Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ปีที่40 ชัยชนะการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน : อุดมการณ์กับการยืนหยัดและการท้าทาย

ปีที่40 ชัยชนะการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน : อุดมการณ์กับการยืนหยัดและการท้าทาย

โดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ผู้อำนวยการศูนย์อิหร่านศึกษาและภาษาเปอร์เซีย 

 

             สำนักข่าวอะลามี่ : ในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.1979  ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน  คือ ชัยชนะของการปฏิวัติ หรือเรียกว่า การปฏิวัติอิหร่าน 

            การปฏิวัติอิสลาม หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งคือการปฏิวัติ ค.ศ. 1979 หมายถึง เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวี ภายใต้ พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดยการแทนที่ด้วยการปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลาม ภายใต้ผู้นำปฏิวัติ อายาตุลลอฮ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้ายและองค์กรอิสลาม สถาบันศาสนา นักบวช นักวิชาการ และขบวนการนักศึกษาชาวอิหร่าน

            ต่อมาประชาชนชาวอิหร่านออกเสียงลงคะแนนการลงประชามติทั่วประเทศให้เป็นสาธารณรัฐอิสลามเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2522 และรับรองรัฐธรรมนูญเทวาธิปไตย แบบสาธารณรัฐอิสลามฉบับใหม่ ซึ่งอิมามโคมัยนีกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ (วิกิพีเดีย หมวดการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน)และปีนี้เป็นปีที่40ของชัยชนะการปฏิวัติอิสลาม

           หลังจากปี ค.ศ. 1979  เป็นต้นมาประเทศอิหร่าน ได้มีการปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลาม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทีเดียว มีการสมรู้ร่วมคิดของตะวันตกและชาติมหาอำนาจ ที่ไม่ปรารถนาที่จะเห็นการเติบโตของอิหร่าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏขึ้นของรัฐอิสลามตามวิถีแห่งอิสลาม

          ประเทศอิหร่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการปฏิวัติอิสลามโดยอิหม่ามโคมัยนี เป็นผู้นำขบวนการปฏิวัติของประชาชนและนักศึกษาล้มล้างการปกครองของชาร์ปาเลวีจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์(Absolute Monarchy) เป็นสาธารณรัฐ อิสลาม (Islamic Republic )  เป็นการปกครองในระบอบอิสลาม(Islamic State) โดยมีราชาปราชญ์เป็นประมุข ซึ่งฐานความคิดของระบอบการปกครองนั้น ผ่านการกลั่นกรองอย่างตกผลึกตามหลักคิดทางปรัชญาการเมืองอิสลาม และผู้ที่วางรากฐานของระบอบการปกครองในประเทศอิหร่าน คือ ท่าน อะยาตุลลอฮ์ อิมามโคมัยนี

             อิหร่านหลังจากการเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบเทวาธิปไตย(Theocracy)ที่ได้จัดระบอบโครงสร้างทางการเมืองและการปกครอง โดยยึดระบอบการปกครองแบบอิสลาม อันมีราชาปราชญ์เป็นประมุขหรือเรียกว่า “ระบอบปราชญาธิปไตย” (วิลายะตุลฟะกีย์)โดยมีรูปแบบเป็นระบบรัฐสภา อันมีประธานาธิบดี (President) และรัฐสภา (Parliament) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (Electorate) และ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ที่ต้องได้รับการยอมรับจากรัฐสภา 

           สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน มีสถาบันสูงสุด คือ สถาบันแห่งประมุขสูงสุด (Supreme Leader) เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำรัฐและเป็นผู้ปกครองที่อยู่ในฐานะราชาปราชญ์ ซึ่งเป็นผู้รับรองผลลัพธ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี และยังมีอำนาจแต่งตั้งสถาบันสำคัญอื่นๆ คือกองทัพ (Military)  ประมุขฝ่ายตุลาการ (Head of Judiciary) และ( Expediency council)สภาพิเศษซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา และ สภาผู้ชี้นำ (Guardian council)  หรือแม้แต่สภาอีกสภาหนึ่งคือสภาผู้ชำนาญการ (Assembly of experts)โดยผู้นำสูงสุดยังมีอำนาจดูแลและสร้างความสมดุลให้กับการบริหารกิจการภายในของรัฐในทุกๆฝ่าย

