Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จับตา'สัตยาบันจุฬาราชมนตรี'ท่ามกลางกระแสต้าน

จับตา”สัตยาบันจุฬาราชมนตรี”ท่ามกลางกระแสต้าน


             สำนักข่าวอะลามี่ :  จับตาการเคลื่อนไหว  กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรี ท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างหนัก ขณะที่หลายฝ่ายติงแนวคิด หวั่นเพิ่มความขัดแย้งทางสังคมมากกว่าการสร้างเอกภาพของผู้นำ

             การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ”  กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรี “ ชูภาระกิจ4ด้านหลัก คือ เรียกร้องเชิญชวนประชาคมมุสลิมในประเทศไทยให้พร้อมใจและรวมตัวกันเป็นหมู่คณะเพื่อมอบสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรี ในฐานะอิหม่ามผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย

            รณรงค์ให้ประชาคมมุสลิมแสดงพลังอันเป็นฉันทามติด้วยการมอบสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรี และชี้ชวนให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมุสลิมต่อการยอมรับสถานะภาพความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และการดำรงไว้ซึ่งภาพลักษณ์อันทรงเกียรติและสวยงามของจุฬาราชมนตรีด้วยการปฏิบัติตามและเชื่อฟังผู้นำสูงสุดในด้านกิจการศาสนาอิสลามที่เป็นไปตามบัญญัติของกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ

           เพื่อสร้างเอกภาพและสามัคคีธรรมในกลุ่มประชาคมมุสลิมในประเทศไทยภายใต้การเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรี ซึ่งได้รับการมอบสัตยาบันจากภาคประชาสังคมตามหลักการปกครองในศาสนาอิสลามที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายของบ้านเมืองและพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

           และประเด็นสุดท้าย คือ การให้สัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) ของภาคประชาสังคมมุสลิมในประเทศไทยแก่จุฬาราชมนตรี ในฐานะอิหม่ามผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม จะทำให้ประชาคมมุสลิมที่กระทำสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) หลุดพ้นจากสภาพการเสียชีวิตเพียงผู้คนในยุคอวิชา (ญาฮิลียะฮฺ) ตามที่ปรากฏในอัล-หะดีษที่ว่า “ผู้ใดที่เสียชีวิตลงโดยไม่มีการให้สัตยาบันปรากฏอยู่ในต้นคอของเขา ผู้นั้นเสียชีวิตลงเพียงการเสียชีวิตในยุคญาฮิลียะฮฺ” (บันทึกโดย มุสลิม)

            โดยกลุ่มเครือข่ายฯ ให้เหตุผลหลายประการ ซึ่งหนึ่งในการรณรงค์ โดยระบุว่า เนื่องจากมีกลุ่มชนบางกลุ่มในสังคมมุสลิมเองได้พยายามสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแก่ประชาคมมุสลิมผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ การโจมตี การกล่าวหา และ การตั้งข้อสังเกตถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรี

 

              ปรีดา เชื้อผู้ดี ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย บอกว่า กลุ่มคณะที่เสนอเรื่องนี้คือ อาจารย์อาลี เสือสมิง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของจุฬาราชมนตรี ได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี จนมีถกเถียงซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วยโดยระบุว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ได้รับการยอมรับการเป็นผู้นำสมบูรณ์นับตั้งแต่วันที่เลือกตั้งเสร็จและขอให้วาระเสนอนี้ตกไป

             ด้าน สมัย เจริญช่าง รองประธานคณะกรรมการอิสลาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทจุฬาราชมนตรีในอดีตมาจากการคัดเลือกของพระมหากษัตริย์ ก่อนจะมีการเปลี่ยนมาเลือกตั้ง  โดยประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในยุคของจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ พร้อมกับเปลี่ยนสถานะมาเป็นเพียงที่ปรึกษากรมศาสนา

              ต่อมาในยุคของจุราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และในยุคของจุฬาราชมนตรีอาศีส พิทักษ์คุมพล ใช้วิธีการเลือกจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  ซึ่งในอดีตไม่เคยมีการกล่าวสัตยาบรรณ ในการรับตำแหน่งผู้นำ ซึ่งเพิ่งจะมีครั้งแรกในยุค นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นจุฬาราชมนตรี ซึ่งได้ทำสัตยาบรรณรับหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยในวันที่มีการเลือกตั้ง

