Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   'สุรินทร์'ชี้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานขวางทางโตพม่า

'สุรินทร์'ชี้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานขวางทางโตพม่า

           สำนักข่าวอะลามี่ : เลขาธิการอาเซียน ระบุ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาและฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่า

          ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่า การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคในพม่า จะเป็นตัวสกัดกั้น ไม่ให้นักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพ ทุ่มเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในดินแดนแห่งนี้

           "หากปราศจากโครงสร้างพื้นฐาน ปราศจากการเชื่อมโยงกันภายในพม่า พม่า ก็จะไม่สามารถแสวงหาประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จากบรรดาชาติสมาชิกในกลุ่มอาเซียน และ อาศัยการผนึกกำลังกับอาเซียน ขยายการค้าการลงทุนออกไปทั่วโลก ฉะนั้น การสร้างเครือข่ายถนน ระบบราง และ เครือข่ายลอจิสติก ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง" เลขาธิการอาเซียน กล่าว

           ปีที่แล้ว รัฐบาลทหารพม่า ที่ปกครองประเทศด้วยกฏเหล็กมานานถึง 50 ปี เริ่้มดำเนินการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจัดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศและปฏิรูปด้านต่างๆ จนทำให้ บรรดานักลงทุนต่างชาติ เริ่มเคลื่อนไหว เพื่อเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแห่งนี้ ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไม้สัก และอัญมณี และถือเป็นดินแดนยุทธศาสตร์ตรงกลางระหว่างอินเดียและจีน

          แต่พม่า ก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับปรุง อาทิเช่น การให้บริการทางการเงิน การสร้างถนนสายใหม่ๆ สร้างโรงแรม สร้างระบบราง และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่เหมาะสม

            แม้แต่การจัดหากระแสไฟฟ้าให้ประชากรจำนวน 60 ล้านคน ยังเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพม่า ประเทศที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดในกลุ่มอาเซียน ที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมประท้วงกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในหลายเมืองได้ รวมถึง เมืองย่างกุ้ง เมืองสำคัญทางการค้า ถือเป็นการลิ้มรสชาติการเปลี่ยนแปลงด้านประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจำกัดของชาวพม่า

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ เลขาธิการอาเซียน มองว่า รัฐบาลพม่า จำเป็นต้องรับมือกับสถานการณ์ชุมนุมประท้วง ด้วยท่าทีสงบ เยือกเย็น และควรมองว่า การชุมนุมประท้วงเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองเผด็จการทหาร ไปสู่ ประชาธิปไตย

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์