Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   Dinner Talk เชื่อมั่นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้

”กิตติรัตน์ ณ ระนอง: เศรษฐกิจ3จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะรุ่งโรจน์ได้อย่างไร

             สำนักข่าวอะลามี่ : " กิตติรัตน์ ณ ระนอง " รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยรรยายพิเศษ เรื่อง “ เศรษฐกิจ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะรุ่งโรจน์ได้อย่างไร” ในโอกาส  Dinner Talk เชื่อมั่นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันเสาร์ ที่ 28 เมษายน 2555  ณ  หอประชุมหลังเก่า  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  จังหวัดยะลา

               โดย นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ภายหลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทจากเดินในอัตรา 1 ดอลล่าสหรัฐอเมริกา ต่อ 25 บาทไทย มาเป็นอัตราที่สูงกว่า โดยบางครั้งแตะที่1 ดอลล่าสหรัฐอเมริกาต่อ 50 กว่าบาทไทย เกิดผลกระทบต่อธุรกิจทุกขนาด ที่ต้องยุติกิจการ

               แต่ใน15 ปีนี้ ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้น เพราะมีอัตราการแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในระยะ5 ปีแรก เป็นการสะสมเงินสำรองประเทศเพื่อนำไปใช้หนี้ ในระยะ 5 ปีต่อมา ยังคงเป็นการสะสมเงินสำรองเพื่อสร้างสภาพคล่องในประเทศที่มีความก้าวหน้าตามลำดับ แต่ต้องมีการจูงใจให้  นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

                 นายกิตติรัตน์  กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2549 เกิดปัญหาการเมืองไร้เสถียรภาพ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงดีอยู่ดังจะเห็นได้จากการตัวเลขการส่งออกของประเทศ การแลกเปลี่ยนเงินตรา การค้า การลงทุนในประเทศ หากแต่สภาพคล่องเหล่านี้ จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอย่างเช่นในอดีต

                  การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการลงทุนขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป้าหมายของการรองรับผู้โดยสารที่เดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศที่คาดหมายว่าจะสามารถรองรับได้ประมาณ ๔๕ ล้านคน แต่ในปีแรกๆ มีผู้โดยสารฯ เพียง ๓๐ ล้านคน แต่ในขณะนี้มีตัวเลขผู้โดยสารฯ ถึง ๔๘ ล้านคน ซึ่งสามารถสร้างเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ของประเทศได้เป็นอย่างดี

                  แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปมาก แต่ก็ยังน้อยกว่าที่ควร ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงต้องดึงสภาพคล่องออกจากระบบ เพราะไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาตามมาอย่างมาก โดยเฉพาะการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินที่ทำให้เกิดหนี้เสีย  จึงต้องดึงสภาพคลองดังกล่าวออกไป

                   สำหรับเส้นทางรถไฟ ยังไม่มีการขยายรางรถไฟ จำเป็นจะต้องมีการขยายและพัฒนาระบบรถไฟรางคู่และรางขยาย เพราะการลงทุนในส่วนนี้ จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่การเพิ่มรถไฟความเร็วสูง จะสามารถช่วยได้อีกส่วนหนึ่ง สำหรับภาคขนส่งระยะไกล ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก เพราะมีต่างประเทศให้ความสนใจในการเข้าลงทุนย่างเช่น จีนและเกาหลีใต้ที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนร่วมกัน

                    รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวถึงด้านการเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซีย มีการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมากของประเทศมาเลเซียเพื่อให้เกิดการบริการที่ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยแม้จะมีความก้าวหน้าก็ตาม แต่อยู่ในสถานที่ต้องเร่งรัด ต้องมีการเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่อเปิดด่านร่วม การสร้างทางกลวงเพิ่มเติม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโจทย์ในอนาคต จำเป็นจะต้องมีการกู้เงิน แต่การกู้เงินดังกล่าว จะต้องตระหนักว่าจะไม่มีหนี้สาธารณะเกินกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ควรกู้โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการชำระหนี้ไม่เกินร้อยละ 15             ของเงินงบประมาณประจำปี

                 แต่ทั้งนี้ อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องกู้ทุกกรณี เพราะยังมีแนวทางอื่นๆ ในการดึงเงินมาใช้อีกมาก อย่างเช่น การระดมทุน การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น การเก็บค่าผ่านทางพิเศษในหลายๆ ทางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรายได้จำนวนมากต่อวัน แต่หากจะต้องสะสมรายได้เหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น จะต้องใช้ระยะเวลาหลายปี รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ จึงจำเป็นจะต้องนำรายได้ในอนาคตมาใช้

                   นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการฝากเงินที่ดอกเบี้ยไม่สูงมากนัก การขายหุ้นและพันธบัตร ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นโครงการระดับประเทศ เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้มีการหารือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดให้พื้นที่หาดป่าตองเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการสร้างรายได้อย่างมากต่อจังหวัด แต่ปัญหาเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เรื่องของการเดินทางที่ผู้เดินทางต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนำมันเชื้อเพลิงจำนวนมาก เพราะการเดินทางที่อ้อมภูเขา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะช่องของภูเขา และให้รถโดยสารผ่านไปได้ไม่อ้อมอีก แต่ต้องมีการเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งผู้เดินทางก็ยินยอมจะเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพราะประหยัดกว่าการเดินทางแบบเดิม

