Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   อนุมัติ อาหมัด จากนักธุรกิจชายแดนใต้ สู่ บุคคลากรทางการเมือง

อนุมัติ อาหมัด จากนักธุรกิจชายแดนใต้ สู่ บุคคลากรทางการเมือง

+++++

          สำนักข่าวอะลามี่ :  “ จากผู้ชายคนหนึ่งที่เติบโตมาด้วยอาชีพปศุสัตว์ สั่งสมประสบการณ์ วิธีคิด ต่อยอดมาด้วยธุรกิจพลังงานและคลังสินค้า จนประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ มีบทบาทเพื่อประชาชนด้วยการเดินเข้าสู่บุคคลากรทางการเมือง พร้อมวิสัยทัศน์ที่จะนำพาสงขลาสู่เมืองชายแดนชั้นนำของประเทศไทย “


            วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับ อนุมัติ อาหมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะดามี่ จำกัด ในฐานะนักธุรกิจด้านพลังงานจากชายแดนใต้ วันนี้ เขามาโลดแล่นบนถนนการเมืองระดับแถวหน้าของประเทศ 

                ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นายอนุมัติ อาหมัด เริ่มต้นชีวิตทางธุรกิจในวงการปศุสัตว์ ซื้อขายวัว ทั้งในและระหว่างประเทศ โดยมีข้อได้เปรียบนักค้าคนอื่นๆจากความสามารถในการสื่อสารภาษาบาฮาซ่า มาเลเซีย ทักษะทางด้านภาษาได้รับการซึมซับมาจากการมีบ้านเกิด และ เติบโตมาในเมืองชายแดนอย่าง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

               ชีวิตในวัยเยาว์เติบโตมาอย่างราบเรียบในครอบครัวชาวสวน โดยมีบิดาเชื้อสายปากีสถาน และ มารดาชาวไทยมุสลิม อนุมัติ เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวอาหมัด ที่มีพี่สาวและน้องสาวอีกกว่า 5 ชีวิต และน้องชายบุญธรรมอีก 1 คน การเป็นผู้ชายในครอบครัวที่มีผู้หญิงเยอะ จึงต้องเป็นผู้นำและเป็นที่พึ่งให้ทุกคนในครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้

                ชีวิตทางธุรกิจด้านปศุสัตว์ถึงคราวหักเหเข้าสู่ธุรกิจพลังงานและคลังสินค้า ประสบการณ์และกลยุทธ์ที่เรียนรู้จากธุรกิจก่อนหน้านี้ได้ถูกนำมาปรับใช้ และส่งผลให้ “อนุมัติ อาหมัด” ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและสามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้ 

              อนุมัติ เป็นคนรักเพื่อน และมีเพื่อนเยอะ เนื่องจากเป็นคนอารมณ์ดี ชอบช่วยเหลือเพื่อนพ้องเมื่อมีโอกาส เป็นคนที่ชอบเรียนรู้ และ มุ่งมั่นในปณิธานที่ว่า “ หากมีโอกาสจากพระผู้เป็นเจ้า ให้มีความพร้อมที่จะทำเพื่อผู้อื่น และ พัฒนาสังคมได้ อนุมัติ จะทำ..”

         
              นามสกุล “อาหมัด” พร้อมทั้งหน้าตาคมเข้มของผู้ชายที่ชื่อ “อนุมัติ” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมจังหวัดสงขลา และ ระดับประเทศ เมื่อได้รับเลือกตั้งให้เป็น สว.สงขลา ในปี พ.ศ. 2557 ด้วยคะแนนเสียงสูงสุดในจังหวัดสงขลา หัวเมืองของภาคใต้ ตำแหน่ง สว. ในวันนั้น อนุมัติ มีโอกาสได้ทำงานเพียงแค่ 22 วัน ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง แต่เหมือนเบื้องบนเห็นความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ อนุมัติ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งมีหน้าที่ในการตรากฎหมาย, ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

              “ ตั้งแต่เด็ก ผมก็สนใจในเรื่องของการเมืองมาโดยตลอด เพราะรู้ว่าการเมืองสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีของชีวิตคนได้ การเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องของชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน

            เขาบอกว่า เมื่อความสนใจในตรงนี้มันเริ่มก่อตัว และ สะสมมาจนเป็นประสบการณ์ รวมทั้งความพร้อมในด้านอื่นๆ จึงตัดสินใจเข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วยการเสนอตัวเป็นทางเลือกให้กับเมืองบ้านเกิด ในเวที สมาชิกวุฒิสภา

