Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จับตาผู้ผลิตญี่ปุ่นพาเหรดลงทุนอินโดนีเซีย

จับตาผู้ผลิตญี่ปุ่นพาเหรดลงทุนอินโดนีเซีย

             สำนักข่าวอะลามี่ : การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากพยายามเข้าไปแสวงหาประโยชน์

           แม้เงินเยนอ่อนค่าลงในช่วงเร็วๆ นี้ แต่ผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นมองว่า ค่าเงินที่ระดับปัจจุบันยังห่างไกลจากจุดที่ควรจะเป็น เพื่อลดแรงกดดันต่อการผลิตในประเทศ

            โตชิยูกิ ชิงะ ประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งญี่ปุ่น กล่าวว่า เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อการบริโภคในสหรัฐเริ่มฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ เขาเห็นว่าค่าเงินที่ระดับต่ำกว่า 80 เยนต่อดอลลาร์ อยู่ในขั้น "แข็งค่ามากๆ" ขณะที่ระดับ 80-89 เยนต่อดอลลาร์ อยู่ในขั้น "แข็งค่ามาก" และระดับ 90-99 เยนต่อดอลลาร์ อยู่ในขั้น "แข็งค่า"

            ชิงะ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ นิสสัน มอเตอร์ โค ผู้ผลิตรถยนต์อันดับสองของญี่ปุ่น กล่าวว่า ค่าเงินในปัจจุบันเพียงแค่ปรับตัวจากขั้น "แข็งค่ามากๆ" มาอยู่ที่ขั้น "แข็งค่ามาก" โดยค่าเงินวานนี้อยู่ที่ระดับ 83.45 เยนต่อดอลลาร์

             ชิงะ แสดงความหวังว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินเยน

             ทางด้าน ทาคาชิ ยามาโนะอุจิ ประธานและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร มาสด้า มอเตอร์ คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายเล็กกว่า ยังคงระมัดระวังต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในช่วงนี้ และกล่าวว่า ค่าเงินควรอ่อนลงอีก

            ค่าเงินเยนที่ระดับปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ มาสด้า เนื่องจากรถยนต์ที่ส่งออกประมาณ 80% เป็นรถที่ผลิตในประเทศ ถือเป็นอัตราสูงสุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น

          เงินเยนที่แข็งค่าทำให้สินค้าต่างๆ ที่ผลิตในญี่ปุ่นมีราคาแพงมากขึ้นในต่างประเทศ และทำลายความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เมื่อเทียบกับผู้ผลิตประเทศอื่น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ กระตุ้นให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นออกไปผลิตในต่างประเทศมากขึ้น

            ขณะเดียวกัน การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากพยายามเข้าไปแสวงหาประโยชน์ เพื่อชดเชยการอิ่มตัวของตลาดในประเทศและปัญหาเงินเยนแข็งค่า

             ฮอนด้า มอเตอร์ โค และชาร์ป คอร์ป เป็นสองรายล่าสุดที่ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในอินโดนีเซีย โดย ฮอนด้า ผู้ผลิตรถยนต์อันดับสามของญี่ปุ่น จะลงทุน 340 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตสามเท่า ตอบสนองความต้องการทั้งในอินโดนีเซียและทั่วเอเชีย

            ส่วน ชาร์ป ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ประกาศว่าจะสร้างโรงงานมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์ ที่มีความสามารถในการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้า ปีละหลายล้านเครื่อง สำหรับผู้บริโภคอินโดนีเซีย

             เคนอิจิ โทมิโยชิ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า เหตุผลหลักที่บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น เพราะตลาดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

            อินโดนีเซีย ทำสถิติดึงดูดการลงทุนโดยตรงของต่างชาติได้ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา เมื่อบริษัทจำนวนมาก มองหาทางเข้าไปขยายตัวในประเทศที่เศรษฐกิจแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

            เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้รับแรงขับเคลื่อน จากความต้องการในประเทศมากกว่าการส่งออก โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซีย จะเติบโตกว่า 6% ในปีนี้ หลังจากขยายตัว 6.5% ในปีที่ผ่านมา

             ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจทำให้ชาวอินโดนีเซีย มีกำลังซื้อสินค้าต่างๆ มากขึ้น ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เสื้อผ้า และรถยนต์ ข้อมูลจากสมาคมผลิตรถยนต์แห่งอินโดนีเซีย ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้น 17% เป็น 894,180 คันในปี 2554 ส่วนเมื่อเดือน ก.พ.ยอดขายเพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เป็น 86,407 คัน

              ฮอนด้า ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (15 มี.ค.) ว่า ฮอนด้า โพรสเปค มอเตอร์ กิจการร่วมทุนกับหุ้นส่วนอินโดนีเซีย จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเขตอุตสาหกรรมใกล้กรุงจาการ์ตา ที่เดียวกับโรงงานที่มีอยู่เดิม โดยโรงงานแห่งใหม่จะช่วยให้กำลังผลิตของ ฮอนด้า เพิ่มเป็น 180,000 คัน จาก 60,000 คัน ในปัจจุบัน

           เมื่อต้นสัปดาห์ ฮอนด้า ก็ประกาศว่าจะตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์แห่งใหม่ในอินโดนีเซีย ด้วยกำลังการผลิต 1.1 ล้านคันต่อปี ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการผลิตทั้งหมดสูงกว่า 5 ล้านคัน

           ฮิโรชิ โคบายาชิ ผู้จัดการ ฮอนด้า กล่าวว่า กิจการในอินโดนีเซียจะก้าวต่อไป เพื่อให้ยืนหยัดด้วยตัวเองมากขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นในระดับภูมิภาค ฮอนด้า จะไม่เพียงแค่ผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ แต่อินโดนีเซียจะเป็นฐานส่งออกหลักของบริษัท ทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

            ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ตอกย้ำความพยายามของ ฮอนด้า ที่จะขยายฐานการผลิตและส่งออกภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่สินค้าของบริษัท โดยกิจการในไทยมีความสามารถในการผลิต 240,000 คันต่อปี

            โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2557 ด้วยคนงานประมาณ 2,000 คน จะผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก เช่น บริโอ สำหรับตลาดเอเชีย

             ฮอนด้า จำหน่ายรถยนต์รุ่นดังกล่าวในไทยและอินเดียอยู่แล้ว และจะเริ่มนำเข้าจากไทยไปจำหน่ายในอินโดนีเซียภายในปีนี้ ก่อนเปลี่ยนไปรถที่ผลิตในประเทศในปีหน้า โดยเป็นการผลิตในโรงงานที่มีอยู่เดิม จากนั้นจะย้ายการผลิตไปที่โรงงานใหม่ในปี 2557

           บริษัทญี่ปุ่น รุกเข้าไปในอินโดนีเซียหลายทศวรรษแล้ว และครอบครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์มากกว่า 90% อีกทั้งยังมีความมั่นคงในด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกลหนัก

           ตลาดขนาดใหญ่และโตเร็วอย่างอินโดนีเซีย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของบริษัทญี่ปุ่น ที่ต้องดิ้นรนอย่างหนักในการหารายได้จากตลาดในประเทศและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

           อิมาน ซูเกมา นักเศรษฐศาสตร์แห่ง อีซี ธิงค์ กลุ่มคลังสมองในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า ญี่ปุ่นเคลื่อนไหวมากขึ้น เมื่อประเทศอื่นๆ เริ่มค้นพบศักยภาพของอินโดนีเซีย แม้การทำธุรกิจที่ประเทศแห่งนี้จะมีความยุ่งยากหลายประการ แต่ก็ยังมีผู้เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต

          ทางด้าน ชาร์ป ประกาศว่าจะลงทุนประมาณ 1.2 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ ในโรงงานใหม่ใกล้กรุงจาการ์ตา ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โรงงานแห่งนี้จะผลิตตู้เย็น 220,000 หลัง และเครื่องซักผ้า 140,000 เครื่องในแต่ละเดือน โดยการก่อสร้างจะเริ่มต้นเดือน ก.ค.นี้

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/foreign/20120318/442251/จับตาผู้ผลิตญี่ปุ่นพาเหรดลงทุนอินโดนีเซีย.html