Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ พร้อมเปิดบ้านบริหารองค์กรอย่างโปร่งใส

พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่

พร้อมเปิดบ้านบริหารองค์กรอย่างโปร่งใส

         สำนักข่าวอะลามี่ :  พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ :  เผยต้องการยกระดับระบบการทำงานคณะกรรมการกลางฯ  จะต้องเป็นที่พึ่งของสังคม และจัดระบบการจัดการองค์กรศาสนา เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้


          พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่  เลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ  กล่าวว่า จากการสืบค้นในฐานข้อมูลในราชกิจจานุเบกษาพบว่า ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการ  กลางฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ซึ่งมีจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ เป็นประธาน ในสมัยอำนาจการเสนอชื่อการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกลางฯ เป็นอำนาจของท่านจุฬาราชมนตรี

          ต่อมาได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 และ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 และ 2491 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ขึ้น เพื่อนำมาเป็นตัวบทกฎหมายในการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม จะเห็นได้ว่าจุดประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการกระจายอำนาจการบริหารให้กับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งแต่เดิมการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นอำนาจของจุฬาราชมนตรี

          หลังจากมีพระราชบัญญัติการบริหารองค์ศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 อำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นอำนาจของอิหม่ามในจังหวัดนั้น ๆ และให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคัดเลือกตัวแทน 1 คน เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีตัวแทนแต่ละจังหวัดจำนวน 40 ท่าน และท่านจุฬาราชมนตรีสามารถเสนอชื่ออีก 1 ใน 3 เป็นจำนวน 13 ท่าน โดยท่านจุฬาราชมนตรี เป็นประธานโดยตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 54 ท่าน

          ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการกลางฯ ชุดใหม่ เนื่องจากชุดเก่าได้หมดวาระลงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 และได้รักษาการมาจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการกลาอิสลามแห่งประเทศไทยจำนวน 39 ท่าน เข้ามาบริหารองค์กรคณะกรรมการกลางฯ  โดยมี เลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ  ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงาน ตามมาตราแห่งพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540

           “ สำหรับรูปแบบการบริหารคณะกรรมการกลางฯ ในฐานะที่ผมเป็นเลขาธิการ เรามีการจัดโครงสร้างภายในเป็นฝ่ายต่าง ๆ จำนวน 12 ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนการทำงานดังนี้ 1. ฝ่ายกิจการฮาลาล  2. ฝ่ายการเงิน  3. ฝ่ายวิชาการและการศึกษา  4. ฝ่ายกิจการฮัจย์  5. ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยี  6. ฝ่ายนิติการ  7. ฝ่ายทะเบียนและสถิติ  8. ฝ่ายซะกาตและสังคมสงเคราะห์ 9. ฝ่ายป้องปรามยาเสพติด 10. ฝ่ายกิจกรรมเยาวชนและสตรี 11. ฝ่ายประสานงานและต่างประเทศ 12. ฝ่ายส่งเสริมเมาลิดกลางฯ”

           จากการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายต่าง ๆ เพื่อมาบริหารจัดการพันธกิจของคณะกรรการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อจุดประสงค์ “มุ่งสร้างความเข้าใจในอิสลาม เพื่อสังคมแห่งสันติสุขบนพื้นฐานระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง”โดยเริ่มจากการให้ความสำคัญด้านการศึกษา เพราะเป็นระบบที่เป็นรากฐานของสังคม ซึ่งคณะกรรมการกลางฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดสอบนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร เป็นประจำทุกปี และส่งนักเรียนไปศึกษาต่อสายสามัญจำนวน 22 คน ที่ประเทศตุรกีโดยใช้งบประมาณของสำนักงานฯ อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกในการรับรองเอกสารที่เกี่ยวกับการไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยไม่เสียค่าจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องมุสลิมได้มีโอกาสไปศึกษาต่อและนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาสังคมในอนาคต

            ด้านสังคม เรามุ่งหวังที่จะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมโดยนำหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมใช้ระบบซะกาต และกองทุนวะกั๊ฟ เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ซึ่งให้ฝ่ายซะกาตและสังคมสงเคราะห์ตั้งกองทุนซะกาตของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 40 จังหวัด พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณให้จังหวัดละ 30,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในจัดตั้งกองทุน และให้ฝ่ายวิชาการและการศึกษาไปกำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องกองทุนวะกั๊ฟ ที่เป็นกองทุนที่ใหญ่มากในระดับโลก เพื่อหาวิธีที่จะสามารถเข้าถึงกองทุนนี้เพื่อนำมาพัฒนาพี่น้องมุสลิมอยู่ในแนวทางของอัลอิสลามได้อย่างถูกต้อง

