Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ห้าธันวา มหาราช :

ห้าธันวา มหาราช : ข้อกังวลของมุสลิมที่เคร่งครัดต่อการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ 
โดย: อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 

 
                     ด้วย พระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณา ปราณี เสมอ ขอความสันติมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมหมัด

 


                  
                     สำนักข่าวอะลามี่ :  ทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี หน่วยงานราชการ จะมีกิจกรรมวันพ่อมหาราช มากมาย เช่น  ในภาคเช้าตั้งแต่เวลา 07.00น.ทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง  จากนั้นเวลา 08.00 น.จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และมอบเกียรติบัตรพ่อตัวอย่างดีเด่นของจังหวัด

                 ส่วนภาคค่ำประกอบพิธีถวายราชสักการะ ถวายพานพุ่มเงิน พุ่มทอง และร่วมจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล

                   ในขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ การเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การแข่งกีฬาเฉลิมพระเกียรติ การอนุรักษ์สืบสานประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ส่วนการลด ละ เลิกอบายมุข ขอให้งดเว้นการอนุญาตเล่นการพนัน การอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ หรือกิจกรรมอื่นใดอันเป็นการทรมานสัตว์ การงดเว้นเปิดสถานบริการ หรือแหล่งอันเป็นอบายมุข 

                  สำหรับกิจกรรมหลายประการที่เป็นพิธีกรรมนั้นทำให้มุสลิมทั้งชายและหญิงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการที่เคร่งครัดศาสนาอิสลามมีความกังวลเป็นอย่างมากว่าจะนำไปสู่ชิริก(ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) หากไม่ไปเข้าร่วมก็จะทำให้ถูกมองว่าไม่เคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์
             
                  ตามหลัก ศาสนาอิสลาม ถือว่าการเคารพและนับถือ เป็นคุณธรรมที่ดีของมนุษย์ทุกคน อันพึงมีต่อผู้มีพระคุณ เช่น ต่อพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ ต่อพ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิด ต่อคุณครู ในฐานะผู้ให้ความรู้ และอื่นๆ มิใช่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในอิสลามถือว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเอกองค์อัลลอฮฺ (อัลกุรอาน 2 : 255)

                ซึ่ง หลักการเคารพนับถือต่อพระเจ้านั้น จะต้องผนวกไปกับการกราบนมัสการต่อพระองค์ด้วย ซึ่งการแสดงความเคารพของมุสลิมต่อสิ่งอื่น หรือบุคคล ด้วยการกราบ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

                  คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับการเคารพภักดีต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พระมหากษัตริย์ของมุสลิมน่าจะเป็นทางออกหนึ่ง ในการใช้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติในวันที่ห้าธันวามหาราช

                    คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลาม ถือเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะข้าราชการนำเป็นคู่มือในการปฏิบัติอันจะนำไปสู่ความเข้าใจ( โปรดดูคำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามจากการรวบรวมโดย ศอ.บต).

                    เช่น ปัญหา ที่ ๑๙ ปัญหาเรื่องการทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ การแสดงความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีการต่างๆ จะขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ใคร่ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็น

                    ท่านอดีตจุฬาราชมนตรี ประเสริฐ  มะหะหมัดได้ตอบไว้ดังนี้

                  - การยืนตรงต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
                  - การก้มศีรษะไม่ถึงขั้นรุกัวะ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควร (มักรูฮ)
                 - การก้มศีรษะถึงขั้นรุกัวะ บางทัศนะว่าต้องห้าม (หะรอม) บางทัศนะว่าไม่บังควร (มักรูฮ)

                  พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงหลักการของศาสนาอิสลามในข้อนี้ดี เพราะ พระองค์ทรงศึกษาหลักการศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขระเบียบที่ขัดกับหลักการอิสลาม สำหรับพสกนิกรมุสลิม

                โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2540) โดยทรงมีรับสั่งให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนให้ตรงตามหลักการศาสนา อันใดที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม ก็ไม่ต้องปฏิบัติ

                 จาก ตัวอย่างข้าง ต้น ทำให้เราได้ทราบว่า ในจิตใจของมุสลิม ถึงแม้ว่า การเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์แบบกราบไม่ได้ แต่ความจงรักภักดีในพระองค์ท่าน ก็มีอย่างครบสมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น ที่แสดงความ จงรักภักดี ด้วยการกราบ

                 ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และ ประชาชนมุสลิม ในพระราชพิธีต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อนี้ เพื่อขจัดปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก

               ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า "ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง"

จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้

               กล่าวคือ รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939)

               เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264)

               นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571)

               ดัง นั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำ ที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่มีทั่วประเทศ การปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ จะไม่มีค่าใดๆ เลย หากการแสดงออกของบุคคลเหล่านั้น ไม่ตรงกับใจ

            การให้สัมภาษณ์ทางวาจาของรัฐบาลและข้าราชการ ว่า จะน้อมรับกระแส พระราชดำรัสแต่ละครั้ง จะไม่มีผลเช่นกัน หากนโยบาย และการกระทำยังคงสวนทางกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธี การไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และอื่น ๆ

             นี่แหละ คือแก่นแท้ของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นขอบเขตที่มุสลิมจะทำได้และหน่วยงานของรัฐไม่ควรบังคับประชาชนหรือข้าราชการในพื้นที่กระทำการที่ เลยขอบเขตนี้