           “ เมื่อผมรับผิดชอบกับตัวผมเองได้ ผมจะต้องรับผิดชอบพี่น้องผม และครอบครัวผมให้ได้ หลังจากนั้นถึงจะเข้าไปช่วยเหลือและดูแลในสังคมของผม ก่อนที่ผมจะกระจายออกมาข้างนอก วันนี้ผมไม่ได้กังวลถึงเรื่องส่วนตัว ผมคิดถึงเรื่องส่วนรวม... อย่าบอกนะว่าเรื่องการเมืองไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่าย ผมไม่ได้กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และเราก็ไม่ได้คิดเรื่องการหาเศษหาเลยหรือกอบโกยจากการเมือง ซึ่งมันข้ามพ้นความคิดผมไปแล้ว อนุมัติ กล่าวและเสริมว่า

            ที่สำคัญธุรกิจของผมไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการเมือง เพราะผมประสบความสำเร็จก่อนที่จะก้าวมาในทางการเมืองเสียอีก อีดทั้งการต่อยอดธุรกิจของผม ก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองเลย

           เขากล่าวถึงการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในจังหวัดสงขลา ชนะเป็นที่หนึ่ง คะแนนเสียงอย่างถล่มทะลาย ว่า เราเองยังตกใจกับคะแนนที่ได้รับ ผมเชื่อว่าคนสงขลาเป็นคนที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพ ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่า ผมก้าวมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนพี่น้อง และพิสูจน์ได้ว่าผมจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณของประเทศ

            “ วันนี้ได้รับการคัดเลือกให้มาเป็น สนช.ผมก็ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการเศรษฐกิจการเงินการคลัง กรรมาธิการการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและแรงงาน ซึ่งเป็นคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และ แรงงาน ซึ่งเหมาะกับบุคลิกและประสบการณ์ของเรา จะได้เอาประสบการณ์ที่สั่งสมมา มาใช้ในการดูแล บริหาร และ พัฒนาประเทศ”



            บทบาท หน้าที่ในฐานะ สนช. จากวันนั้นมาถึงวันนี้ 3 ปีกว่า นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฏหมายต่างๆซึ่งเป็นกรอบในการพัฒนากติกาของประเทศ การที่ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมาธิการ การเงิน การคลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม และแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับปากท้องของพี่น้องประชาชน ปัจจัยหลักของการพัฒนาประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชน ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหา ข้อติดขัดต่างๆอย่างสุดความสามารถ

            อนุมัติ กล่าวว่า มีงานอยู่ 2 เรื่องหลักๆที่เป็นความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ สนช. อย่างแรกคือ การได้มีโอกาสนำเอาความรู้และประสบการณ์มาใช้ในการตรวจสอบการบริหารจัดการในส่วนของข้าราชการหรือภาครัฐ ซึ่งกระทบต่อพี่น้องประชาชน

            อีกเรื่องที่ถือว่าภาคภูมิใจ และ เกี่ยวข้องกับพี่น้องมุสลิมโดยเฉพาะ คือ เรื่อง พรบ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์  เรื่องฮัจย์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวมุสลิมทุกคนโดยตรง และเป็นเรื่องสำคัญที่ยังไม่เคยมีใครสามารถผลักดันให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และ แก้ไขกฎหมายให้มีความทันต่อยุคสมัยได้สำเร็จ

              อย่างไรก็ตามก่อนร่างที่จะเสนอจะผ่านการพิจารณา พรบ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์  เป็นกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2523  และหลังจากนั้นก็ไม่มีการพัฒนาใดๆเกิดขึ้นเลย จนในที่สุด อนุมัติ ก็ผลักดันให้มีการออก พรบ.ที่อำนวยความสะดวกกับพี่น้องมุสลิมมากขึ้น ตรงประเด็น ทันต่อยุคสมัยมากขึ้น เรื่องฮัจย์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ ฮัจย์ คือหัวใจของศาสนาอิสลามซึ่งเป็น 1 ใน 5 หลักปฎิบัติเบื้องต้นของอิสลาม

            “ สิ่งที่ผมพยายามทำมากที่สุด หลังจากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ จะทำอย่างไรให้พี่น้องที่แสวงบุญได้ความยุติธรรม ทั้งในเรื่องเดินทางและเรื่องของราคาการไปประกอบพิธีฮัจย์ หมายถึงว่า ราคาจะต้องเหมาะสมกับเรื่องของบริการ“

             จากประสบการณ์ที่เขาไปฮัจย์ มาหลายครั้ง ไปมาทุกรูปแบบ ตั้งแต่แบบธรรมดา วีไอพี และไปส่วนตัว จนรู้หมดทุกกระบวนการ สุดท้ายพอเกิดการเปลี่ยนแปลง วันนี้คนที่ได้ประโยชน์ คือพี่น้องที่เดินทางไปแสวงบุญที่เมือง มักกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย

            “วันนี้ถ้าคุณไปถามผู้ประกอบการ หรือแซะ เขาจะบอกว่า วันนี้กำไรมันน้อยมาก ก็แสดงว่า ที่ผ่านมากำไรเยอะ สิ่งที่สำคัญวันนี้เหมือนกับถูกบังคับ ผู้ประกอบการจะต้องมีโบรชัวร์ แสดงให้เห็นว่าราคาที่เสนอกับการดูแลฮุจยาจ จะได้ ที่อยู่ ที่กิน ที่พักแบบไหน เหมาะสมกับราคาหรือไม่ เปรียบเทียบได้ และ ทำให้เกิดการแข่งขันในด้านการบริการที่เหมาะสมมากขึ้น และประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้บริโภค วันนี้ถึงแม้ว่าในเรื่องการตรากฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่กระบวนการจัดการยังไม่ร้อยเปอร์เซ็น ซึ่งก็ต้องตามดูกันต่อไป”

            ในฐานะที่เป็นคนสงขลา เขามองถึงศักยภาพ และ ทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา ว่า ควรมีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ทางทะเล การขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ ดังนั้นการพัฒนาท่าเรือ และ สาธารณูปโภคที่ส่งเสริมการขนส่งทางทะเลในจังหวัดสงขลา จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัด และภูมิภาค รวมถึงอุตสาหกรรมในภูมิภาคที่สำคัญ เพราะสงขลาเป็นเมืองชายแดนใต้ที่ติดทะเล ใกล้เส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศ และเป็นเมืองใหญ่ในภาคใต้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม

            ในอนาคตข้างหน้า การขนส่งทางทะเล จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้นทุนของสินค้า ถ้าสามารถควบคุมหรือบริหารให้ดี สามารถทำให้ราคาสินค้าชนะคู่แข่งได้ การขนส่งทางทะเล จะเป็นการขนส่งที่ลดต้นทุนได้มหาศาล  ในขณะที่ในจังหวัดสงขลา เราพูดเรื่องการสร้างท่าเทียบเรือมาหลายสิบปี ท่าเรือน้ำลึกสงขลาที่มีอยู่ก็แออัดมาก และเฟสใหม่ ก็ยังไม่สามารถขยายพื้นที่ได้เนื่องจากติดปัญหากับชุมชน

           การพัฒนาท่าเรือ จะสามารถช่วยเหลือภาคเกษตร อาทิเช่น ไม้ยางพารา เศษไม้ยางพารา ซึ่งภาคเหนือและภาคกลาง อยากจะได้เศษไม้ไปทำอุตสาหกรรมอื่นๆเช่นอุตสาหกรรมกระดาษ สินค้าทางการเกษตรอื่นๆหรือในส่วนชีวมวล (ทำเชื้อเพลิง) หรือ โปรดักส์ อื่นๆ ก็ไม่สามารถมารับซื้อได้ เพราะข้อจำกัดเรื่องการขนส่ง

            การขนส่งทางเรือจะลดต้นทุนมหาศาล ทำให้โอกาสที่เกษตรกรสามารถขายไม้ยางพารา และ ยางพารา ในราคาสูงขึ้น และจะเป็นกาช่วยแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ รวมถึงส่งเสริมการซื้อขายสินค้าอื่นๆ และเป็นการเพิ่มการจ้างงานหากมีการขยายโลจิสติกส์ทางทะเลมากขึ้น ในระยะยาวจะเกิดการกระจายรายได้  และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานให้พี่น้องจากพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้ เข้ามาทำงาน และ มีรายได้

              “ ผมยังมองถึงโอกาสการเชื่อมต่อกับฝั่งตรงข้ามทะเลของบ้านเรา อย่าง เวียดนาม กัมพูชา และจีน ที่ผ่านมา มาเลเซียเขาสามารถเชื่อมโยงต่อได้หมด ทำไมประเทศไทยไม่มี นี่คือความเสียโอกาส “

              นอกเหนือจากการส่งเสริมการขนส่งทางทะเล การพัฒนาด่านที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และ คู่ค้าชายแดนสำคัญเช่นประเทศมาเลเซีย ผ่านด่านสะเดา ก็เป็นโครงการที่ต้องมีการพัฒนาให้ถูกทาง และ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

              ด่านนอก ด่านชายแดนอ. สะเดา มีแนวพรมแดนติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศ มาเลเซีย เป็นด่านที่สำคัญต่อเศรษฐกิจชายแดน ด่านนอก เป็นด่านที่มีการขนส่งสินค้าส่งออกสูงสุดของประเทศ หรือ ประมาณ 60% ของการค้าชายแดน ในขณะนี้กำลังมีการพัฒนาด่านเพื่อรองรับผู้ใช้บริการ และ การค้าชายแดนที่เพิ่มมากขึ้น