           นโยบายของคณะกรรมการกลางฯ อีกประการหนึ่งคือ การลดความขัดแย้งในสังคม  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของพี่น้องมุสลิมและประชาชนชาวไทย จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งของพี่น้องมุสลิมนั้นมีมากเริ่มระดับบุคคล ระดับชุมชนหมายถึงมัสยิด ระดับจังหวัดหมายถึงคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการกลางฯ ได้ให้นโยบายฝ่ายนิติการในการสร้างปรองดองในสังคมมุสลิมโดยการประนีประนอมก่อนการพิจารณาตัดสิน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารงานขององค์กร

           สำหรับความขัดแย้งของประชาชนชาวไทยได้มอบให้ฝ่ายวิชาการและการศึกษา ร่วมกับ ฝ่ายประสานงานและกิจกรรมพิเศษไปดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนศาสนาอิสลามให้กับประชาชนต่างศาสนิกได้เข้าใจ เพื่อสร้างความปรองดอง ความสมานฉันท์ให้กับประชาชนชาวไทยได้อยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข

           ด้านเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าพระเจ้าทรงประทานคำว่า “ฮาลาล” ให้กับมนุษยชาติ เพื่อมาเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก คณะกรรมการกลางฯ ได้มองเรื่องฮาลาลเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง มองว่า เรื่องการรับรองฮาลาลเป็นเรื่องของศาสนา จะทำอย่างไรที่จะให้พี่น้องมุสลิมทั่วโลกได้รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์อีกทั้งถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม

           ปัจจุบันฝ่ายกิจการฮาลาลได้ดำเนินการนำมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐาน HACCP GMP ISO และ อย. เข้ามาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและรับรอง อีกทั้งมีการพัฒนาระบบการรับรองฮาลาลผ่านระบบออนไลน์ผ่านบราวเซอร์ Error! Hyperlink reference not valid.ให้เป็นระบบ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และเพิ่มประสิทธิการรับรองฮาลาลให้มีสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้การรับรองฮาลาลของประเทศไทยมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากล

          ส่วนที่สอง จะทำอย่างไรที่สามารถช่วยประเทศชาติมีระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยการใช้การรับรองฮาลาลของประเทศไทย ที่เป็นจุดแข็งเป็นกลไกสำคัญที่สามารถทำให้ยอดการส่งออกของประเทศไทยมีมากขึ้น

          “ ในฐานะองค์กรศาสนาอิสลาม เราจะต้องหาทางในการที่จะช่วยเหลือประเทศชาติ ในเรื่องที่สำคัญก็คือ รายได้ของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่ารายได้ของรัฐบาลไทย มาจากสองภาคส่วนใหญ่คือ รายได้จากการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยว “

           โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการส่งออก พบว่าสินค้าจำนวนไม่น้อยที่ส่งไปในประเทศตะวันออกกลาง หรือประเทศกลุ่มยุโรปก็ตาม คณะกรรมการกลางฯ จะทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกกับนักธุรกิจในการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ผ่านการรับรองฮาลาล เราได้สร้างเว็ปไซด์ https://www.halal.co.th และแอปพลิเคชั่น Halal Thai เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแสดงสินค้าที่ผ่านการรับรองฮาลาลให้กับผู้บริโภคได้เข้าถึงข้อมูลสินค้าได้ง่ายขึ้น สามารถติดต่อสื่อสารทางธุรกิจได้โดยตรง

            อีกทั้งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการรับฮาลาลได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับบทบาทฮาลาลไทยในเวทีโลก ขณะนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกที่ประชุมอิสลามโลก หรือ OIC  ฮาลาลไทยได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ประเทศไทยสามารถขยับอันดับการส่งออกจากอันดับ 13 ของโลก มาเป็นอับดับ 9 และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 250,000 ล้านบาท/ปี

          พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้สงสัยการใช้งบประมาณ และบริหารงบประมาณขององค์กรนั้น ขอยืนยันว่า เรามีระบบในการตรวจสอบภายใน นอกจากนี้ยังจัดจ้างให้บริษัทเอกชน ผู้มีความชำนาญด้านบัญชีมาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอีกด้วย นอกจากนี้การประชุมคณะกรรมการกลางฯ ทุกครั้ง ก็มีสมาชิกตรวจสอบการทำงานอยู่แล้วทุกเดือนเช่นกัน

