Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   THA 2017 โชว์ ภูมิปัญญาฮาลาล นวัตกรรมฝีมือคนไทยสู่เวทีโลก

THA 2017 โชว์ “ภูมิปัญญาฮาลาล” นวัตกรรมฝีมือคนไทยสู่เวทีโลก

++++++++++++++++++

             สำนักข่าวอะลามี่ : “ THAILAND HALAL ASSEMBLY หรือ THA 2017 ” โชว์ ศักยภาพ และนวัตกรรม การพัฒนาฮาลาลไทย สู่เวทีโลก ในธีม “ ภูมิปัญญาฮาลาล ” ณ หอประชุมไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-3 ธ.ค.2560 โดยมีท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด


              รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงาน THA 2017 กล่าวถึงการจัดงาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2017 ” หรือ THA 2017  ระบุว่างานนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังประเทศต่างๆ บนพื้นฐานของประเทศไทยที่มีอัตลักษณ์ด้านฮาลาลที่หลากหลาย

            อย่างไรก็ตาม ฮาลาลไทย ไม่สามารถขยายตัวไปสู่ความสำเร็จได้ หากเราไม่ได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากภาคเอกชน หมายถึงในสมัยท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ ซึ่งเป็นยุคของการเริ่มต้นที่ เป็นเพียงความต้องการเอกสารรับรองฮาลาล เพื่อการส่งออกสินค้าในขณะนั้น

             หลังจากนั้น นับตั้งแต่ปี 2545 มีการจัดตั้ง สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจของผู้นำศาสนาอิสลาม

             รศ.ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ฮาลาลไม่ได้เป็นของมุสลิมเพียงอย่างเดียว เพราะมีผู้ประกอบการฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิม 95 % ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาล ประมาณ 186,000 ผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ SME แต่เขาพยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความฮาลาลที่สมบูรณ์

             สำหรับงาน HALAL ASSEMBLY 2017” ปีนี้ สาระหลักเราใช้ชื่อว่า “ภูมิปัญญาฮาลาล” ทั้งนี้คำว่า ภูมิปัญญา มาจากคำว่า ฮิกมัต แปลว่า วิทยปัญญา แต่ ภูมิปัญญาฮาลาล ประเทศไทย เป็นการนำเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ ศิลปะอิสลาม หรือ อิสลามิกอาร์ต (Islamic Art) เข้ามาร่วม เป็นจุดบรรจบพลังปัญญาของฮาลาล ที่ทำให้มีความโดดเด่น

            ในงานนี้ประกอบด้วย การประชุมวิชาการระหว่างประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้า (ครั้งที่ 10 ) เป็นการประชุมมาตรฐานฮาลาล ระหว่างประเทศ ด้านมาตรฐานฮาลาล การตรวจรับรองฮาลาล (ครั้งที่ 4)  

           นอกจากนี้ยังมีการประชุมด้านมาตรฐานฮาลาล โดยใช้คำว่าInter Halal Standard Convention ”  ทั้งนี้จากการชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้วเราได้ข้อตกลงหลัก ผู้กำหนดมาตรฐานและผู้ตรวจรับรองจะต้องเป็นมุสลิม เป็นข้อยุติไม่มีข้อโต้แย้งกันอีก แต่ปีนี้เราจะพูดถึงในเรื่องของการยอมรับซึ่งกันและกัน ในตัวมาตรฐานกลาง

            นอกจากนี้ยังมีงานนิทรรศการ พลังฮาลาลของประเทศไทย ซึ่งจะนำเสนอในลักษณะของดิจิตอล และภายในงานยังมี  Thailand Halal Inter National Expo ”  ที่เราเรียกว่า THA 2017” ซึ่งในงานนี้จะมีร้านค้าแสดงสินค้าประมาณ 300 บูธ

