Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ขาดที่พึ่ง ขาดเสาหลัก"เสียงสะท้อนผู้เยียวยาเหยื่อไฟใต้

"ขาดที่พึ่ง ขาดเสาหลัก" เสียงสะท้อนผู้เยียวยาเหยื่อไฟใต้ 

เอกราช มูเก็ม : รายงาน

          สำนักข่าวอะลามี่ : เสียงสะท้อนจากเหยื่อผลกระทบจากความไม่สงบชายแดนใต้ หลังขาดเสาหลักครอบครัว ส่งผลให้ผู้เคยหน้าที่แม่บ้านต้องเป็นเสาหลักแทน ล่าสุด3วัน พบมีผู้มาขอเยียวยาแล้วกว่า5พันคน  ด้าน “ทวี สอดส่อง”เผยเยียวยาไม่ใช่แค่เงิน แต่ครุมเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย

            นับตั้งแต่ปี 2547 เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่เพียงกระทบกับความมั่นคงชองรัฐเท่านั้น แต่ยังกระทบกับประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

             ที่ผ่านมานโยบายในการเยียวยาผู้ผลประทบได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการเยียวยาชดใช้เป็นเงิน และการดูแลสวัสดิภาพกับผู้ได้รับผลกระทบ แต่พบว่าการเยียวยายังมีช่องโหว่ และหลายคนยังตกสำรวจ

              ล่าสุดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่ออกรับลงทะเบียนจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2555 ที่อนุมัติกรอบเยียวยาวงเงิน 2,080 ล้านบาท ตามการเสนอของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี  พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน

          เพื่อเป็นการเดินหน้าเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ศอ.บต.จึงได้เริ่มคิ๊กออฟ โครงการด้วยการจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกรับลงทะเบียนเยียวยา หวังช่วยอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน และ ยังเป็นแนวทางป้องกันการถูกกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดี อ้างตัวดำเนินการแทนเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ หรือ หักหัวคิวอีกด้วย

          การจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกรับลงทะเบียน มีทั้งสิ้น 3 วัน กระจายไปใน 3 จังหวัด คือ วันจันทร์ ที่  21 พ.ค. จัดที่ จ.ยะลา วันอังคารที่ 22 พ.ค. จัดที่ จ.ปัตตานี และ วันพุธที่ 23 พ.ค.จัดที่ จ.นราธิวาส

          โดยตัวเลขการยื่นลงทะเบียนสัญจร 3วัน โดยแยกเป็นแต่ละจังหวัดดังนี้ จังหวัดยะลาวันแรก จำนวน 1512 คน ปัตตานีในวันที่สอง จำนวน 2058 คน และวันสุดท้ายที่นราธิวาส 1834 คน  รวมผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 5404 คน

           รอสเมาะห์ ดีสะเอะ ในวัย 28 ปี สาวชาวบ้านสะเอะ อำเภอกรงปีนัง จ.ยะลา หนึ่งในมายื่นเรื่องลงทะเบียนขอเยียวยาที่ อาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา บอกว่า สามีถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 52 หลังจากเกิดเหตุการณ์แม้ว่าจะได้รับการเยียวยาด้วยการชดเชยเงินให้แล้วส่วนหนึ่งก็ตาม แต่สภาพครอบครัวลำบาก

             “มาลงทะเบียนที่ ศอ.บต.จัดขึ้นในวันนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมาหลังได้รับชดเชยแล้วก็ไม่เคยมีใครไปเยี่ยมหรือยื่นมือช่วยเหลืออะไร ไม่ได้หวังอะไรมากมาย แค่อยากให้ทางหน่วยงานรัฐช่วยเหลือด้านการงานอาชีพเท่านั้น” รอสเมาะห์ กล่าว

            ขณะที่ วิภาวดี ประทีป วัย43ปี ชาวบ้านนาประดู อำเภอนาประดู่ จังหวัดปัตตานี ที่มายืนลงทะเบียนอีกคนหนึ่งบอกว่าสามีเป็นทหารพรานกรม41 ค่ายวังพระยา ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา โดนระเบิดเสียชีวิตในพื้นที่อำเภอบันนังสตาร์ เมื่อปี2550 เบื้องต้นได้รับการเยียวยาชดเชยเงินมาแล้วรวม 6แสนบาท ปัจจุบันมีภาระที่ต้องส่งลูกเรียนในระดับปริญญาตรีอีก 1คน  แค่อยากให้หน่วยงานช่วยเรื่องด้านอาชีพ เพื่อให้มีความมั่คงในครอบครัวมากขึ้น