              ส่วนกรณีที่กลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวรณรงค์ให้สัตยาบันกับจุฬาราชมนตรี นั้นอาจไม่เหมาะสม  เพราะจุฬาราชมนตรี อยู่ในระหว่างการพักฟื้นจากการการป่วย จะเดินทางไปรับสัตยาบรรณในแต่ลพภูมิภาค หรือจะให้มาชุมนุมกันจำนวนมากในกรุงเทพฯก็คงไม่สะดวก

              “สิ่งที่ผมกังวลคือ เมื่อทำสัตยาบรรณแล้ว จะมีผู้คนมาร่วมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่มาน้อยหรือมาก อาจไม่ใช่ประชาชนไม่เอาด้วย แต่เขาอาจไม่รู้ หรืออาจมาร่วมไม่ได้ ซึ่งนั่นจะกลายเป็นข้อครหา และอาจถูกหยิบไปเป็นประเด็นอย่างอื่นได้” สมัย กล่าวและว่า

             สิ่งที่กลุ่มนักวิชาการศาสนาบางกลุ่มกำลังรณรงค์ในหลักการไม่มีใครปฎิเสธ เพราะหากเป็นเรื่องทางศาสนาไม่มีใครขัดข้อง อีกทั้งต้องยอมรับว่า การทำสัตยาบันในสังคมไทยเป็นเรื่องใหม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเรื่องการบริหารจัดการ ผู้ที่เสนอเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ

              “ เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก เพราะที่ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิยังไม่มีมติที่สำคัญ กลุ่มผู้คิดเรื่องนี้เขาคิดอย่างไร ท่านจุฬาราชมนตรี คิดอย่างไร ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ “ รองประธานคณะกรรมการอิสลาแห่งประเทศไทย กล่าว    

              ด้าน รศ.ดร.อารง สุทธาศาสน์  นักวิชาการอิสระ ในฐานะ 1 ในคณะที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า การลงสัตยาบันกับผู้นำตามหลักนิติศาสตร์อิสลามจะเป็นความผูกพันธ์ระหว่างผู้ลงสัตบรรณกับผู้นำ แต่ต้องดูว่าที่มาของผู้นำ โดยเฉพาะตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในประเทศไทย มีคำถามว่า เป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่  รวมถึง วิธีการที่ได้มา กระบวนการ ที่มาจากการเลือกตั้งหรือที่เราพยายามเรียกว่าการสรรหาก็ตาม ทั้งหมดไม่ได้มาตามแนวทางตามหลักการศาสนา ดังนั้นการจะให้ลงสัตยาบันกับผู้นำจึงไม่เหมาะสม

             “ ในโลกมุสลิมเขาทำกันหรือไม่ การแต่งตั้งผู้นำในประเทศมุสลิม เขามีการลงสัตยาบันกันหรือไม่ ทั้งๆที่เขาเป็นประเทศมุสลิม คนที่คิดเรื่องนี้ เป็นกลุ่มคนที่พยายามจะยกจุฬาราชมนตรี ผมหวั่นว่า หากยังเดินหน้าต่อไป จะเพิ่มความขัดแย้งทางสังคมมากกว่าจะสร้างเอกภาพให้กับผู้นำหรือสังคม ”  รศ.ดร.อารง กล่าว.

                ขณะที่นักวิเคราะห์มุสลิมคนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า กลุ่มทีออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงกับความขัดแย้งทางสังคม เพราะเป็นที่รู้กันว่า การเมืองในองค์กรศาสนา ไม่ว่าในสำนักจุฬาราชมนตรี หรือในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีความขัดแย้งภายในสูง

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งจุฬาราชมนตรี ที่ผ่านมา ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการใช้เงินในการเลือกตั้งจำนวนมาก จนนำไปสู่การขัดแย้งในสังคมมุสลิม 

              นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องออกมาเคลื่อนไหวลงสัตยาบันจุฬาราชมนตรี ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่สถานนะของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ปัจจุบันไม่มั่นคง จึงต้องหาแนวทางในการสร้างความเข้มแข็ง

           “ ปรกติเป็นที่ทราบกันในทางวิชาการว่า สังคมไหนหรือกลุ่มบุคคลไหนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการสร้างเอกภาพทางสังคม หรือ เอกภาพทางการเป็นผู้นำ ย่อมส่อให้เห็นว่า สังคมนั้นหรือผู้นำยุคนั้นกำลังเสื่อม จึงไม่แน่ใจว่าคนที่ออกมาคิดเรื่องนี้ มีจุดประสงค์อะไร และจุฬาราชมนตรี คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ”  นักวิเคราะห์กล่าว
 

ภพาประกอบ : โลโก้เครือข่ายรณรงค์สัตยาบันจุฬาราชมนตรี

                        นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี