Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   องค์กรศาสนาเปลี่ยนหรือไม่...อยู่ในมือ อิหม่าม 39 จังหวัด (ตอน1)

เปิดมุมมอง การคัดเลือก กรรมการอิสลาม ทั่วประเทศ

องค์กรศาสนาเปลี่ยนหรือไม่...อยู่ในมือ อิหม่าม 39 จังหวัด (ตอน1)

+++++++++++++++

              วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ 39 จังหวัด จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง หลังจากมีวาระ 6 ปี โดยคาดว่าวันที่ 27 พฤศจิกายน ก็จะมีการคัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่



             แม้ว่าคณะกรรมการชุดนี้จะไม่หมดวาระทันที แต่บรรยากาศการเตรียมหาเสียงและการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เริ่มมีการเคลื่อนไหว บ้างก็มีรายงานว่ามีการตกเขียวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว บางพื้นที่มีการเตรียมวางตัวผู้สมัคร และแข่งขันกันอย่างดุเดือด

เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิตยสาร ดิ อะลามี่ ได้เปิด Forum “ การคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กับบทบาทของมัสยิด ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ  ” เมื่อวันเสาร์ ที่ 7 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมอัลมีรอช กรุงเทพมหานคร

            นายประมาณ มุขตารี ประธานสภาองค์กรสภามุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเสวนาในครั้งนี้ว่า เป็นที่ทราบกันแล้วว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 39 จังหวัด สิ้นสุดวาระ 6 ปี ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 นี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอิหม่าม นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง และถือว่าการคัดเลือกในครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของสังคมมุสลิม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัด และบทบาทของมัสยิด ในการพัฒนา

และเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือก และผู้ถูกเลือก ได้รับทราบถึงเสียงสะท้อนและความคาดหวังของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้น และจูงใจให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทำงานอย่างเข้มแข็ง อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ 

จึงได้เชิญชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้แทนจากกรมการปกครอง กระทรวงหมาดไทย ในฐานะผู้กำกับองค์กรศาสนา ตามพระราชบัญญัติองค์กรบริหารอิสลาม ฉบับ 2540 ตลอดจนภาควิชาการ นักกฎหมายนักการเงิน และภาคประชาสังคม มาร่วมกันเสวนา เพื่อระดมความเห็นอันก่อเกิดประโยชน์ต่อองค์กร พร้อมเสนอความคิดเห็นและการเสนอแนะจากทุกท่านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

“ พร้อมกันนี้ เราจะเฝ้าติดตามการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะมีขึ้นดังกล่าว เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่อย่างไร เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนต่อไป ” นายประมาณ กล่าว

            นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดนี้ทั้ง 39 จังหวัด หมดวาระในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เบื้องต้นจากการหารือร่วมกันทั้งกรมการปกครอง และ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย โดยได้เห็นชอบวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ทุกฝ่ายน่าจะมีความพร้อม จึงได้แสนอต่อกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตามวันคัดเลือกที่ชัดเจนจะต้องรอการประกาศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง

สำหรับพระราชบัญญัติองค์กรบริหารศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540  กำหนดองค์กรการบริหารศาสนา เป็น 4 ลำดับ คือ 1.จุฬาราชมนตรี ซึ่งจะได้รับการสรรหาจากที่ประชุมของคณะอิหม่าม รองลงมาคือ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีท่านจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และมีคณะผู้แทน 39 จังหวัด มาเป็น กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และบวกด้วยส่วนที่ ท่านจุฬาราชมนตรี จะพิจารณาคัดเลือกมาทำหน้าที่ อีก 1 ใน 3 ของจำนวนผู้แทน จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  

“ สำหรับคณะกรรมการกลาง มีทั้งหมด 53 ท่าน ซึ่งจะได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง จึงเป็นองค์กรสำคัญ ในการบริหารองค์กรศาสนาของประทศไทย ”

รองลงมาคือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 39 จังหวัด ทั้งนี้จังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้นั้น ต้องมีมัสยิดที่จดทะเบียน ตั้งแต่ 3 แห่งขึ้นไป จะมีคณะกรรมการประจำจังหวัดได้ 1 คณะ  ส่วนจำนวนกรรมการขึ้นอยู่กับจำนวนในมัสยิดในจังหวัดนั้นๆ โดยมีคณะกรรมการได้ต่ำสุด 9 คน สูงสุด 30 คน

            องค์กรลำดับต่อไปคือ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด  ทุกมัสยิดจะมีองค์ประกอบ คือ อิหม่าม, คอเต็บ, บิหลั่น  จะต้องเป็นหลักในตัวองค์คณะมัสยิด จากการคัดเลือกของสัปบุรุษที่อยู่ในทะเบียนของมัสยิดแห่งนั้น มีประมาณ 15 คน มีอำนาจเรื่องการบริหารงานของมัสยิดและทรัพย์สินของมัสยิด และดูแลสัปบุรุษ