(ชยาตา อนันกูล ยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง)

            ส่วน ชยาตา อนันกูล หญิงสาวอีกคนที่มายื่นเรื่องต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ เปิดเผยว่า อยากสมัครเข้าเป็น อส. ในจังหวัดนราธิวาส เพราะตอนนี้ไม่มีใครแล้วหลังจากคุณพ่อถูกยิงเสียชิตเมื่อปี 48 ต่อมาในปี2550 ตัวเธอเองก็ถูกระเบิด แต่โชคดีที่แค่ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็สาหัสเนื่องจากต้องผ่าตัดกระโลกและร่างกายหลายแห่ง

           “ หนูจบปริญญาด้านการบริหารจัดการ  อยากให้หน่วยงานของรัฐช่วยบรรจุเป็น อส.เพราะเป็นงานที่ถนัดเนื่องจากก่อนหน้านี้เคยปฎิบัติหน้าที่มาแล้วที่จังหวัดยะลา”ชยาตา กล่าว.

             เหยื่อจากความไม่สงบในชายแดนใต้อีกคน นางมากลือซง วาแต ในวัย 34 ปี ปัจจุบันเป็นข้าราชการครู โรงเรียนบ้านเตาปูน บอกว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รักถึง 2 คน ในเวลาใกล้เคียงกัน โดยสามีคือ นายมูฮามัด บาฮะคีรี ถูกคนร้ายลอบยิงเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2550 ที่ อ.กรงปินัง  

              หลังจากนั้นอีก 50 วัน นายอับดุลเลาะ วาแต ผู้เป็นพ่อ ซึ่งทำงานเป็นพนักงานเปิดปิดสัญญาณทางข้ามของการรถไฟ ก็ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงขณะที่กำลังเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ที่ บ้านบูเก๊ะคีรี ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

             “หลังเกิดเหตุลูก 3 คน ก็ถูกแม่สามี เอาไปดูแลโดยอ้างว่าตนไม่มีปัญญาจะเลี้ยงดู ส่วนเงินค่าชดเชยของพ่อภรรยาใหม่ของพ่อก็เป็นผู้รับเงินช่วยเหลือไปทั้งหมด “

             นางมากลือซง  กล่าวว่า นโยบายเยียวยาปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือรอบด้านมากกว่าอดีต ทั้งเรื่องจิตใจ ที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ และความเป็นธรรม โดย ส่วนตัวอยากได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษา

              ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดเวทีสัญจรศอ.บต.บประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจและ ลงทะเบียนแสดงความจำนงขอรับการช่วยเหลือเยียวยา ตามมติ ครม.24เมษา2555 ซึ่งมีการนิยามคำว่า เยียวยา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น แต่จะครอบครุมไปถึงคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบด้วย

              “ ทั้งนี้การยื่นความจำนงในครั้งนี้จะเป็นการแสดงตัวของผู้ที่เคยได้รับการเยียวยาและบางส่วนอาจมีผู้ตกค้างจากการสำรวจ ก็สามารถมายื่นได้ ทั้งนี้ข้อมูลของหน่วยงานราชการที่ได้รับก่อนหน้านี้อาจไม่ตรงกัน ซึ่งจากนี้ไปหลังลงทะเบียนแล้วจะส่งชุดลงไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง”

              เลขา ศอ.บต กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลานับตั่งแต่ปี 2547 มาจนถึงวันนี้รวมเวลา8ปี มีคนตายไปแล้วกว่า 5,000ราย ซึ่งบางรายยังไม่ได้รับการเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีรายงานว่าขณะนี้เริ่มมีแก๊งกินหัวคิวค่าเยียวยา ดังนั้นการลงทะเบียนในครั้งนี้ เพื่อสกัดแก๊งกินค่าหัวคิวอีกทางหนึ่งด้วย

              สำหรับผู้ที่ไม่สามารถมาลงทะเบียนทันตามวันเวลาทั้ง 3จุด สามารถยื่นเอกสารและขอแสดงตนเพื่อขอเยียวยาได้ทุกอำเภอในพื้นที่ที่ตนเองได้รับผลกระทบต่อไป