             รัฐธรรมนูญอิหร่าน มาตรา ๔  ได้กล่าวว่า  “ ประมวลกฎหมายทั้งหมด ทั้งกฎหมายแพ่งพานิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายการคลัง การเศรษฐกิจ กฎหมายการบริหารการปกครอง  วัฒนธรรม การทหาร  การเมือง ตลอดทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านั้นที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีแหล่งที่มาซึ่งวางอยู่บนหลักการแห่งบทบัญญัติอิสลาม  มาตรานี้ย่อมมีอำนาจควบคุมสูงสุดและอย่างกว้างขวางไปถึงมาตราอื่นๆทั้งหมดแห่งรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันกับหลักการและระเบียบกฏเกณฑ์อื่นๆที่จำต้องตัดสินโดยใช้ดุลยพินิจพิจารณาและวินิจฉัยให้เป็นไปตามหลักนิติศาสตร์ของสภาพิทักษ์ฯ  และอำนาจการปกครองของประมุขสูงสุดนั้นเป็นหน้าที่ของบุคคลที่อยู่ในฐานะราชาปราชญ์ เป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัด เป็นผู้ทรงธรรมและยุติธรรม “

           มาตรา ๕  ในช่วงเวลาที่อิมามท่านที่สิบสอง(อิมามมะฮ์ดี) อยู่ในสภาพที่เร้นกาย  สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน จะอยู่ภายใต้การปกครองและการชี้นำโดยความรับผิดชอบของนักการศาสนา ผู้เป็นปราชญ์สูงสุด มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ ทรงคุณธรรมและยุติธรรม รู้รอบต่อสถานการณ์แห่งยุคสมัย เป็นผู้มีความกล้าหาญพร้อมด้วยความสามารถในการจัดการ อยู่ในฐานะเป็นราชาแห่งปราชญ์(วิลายะตุลฟะกีย์)  ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักและยอมรับให้เป็นผู้นำ

            มาตรา ๑๐๗  เมื่อใดที่นักการศาสนา อยู่ในฐานะปราชญ์ ที่มีคุณสมบัติครบเงื่อนไขต่างๆตามมาตรา ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลนั้นจะเป็นผู้นำอยู่ในฐานะผู้ทรงอำนาจสูงสุด และเป็นราชาปราชญ์  เป็นผู้นำแห่งการปฎิวัติ เหมือนอย่างท่าน อายาตุลลอฮ์ อิมามโคมัยนี ถือว่าเป็นประมุขสูงสุด มีความศักดิ์สิทธิ์ในการออกคำสั่งและมีความรับผิดชอบทั้งมวล

             ตั้งแต่การปฏิวัติประสบความสำเร็จ และได้สถาปนาสาธารณรัฐอิสลามขึ้นมา ในปี 1979 หรือ พ.ศ. 2522   ประเทศอิหร่าน ยังได้ต่อสู้กับความท้าทายอันใหญ่ยิ่งตลอดมา ทั้งยังประสบกับความกดดันอย่างไม่หยุดยั้ง จากฝ่ายต่างๆที่ต้องการบ่อนทำลายและไม่ต้องการให้อิหร่านยืนอย่างสง่าในเวทีโลก 

           และท่ามกลางความผันผวนนั้น ประชาชน และสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านหลังจากการปฏิวัติ ยังถูกรุกรานโดยอดีตรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก ด้วยการสนับสนุนทางกองกำลังทหารจากมหาอำนาจโลก เกิดเป็นสงคราม อิรัก-อิหร่าน กินระยะเวลายาวนานกว่า 8 ปี ทำให้ผู้คนทั้งชาวอิหร่าน และชาวอิรักหลายพันคนต้องเสียชีวิต 

            แต่ทว่า อิหร่าน ได้ผ่านวิกฤตนั้นมาได้เหมือนอย่างปาฎิหาริย์เลยทีเดียว 

            และต่อมายังถูกข้อกล่าวหาว่า การปฏิวัติอิหร่านนำไปสู่การก่อการร้ายที่และการปฏิวัตินั้นคือเชื้อเพลิงแห่งการทำลายสันติภาพโลก พวกเขากล่าวว่า รัฐบาลอิหร่านอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายในหลายๆประเทศหรือกล่าวว่ารัฐบาลอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายเป็นเวลาหลายสิบปี โดยผ่านตัวแทนกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ในเลบานอน  

            และกล่าวหาว่า การระเบิดสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเบรุต เมื่อ ปี 1983 มาจากรัฐบาลอิหร่าน  หรือการลอบวางระเบิดโคบาร์ทาวเวอร์ในซาอุดิอาระเบีย ปี1996   หรือการลอบวางระเบิดศูนย์วัฒนธรรมอิสรอเอลในกรุงบัวโนสไอเรส  ประเทศอาร์เจนตินา ปี 1994  จนทำให้สหรัฐอเมริกากล่าวว่า”อิหร่านเป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้ายมากที่สุดในโลก”(อ้างจากหนังสือ อิลลารี คลีนตัน ชีวิตและทางเลือก หน้า 18-20)
            (อ่านต่อ ตอนจบ)