           “ ในงานนี้เราจะไม่เน้นเรื่องการค้าเป็นสำคัญ แต่เราจะเน้นถึงเรื่องของการพัฒนา และจะมี Business Matching  เน้นเรื่องการเจรจา ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากหลายประเทศที่จะนำนักธุรกิจมา เช่น สถานกงสุลไทยในประเทศซาอุดิอาระเบีย จะนำนักธุรกิจมา ถือว่าเป็นข่าวดี ที่ประกาศชัดเจนเป็นครั้งแรก สถานกงสุลไทยในเจดดาห์ และสถานทูตไทยใน ริยาร์ด จะส่งคนระดับสูงของประเทศมาร่วมงานด้วย ”

            การจัดงาน THA 2017 ในปีนี้จะจัด 2 ฮอลล์ใหญ่ โดยแต่ละฮอลล์ จะมีพื้นที่ประมาณ 6,000 ตารางเมตร หรือ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 11,000 ตารางเมตร  

            รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ในฐานะประธานจัดงาน THA 2017 กล่าวถึงความคาดหวังการจัดงานในครั้งนี้ว่า การพัฒนากิจการฮาลาลในประเทศไทย มีความจำเป็นต้องมีจุดบรรจบที่พอดีกับนโยบายของรัฐ การประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นการยกระดับของเทศไทยให้ก้าวข้ามไปสู่นวัตกรรมและทำให้เราทำงานน้อยลง แต่จะได้ผลตอบแทนมีคุณค่ามากขึ้น ด้วยการใช้นวัตกรรมต่างๆ

             เพราะฉะนั้นวงการฮาลาลไทย เราก็ก้าวมาสู่จุดนั้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น อาหาร เครื่องสำอาง เวชสำอาง เรื่องการบริการ เช่น การแพทย์, การบริการท่องเที่ยว, โลจิสติกส์ การขนส่งบนเส้นทางคมนาคม ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำของประเทศ

            สำหรับงานนี้คือสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมาและจะมีไฮไลท์มาโชว์ให้กับผู้ที่เข้ามาในงาน ซึ่งจะเห็นว่า นี่คือความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย และสถาบันวิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเราจะไม่พูดว่าเป็นสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาคต่างๆ และอีกหลายกระทรวง ที่ให้ความร่วมมือและสู่ความสำเร็จ

          “ สำหรับปีนี้ เราขยายงานจัดเพิ่มเป็น 4 วัน ดังนั้น ถ้ามาวันเดียวก็อาจจะไม่หมด สำหรับคนที่จะสนใจในเรื่องต่างๆ เช่น การประชุมด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยนมาตรฐานฮาลาลทั่วโลก และการที่จะไปเชื่อมสัมพันธ์ทางธุรกิจ ก็สามารถเจรจากับผู้ที่มาออกบูธได้ เป็นการต่อยอดทางธุรกิจได้อีกด้วย ”


           รศ.ดร.ปกรณ์ กล่าวย้ำ ว่า “ฮาลาลเป็นเรื่องของคนทั้งโลก และวันนี้ ฮาลาลของประเทศไทยเรามีส่วนสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาต่างๆ ที่เหมือนกับเราต้องมาช่วยกันทำงาน  และ ฮาลาลที่ไม่ใช่ของใคร แต่ฮาลาลเป็นทรัพย์สินทางปัญญาคนมุสลิมทุกคน เป็นสิ่งที่อัลเลาะห์(ซ..) ทรงประทานปัจจัยยังชีพที่ดีและมีคุณค่า ที่ได้รับการอนุมัติ มนุษยชาติทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสรรสร้างคุณค่าแก่ผู้บริโภคทั่วโลก และที่สำคัญ ฮาลาล ไม่ได้เป็นผลประโยชน์แต่เพียงมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วย”

            โดยในงานนี้ เราจะเห็นพลังที่สานโยงด้วยคำว่า “ ภูมิปัญญาฮาลาล ” พูดถึงเรื่องพัฒนาการของฮาลาล และ เวทีฮาลาลไทยเวทีโลกในโลกมุสลิม และในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเรื่องของความร่วมมือกันที่จะนำนวัตกรรมกรรมของฮาลาลไทย ไปสู่ในเวทีต่างๆ ซึ่งจะนำมาแสดงในงาน THA 2017 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2017 ที่จะถึงนี้