมั่นและศรัทธาด้วยใจ มากกว่าติดยึดอยู่กับรูปวัตถุ

            ภายในมัสยิดอัล-บะนาวีย์ มัสยิดดิลฮะรอม รวมทั้งมัสยิดกุบา มัสยิดหลังแรกของอิสลาม ที่ชานเมืองมะดีนะห์ที่ได้ไปเยือน ไม่มีรูปปั้น ไม่มีรูปเคารพ หินดำที่มุมหนึ่งของกะฮ์บะห์ ก็มิใช่หินศักดิ์สิทธิ์ ที่มีไว้เคารพกราบไว้ นอกจากการไปสัมผัส การไปเฎาะวาฟ หรือเดินเวียนรอบ ตามแบบอย่างของศาสดามูฮัมมัดเท่านั้น

          ใกล้ๆ กับมะดีนะห์ มีสมรภูมิหนึ่งเรียกว่าอุฮุด  นับเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของอิสลาม และเป็นอุทาหรณ์สำคัญในการไม่เชื่อผู้นำ จนกองทัพมุสลิมพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ศาสดามูฮัมมัดบาดเจ็บ ฮัมซะฮ์ลุงของศาสดามูฮัมมัดเสียชีวิตในการรบ ถูกสับฟันร่างออกเป็นชิ้นๆ

            ความปราชัยที่สมรภูมิอูฮุด ของกองทัพมุสลิม เป็นบทเรียนที่ล้ำค่ายิ่ง สำหรับการไม่เชื่อผู้นำ ท่านศาสดาบาดเจ็บในการสู้รบครั้งนี้ เพราะพลธนูขาดวินัย กรูกันลงมาจากฐานที่มั่นบนเนินเขา ตรงข้ามภูเขาอูฮุด ด้วยสำคัญผิดว่าได้รับชัยชนะแล้ว ทั้งที่ศาสดา มีคำสั่ง

            'ให้รักษาฐานที่มั่นบนเนินเขา อย่าได้ละทิ้งที่มั่นเป็นอันขาด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม แม้จะเห็นฝูงนกโฉบไล่จิก บรรดาพลธนูก็ตาม'

            สงครามอูฮุด เกิดขึ้นในฮิจเราะห์ศักราชที่ 3 ณ เมืองมะดีนะห์

            มะดีนะห์ ยังเป็นแหล่งปลูกอินทผลัมพันธุ์ดี โดยสวนอินทผลัมใหญ่อยู่ที่ตำบลกุบา ซึ่งผืนดินอุดมมากกว่าที่อื่นๆ อินทผลัม ยังนับว่าเป็นผลไม้มหัศจรรย์ ที่ผูกพันใกล้ชิดกับเส้นทางประวัติศาสตร์อิสลาม

            บนผืนทรายที่แล้งร้อน จนมิอาจเชื่อว่าจะมีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้ มีความมหัศจรรย์ อย่างน้อยสองประการ หนึ่งน้ำมันใต้ทะเลทราย ซึ่งพลิกฟื้นแผ่นดินแล้งร้อน ให้กลายเป็นแผ่นดินทอง ด้วยรายได้จากการขายน้ำมันผ่านหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับจากปี ค.ศ.1980

            สอง อินทผลัม พืชในตระกูลปาล์ม ที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในโลกมุสลิม อย่างแนบแน่นยาวนาน

            ศาสดามูฮัมมัด ละศีลอดด้วยอินทผลัมสด ด้วยเหตุผลว่า การถือศีลอดทำให้กระเพาะอาหารว่างเปล่า เมื่อกินอินทผลัมสด จะทำให้ความหวานของมันไปหล่อเลี้ยงตับ และอวัยวะภายในของร่างกายกลับมาชุ่มชื้นขึ้นอีกครั้ง ในทางการแพทย์ อินทผลัม มีโปตัสเซียมสูงมาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย อินทผลัมบางชนิด เช่น ที่เรียกว่า อัจวะฮ์ เมล็ดสีดำๆ เล็กๆ ราคาแพงกว่าอินทผลัมชนิดอื่นๆ เป็นชนิดที่ดีสุดของมะดีนะฮ์ รสไม่หวานมาก ท่านศาสดาใช้เป็นยารักษาโรคด้วย

            ทั้งมะดีนะฮ์ และมักกะฮ์ มีอินทผลัม ขายโดยทั่วไป มีราคาตั้งแต่ 150 - 400 บาท หรือ 15 - 40 ริยัล/โล ภาพนี้เป็นแผงขายอินทผลัมหลากหลายชนิด ที่ตำบลบะดัร ชานเมืองมะดีนะฮ์ อุณหภูมิขณะถ่ายภาพ ทะลุ 50 องศา

             'และเธอ (มัรยัม) จงเขย่าต้นอินทผลัม ให้มันเอนมาทางตัวเธอ มันจะหล่นลงมาที่ตัวเธอเป็นอินทผลัมที่สดและสุกน่ากิน'(อัล-กุรอานซูเราะห์มัรยัม อายะห์ที่ 25)

            จากเส้นทางมะดีนะห์ สู่ใจกลางหัวใจของมุสลิมทั่วโลกที่นครมักกะห์ บนเส้นทางไฮเวย์ตัดผ่านผืนทะเลทรายกว้างใหญ่ ยาวราว 450 ก.ม.สองข้างทางฟุ้งกระจายด้วยเม็ดทราย ภูเขาสีน้ำตาล ว่างเปล่าด้วยต้นไม้ใบเขียว ตัดกับท้องฟ้าสีขาวไร้เมฆบัง นานๆ จะเห็นต้นอินทผลัม รายเรียงอยู่สองข้างทาง เบดูอิน หรือชาวอาหรับเร่ร่อน อาชีพเลี้ยงสัตว์ ต้อนฝูงแพะ และอูฐ ย่ำเดินไปบนพื้นที่ระอุร้อนราวเตาไฟ คล้ายกับเดินอยู่ใต้ร่มเย็นของเงาไม้

            อูฐเป็นทั้งสัตว์กินเนื้อ และใช้งาน ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย นับเป็นสัตว์ที่สำคัญที่สุดสำหรับคาบสมุทรอาระเบีย

             อูฐอาระเบียเป็นอูฐพันธ์หนอกเดียว แตกต่างจากอูฐสองหนอกแถบเอเชียกลาง อูฐหนอกเดียวจะมีอุ้งเท้าแบน กว้างและหนา ไม่จมทราย มันสามารถเดินทางบนทะเลทรายแล้งร้อนเป็นระยะทางไกล นมอูฐดื่มได้มีสารอาหารไม่แพ้นมชนิดอื่นๆ ขนอูฐทำเต็นท์ที่พัก อูฐจึงเป็นสัตว์ที่ทำให้ชีวิตทะเลทรายดำรงอยู่ได้

          อากาศร้อน และแห้งในทะเลทรายกว้างใหญ่ เกือบไม่มีฝนตลอดทั้งปี คนซาอุฯส่วนใหญ่ จึงสวมใส่ชุดยาวสีขาวคลุมข้อเท้า เสื้อแขนยาว เรียกว่าชุดโต๊ป สวมหมวกทรงกลมใบเล็ก ห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าคลุมลายตารางหมากรุกสีแดง หรือขาว ครอบด้วยเส้นเชือกมัดไขว้กันสองเส้น ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือกลางทะเลทราย ล้วนแต่งกายเช่นนี้ เป็นเหมือนชุดประจำชาติ

             การใช้ผ้าคลุมศีรษะ เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่ง ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลทราย เป็นผ้าที่ใช้ปูนอน ปูละหมาด แทนเชือก กันหนาว ป้องกันฝุ่น ความร้อน และกันแดด เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ไม่แตกต่างไปจากผ้าขาวม้าของไทย

           และเมื่อมาถึงมะดีนะห์ และมักกะห์ ผมก็ปรากฏกายเช่นนี้

          ภารกิจสำคัญยิ่งของการเดินทางครั้งนี้ คือการทำอุมเราะห์  แปลว่า การเยี่ยมเยียนสถานที่พำนักของศาสดา

             พิธีเริ่มจากการตั้งใจจะประกอบพิธีอุมเราะห์ อยู่ที่ซุล-ฮุลัยฟะฮ์ เรียกว่า 'มีกอต' เมื่อถึงมีกอต ก็เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นนุ่งห่มด้วยผ้าขาวสองชิ้น เปิดไหล่ขวา โดยผ้านั้นต้องไม่มีรอยเย็บ  เมื่อถึงมักกะห์จะเฏาะวาฟ คือเดินเวียนซ้ายรอบกะห์บะห์ 7 รอบ ก่อนสะแอ คือเดินจากเนินเขาเศาะฟากับมัรวะฮ์ ระยะทาง 450 เมตร 7 เที่ยว จบด้วย 'ตะหัลลุล' คือตัดผมส่วนหนึ่งหรือโกนผม เป็นอันเสร็จพิธี

            เราอาจคาดไม่ถึงว่า สภาพฟ้าจรดทรายร้อนแล้งเช่นนี้ เหตุใดมนุษย์ผู้ยืนหยัดศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวถึงอยู่ได้อย่างยาวนานนับพันปี

              เราอาจไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนคนเลวให้เป็นคนดีได้อย่างไร

            แต่มูฮัมหมัดได้เปลี่ยนชาวอาหรับในยุคญาฮิลียะห์ คือยุคแห่งความชั่วร้าย การฆ่า และปล้นสะดม การอยู่ในสังคมไร้ระเบียบ ที่มีเทวรูป 360 องค์ ณ มหานครมักกะห์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของคนต่างเผ่า มาเป็นคนอาหรับที่เป็นหนึ่งเดียวมีอารยธรรม มีน้ำใจ อ่อนน้อม ถ่อมตัว นับถือพระเจ้าองค์เดียว ด้วยเพียงสิ่งเดียว

          นั่นคืออิสลาม

 
หมายเหตุ: ตีพิพม์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2558