         “ เราเป็นองค์กรศาสนา จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้อุดหนุนงบประมาณ เรามีรายได้ในการบริหารจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฮาลาล ซึ่งงบประมาณดังกล่าว นอกจากบริหารในฝ่ายกิจการฮาลาลแล้ว ยังเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในคณะกรรมการกลางฯ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ตามภารกิจที่แบ่งออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ก็ล้วนใช้งบจากที่มาของงบประมาณดังกล่าวทั้งสิ้น ”

           พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีและเป็นภัยต่อความมั่นคงพยายามดิสเครดิตการทำงานของกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะพยายามยื่นถอดถอนเครื่องหมายฮาลาลจากกระทรวงพาณิชย์ และมีการฟ้องร้องไปยัง DSI  ทั้งนี้เขาเชื่อว่า หากทำลายระบบฮาลาลแล้ว ก็จะทำให้ระบบองค์กรศาสนาอิสลามเพลี้ยง่อย ไม่สามารถทำงานต่อไปได้

           “ ทั้งหมดเรารู้ทัน และกำลังประสานงานกับราชการอย่างใกล้ชิด อีกทั้งรัฐบาลทุกรัฐบาลเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของฮาลาลไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเกิดรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีอย่างมหาศาล ขอให้มั่นใจว่า การเบิกจ่ายงบประมาณของคณะกรรมการกลางฯ มีการตรวจสอบภายใน และจะต้องลงนาม 2 ใน 3 คน จึงสามารถเบิกจ่ายได้ และงบประมาณดังกล่าวก็ได้นำไปบริหารอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าว

          นี่คือส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ และบทบาทของเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ  ที่จะต้องทำงานประสานงานที่เปรียบเสมือนแม่บ้านขององค์กร ที่ล้วนต้องมีบารมี ในการประสานงานทั้งองค์กรศาสนา และ องค์กรภายนอก เพื่อนำพาองค์กรสู่มาตรฐานสากลในอนาคต

 +++++++++++++++++


แต่งตั้งกรรมการฝ่ายต่างๆของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

            ที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 เห็นชอบแต่งตั้งตำแหน่งฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย

รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

     1.นายอรุณ บุญชม (ดูแลฝ่ายกิจการฮัจย์)

     2.นายประสาน ศรีเจริญ (ดูแลฝ่ายวิชาการและการศึกษา)

     3.นายอนันต์ วันแอเลาะ  (ดูแลฝ่ายซะกาตและสังคมสงเคราะห์)

     4.รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน  (ดูแลฝ่ายประสานงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาล)

     5.นายแวดือราแม มะมิงจิ  (ดูแลฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ(ในและต่างประเทศ)

     6.นายกวินธร วงศ์ลือเกียรติ  (ดูแลฝ่ายนิติการและป้องปรามยาเสพติด)

     7.นายเบิ้ม ปาทาน  (ดูแลฝ่ายกิจการเยาวชนและสตรี)

    8.นายไพศาล อับดุลลอ  (ดูแลฝ่ายประชาสัมพันธ์)

ฝ่ายเลขาธิการ

     ตำแหน่งเลขาธิการ  พล.ต.ต.สุรินทร ปาลาเร่

      รองเลขาธิการประกอบด้วย  นายอนุมัติ อาหมัด ,นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล,นายอิบรอเหมอาดำ,นายณรงค์เดช สุขจันทร์,นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ,นายประสาน บุญส่ง,ร.ต.ต.ดร.โกมล ดุมลักษณ์.นายสมาน อาดัม และนายศมศักดิ์ เมดาน

ฝ่ายกิจการฮาลาล

       ประธาน รศ.ดร.อิสมาแอล อาลี 

ฝ่ายการเงิน พัสดุและแผนงาน

      ประธาน นายสุวัฒน์ กูบกระบี่

ฝ่ายวิชาการและการศึกษา

      ประธาน นายวิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ

ฝ่ายกิจการฮัจย์

       ประธาน นายอนุมัติ อาหมัด

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

        ประธาน  ร.ต.ต.ดร.โกมล ดุมลักษณ์

ฝ่ายนิติการ

         ประธาน นายอิบรอเหม อาดำ

ฝ่ายทะเบียนและสถิติ

         ประธาน นายสุวิทย์ เซ็นเจริญ

ฝ่ายซะกาตและสังคมสงเคราะห์

       ประธาน  นายไพศาล พรหมยงค์

ฝ่ายป้องปรามยาเสพติด

       ประธาน  ดร.ปราโมทย์ แหล่ทองคำ

ฝ่ายกิจการเยาวชนและสตรี

        ประธาน นายสมชาย หวังสวัสดิ์

ฝ่ายประสานงานและกิจการพิเศษ(ในและต่างประเทศ)

        ประธาน นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล

ฝ่ายประสานงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

         ประธาน นายประสิทธิ์ มะหะหมัด