             การเป็นคนท้องที่ที่รับรู้ปัญหา จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ถึง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากการพัฒนาด่านเป็นไปในทิศทางที่ไม่ตอบโจทย์ของเจตนารมณ์การพัฒนา

             “ ตอนนี้ ด่านใหม่ที่กำลังพัฒนาการออกแบบด่านและ ถนนที่จะเชื่อมโยงในการเดินทาง เป็นไปในรูปแบบที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และผมไม่ได้ว่าใครผิด แต่วันนี้มันมีการเปลี่ยนแปลง “

             อนุมัติ กล่าวว่า เดิมตัดถนนผ่านในพื้นที่ สปก.ซึ่งมันจะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ เพราะมันไม่สามารถเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ เราจึงต้องหันมาคิดใหม่ การนำงบประมาณลงไปพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์จากการพัฒนา นอกจากปัญหาเรื่องถนน แผนการพัฒนาด่านร่วมกันของไทย-มาเลเซีย ยังไม่สอดคล้องกันในบางเรื่อง ทั้งหมดนี้ ต้องนำมาสู่การแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศและคนในพื้นที่ จึงจะถือว่าพัฒนาเพื่อประชาชน

           ส่วนปัญหาการตรวจคนเข้าเมือง ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนถึงคุณภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และล่าสุดทราบว่า ตม.สะเดา ได้มีการพัฒนา มีการจัดทำการให้บริการอย่างมีระบบมากขึ้น อันนี้ก็ต้องชื่นชม

            และอีกส่วนหนึ่งถ้ามีโอกาสและมีเวลาเหลืออยู่ อยากจะผลักดันในเรื่องของสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ อนุมัติ มองว่าทุกวันนี้ สนามบินมีพื้นที่ให้บริการประชนค่อนข้างจำกัด ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการสนามบินก็เหมือนถูกบังคับให้เข้าใช้บริการร้านค้าต่างๆ เนื่องจากไม่มีพื้นที่สาธารณะเพียงพอ

          “ สิ่งที่ควรพัฒนาในฐานะที่สนามบินเป็นหนึ่งในการให้บริการของรัฐที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนคือให้มีพื้นที่เพียงพอต่อการใช้บริการ การพัฒนาในส่วนนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะขยายพื้นที่การบริการให้พี่น้องกันได้อย่าง “

            ไม่เพียงแต่เป็นนักธุรกิจ และนักการเมืองเท่านั้น แต่ อนุมัติ อาหมัด ยังมีบทบาทในองค์กรศาสนาโดยดำรงตำแหน่งเป็น รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรบริหารกิจการศาสนาตามกฎหมาย

            เขากล่าวว่า พรบ. บริหารกิจการศาสนาอิสลามฯ ค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในการพัฒนาให้เทียบเคียงกับระบบนานาชาติได้ 100% เนื่องจากโครงสร้าง พรบ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 นั้นระบุให้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดส่วนใหญ่มาจากนักการศาสนา หรืออิหม่าม และยังไม่มีการเปิดกว้างสำหรับบุคคลภายนอกที่หลากหลายเพียงพอ

            อนุมัติ มองว่า บทบาทของผู้นำศาสนาจะต้องพัฒนาให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมและยุทธศาสตร์ประเทศ  “ วันนี้ บทบาทผู้นำศาสนาไม่ได้จำกัดอยู่ที่การดูเดือนเพื่อกำหนดวันสำคัญตามศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่ต้องมีบทบาทในการส่งเสริมการขับเคลื่อนทั้งสังคม และ เศรษฐกิจของประเทศ “

              โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นตลาดที่คนทั่วโลกให้ความสนใจที่จะเข้าไปหาช่องว่างทางตลาด และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศหลายแสนล้านบาท องค์กรศาสนา ควรจะมีบทบาทส่งเสริมกิจการนี้อย่างไร และควรร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ และช่วยวางแผนในการกำหนดนโยบายของรัฐอย่างไร เพื่อให้มีประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ประชาชนในประเทศ

             นี่เป็นการถอดความคิดของ “อนุมัติ อาหมัด “ เพียงบางเสี้ยวบางตอน ในบริบทของผู้ชายคนนี้ ที่หัวใจมีแต่ทำงาน ด้วยประสบการณ์ตลอดจนการสั่งสมบารมี วิธีคิดและมุมมองของเขา จนกลายเป็นมุสลิมแถวหน้าของเมืองไทย ที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งในแวดวงธุรกิจ สังคม และการเมือง อีกคนหนึ่ง

 ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่  ฉบับเดือนธันวาคม 2560