                หากเป็นเช่นนี้ ก็จะมีผู้สนใจจำนวนมาก เพราะได้รับค่าตอบแทนที่ดีและจูงใจ วิธีการนี้ จึงเป็นวิธีการที่นำไปสู่การลงทุนโครงการพื้นฐานของภาครัฐ ไม่ใช่การกู้และเป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น องค์กรส่วนท้องถิ่นควรจะได้มีการหารือกับทางหอการค้า และให้มีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนได้

                " เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนประเทศในเอเชีย ก็ได้รับแนวทาง การพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง และการบริหารรถไฟที่มีความเร็วน้อยกว่าโดยนำไปใช้ในการเพิ่มการตอบสนองต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงจากกจุดที่มีระยะทางไม่ไกลกันมากนัก เช่น อยุธยา ถึง กรุงเทพฯ และ กรุงเทพฯ ถึง หัวหิน เป็นต้น และอาจจะขยาย การเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดในชายแดนภาคใต้"

                 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านดูจะเย็นชา แต่ปัจจุบันมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เพราะมีความคิดแนวใหม่ คือ จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน แม้ว่าจะมีการแข่งขันของประเทศต่างๆอยู่เนืองๆ ก็ตาม การพัฒนาไปร่วมกัน จะเห็นได้จากการเปิดประเทศของพม่า ที่ประเทศไทยได้เข้าไปลงทุนจำนวนมาก เช่น การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย หรือ การสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมพิเศษ เป็นการเปิดประตูทางออกสู่ฝั่งอันดามัน ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งไปยังโลกตะวันตก ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่อย่างเช่น ตลาดของอินเดีย การช่วยเหลือประเทศพม่าดังกล่าวข้างต้น ช่วยส่งเสริมด้านแรงงาน กำลังซื้อ   จะนำไปสู่การซื้อสินค้าของประเทศไทยมากขึ้นในที่สุด

                  “ วันนี้ นักธุรกิจไทย กึ่งไทยและต่างประเทศจำนวนไม่น้อยมีความรักในประเทศไทย สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ราวกับเป็นคนไทย เพราะรักเมืองไทย การมีธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน การจ้างแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกัน เพื่อให้เกิดการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพที่ดี ขณะนี้ ประเทศไทยได้มีการส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังอุตสาหกรรมในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและมีการเชื่อมโยงทรัพยากรต่างๆ กันมากขึ้น” นายกิตติรัตน์  กล่าวและว่า

                 เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่จะถึงนี้ จะมีการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของระเทศในกลุ่มสมาชิกกันมากขึ้น เช่น อัตราภาษีศุลกากร การค้าต่างๆ จึงขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร การที่ประเทศไทยอยู่ใกล้มาเลเซีย การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของมาเลเซียทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น กลุ่มจังหวัดที่มีเศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่เรื่องใหญ่ การดึงดูดนักท่องเที่ยว การจำหน่ายสิน้าทุกประเภท เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ต้องการให้หอการค้าไปช่วยกันพิจารณาว่ามีสินค้าประเภทใดที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมบริโภคกันเป็นจำนวนมาก มีกำลังซื้อกันมาก ก็จะต้องร่วมมือร่วมใจกันซื้อสนค้าที่มีฐานการผลิตนอกจังหวัดให้ยากขึ้น และให้ความสำคัญกับสินค้าที่ผลิตในพื้นที่มากขึ้น หากมีการผลิตในพื้นที่ ก็จะทำให้ค่าขนส่งถูกลง สินค้าราคาถูกลง

                สำหรับแนวคิดการผลิตข้างต้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 แบบ In-In หรือที่เรียกว่า ไทยทำ ไทยใช้ ไทยผลิต ขั้นตอนที่ 2 แบบ Out–In คือ การผลิตนอกพื้นที่ แต่ไปจำหน่ายยังในพื้นที่ ขั้นตอนที่ 3 แบบ In-Out คือ การผลิตในพื้นที่ แต่ไปจำหน่ายยังพื้นที่อื่นๆ

                  และขั้นตอนที่ 4  แบบ Out -Out คือ ผู้ประกอบการในจังหวัดที่มีฐานการผลิตที่อื่นและส่งสินค้าไปจำหน่ายที่อื่นๆ

                   ทั้งนี้ ต้องการให้ประเทศไทยโดยการจัดกลุ่มการทำงานของจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ภายใต้การนำของเลขาธิการ ศอ.บต. จะมีการผลิตสินค้าอะไร เพื่อจำหน่ายให้คนในพื้นที่ นอกพื้นที่และยังสามารถไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่ง ณ วันนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าของสินค้า

               ทั้งนี้สามารถสรุปแนวทางต่างดังนี้

              1. แนวทางที่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การมีผู้นำที่มีความมุ่งมั่น ที่อาจจะไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจโดยตรง แต่มีศักยภาพในการทำงานด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การมีวงออเคสต้า ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด หรือ การมี TK Park ที่เป็น 1 ใน 2 ที่ของประเทศไทย

               2.ต้องมีโรงงานที่ผลิตสินค้าในพื้นที่ โดยมีการสำรวจสินค้าที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมบริโภค และจับไม้จับมือกันระหว่างหอการค้าและ ศอ.บต. เพื่อชักชวนโรงงานเหล่านั้นให้มาลงทุนในพื้นที่ เพราะมีฐานการบริโภคขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถวาดฝันที่เป็นจริงได้ สามารถพัฒนาได้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศมาเลเซีย สามารถสร้างสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย

              3.จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างความม่งคั่งให้กับจังหวัด-ประเทศใกล้เคียง เป็นวิธีคิดที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ได้