Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   Halal focus :Raya Festival 2015

Raya Festival 2015 จุดเริ่มต้นสู่เวทีธุรกิจฮาลาลภูมิภาค

+++++++++++++++++

              สินค้าฮาลาลจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สร้างสีสันให้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ คึกคักได้ไม่น้อย ในงาน “Raya Festival 2015”

             อาจารย์สืบศักดิ์ กลิ่นสอน ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวถึงการจัดงานงาน “Raya Festival 2015”ว่า เราได้เตรียมงานกันมาตั้งแต่ 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่นโยบายของรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยววิถีมุสลิม ในเรื่องของอาหาร รวมถึงการบริการที่ฮาลาล เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

            “สิ่งหนึ่งที่สถาบันฮาลาลฯ มองเห็น คือ เทศกาลเดือนรอมฎอน หรือในช่วงเทศกาลวันตรุษอีดิลฟิตรี ประกอบกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ ให้ความสนใจจัดงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของมุสลิม จึงได้จัดงานในวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา”

          
  งาน Raya Festival 2015 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศไทย ด้วยการจัดการท่องเที่ยวของวิถีมุสลิม นำอาหารและสินค้าฮาลาลรวมถึงการนำเสนอวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิมหรือวัฒนธรรมมลายู วัฒนธรรมภาคใต้ มีการจัดการบรรยายและการเสวนา ที่เกี่ยวข้องกับวันฮารีรายา หรือการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเดือนรอมฎอน  นอกจากนี้ยังเสวนาเรื่องการท่องเที่ยว ทำอย่างไรเพื่อรองรับสำหรับพี่น้องมุสลิมโดยมีองค์กรท่องเที่ยว อาทิเช่น สมาคมโรงแรม หอการค้า ร่วมเสวนาด้วย

            อาจารย์สืบศักดิ์  กล่าวอีกว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เป็นศูนย์การค้าที่ผู้ประกอบการจำนวนมาก ใฝ่ฝันอยากมาใช้เป็นพื้นที่ขายสินค้า วันนี้เราให้มีโอกาสเอาสินค้ามาขึ้นห้าง ขณะเดียวกัน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ เองก็จะมีโอกาสมองหาสินค้าฮาลาลมาต่อยอดการขายได้อีกด้วย

            การจัดงาน “Raya Festival 2015เป็นการจัดงานที่เราได้เริ่มต้น และให้เป็นหนึ่งในเทศกาลของงานหาดใหญ่ ในปีถัดไปน่าจะสร้างความสนใจได้มากขึ้น และเป็นการสร้างความสนใจให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมเพื่อมาต่อยอดในระยะยาวอีกด้วย

            ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงภารกิจสถาบันฮาลาล ว่า สถาบันฮาลาลเป็นหน่วยงานทางวิชาการ โดยทางมหาวิทยาลัยได้กำหนดนโยบายให้สถาบันฮาลาล เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ต่างๆ ในการผลักดันให้สำหรับผู้ประกอบการทุกระดับไปสู่มาตรฐานฮาลาลให้มากขึ้น

            ทั้งนี้ สถาบันฮาลาล เราร่วมกับฝ่ายวิชาการคณะต่างๆ เช่น อาหาร เรามีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร เป็นพี่เลี้ยงช่วยบ่มเพาะในเรื่องของความรู้ด้านเทคโนโลยี ให้ใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม ปราศจากฮารอม นอกจากนี้ ในมหาวิทยาลัยฯ ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องของการทำธุรกิจ เราก็นำเข้าไปที่เครือข่ายของมหาวิทยาลัย คือศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจชุมชน ให้ได้รับการฟูมฟักและให้ความรู้ทำให้เป็นนักธุรกิจ เป็นผู้ผลิตได้ด้วย

            ถ้าต้องการพิสูจน์คุณภาพฮาลาล เรามีห้องปฏิบัติการวิจัยและวิเคราะห์อยู่ในมหาวิทยาลัย ทางสำนักงานพร้อมที่จะนำตัวอย่างเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ ผู้ประกอบการที่ผ่านกระบวนการพัฒนา สามารถใช้เครือข่ายของมหาวิทยาลัย เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ถ้าเป็นเครื่องสำอางและสมุนไพร เราก็มีคณะเภสัชฯ  ส่วนระบบของการท่องเที่ยว เราก็มีวิชาวิทยาการจัดการโรงแรม เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการมาตรฐานอาหารฮาลาล สามารถใช้กลไกของมหาวิทยาลัยได้ทุกสาขา ช่วยในการพัฒนาผู้ประกอบการ นี่คือจุดแข็งของเรา

            อาจารย์สืบศักดิ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการสถาบันฮาลาลตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการมาขอคำปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 400 ราย ที่ผ่านกระบวนการอบรมพัฒนา ทั้งระดับอบรมแบบธรรมดา อบรมเชิงปฏิบัติการ ขบวนการบ่มเพาะ ตลอดจนผลักดันไปสู่มาตรฐาน ในจำนวนนี้มีสินค้ามากกว่า 1,000 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร รวมถึงธุรกิจบริการ ซึ่งบทบาทของสถาบันฮาลาลพร้อมที่จะเข้าไปช่วย และนำเข้ามาบ่มเพาะ พร้อมที่จะสร้างคนเหล่านี้ นี่คือภารกิจของสถาบันฮาลาล

            ด้วยนโยบายของมหาวิทยาลัย ตั้งปณิธานว่าเราจะช่วยเหลือชุมชน สังคม องค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อบริการชุมชน ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น ล่าสุดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน  หรือกอ.รมน. ให้มหาวิทยาลัยฯ เข้าไปช่วยผู้ประกอบการหรือชุมชน ทำกิจกรรมที่สร้างคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีกินดี โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นแกน

            อย่างไรก็ตาม โครงการที่สถาบันฮาลาลดำเนินการในการยกระดับผู้ประกอบการไปสู่ความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน ก็เป็นสิ่งที่ตอบสนองของประเทศ จะเห็นอีกภาพหนึ่งของมหาลัยฯ ไม่เพียงแต่ผลิตบัณฑิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีภารกิจในการผลักดันสร้างสังคมให้มีคุณภาพควบคู่ไปด้วย



+++++++++++++++++
ตีพิพม์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับสิงหาคม 2558