Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   จากถนนท่าสะอ้าน..สู่...ศูนย์เตรียมความพร้อมอาเซี่ยนสงขลา

จากถนนท่าสะอ้าน สงขลา..สู่...ศูนย์เตรียมความพร้อมอาเซี่ยน

เอกราช มูเก็ม : รายงาน

                สำนักข่าวอะลามี่ : ขณะที่หลายคนหลายภาคส่วนเริ่มตื่นตัวเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้

               แต่ยังมีกลุ่มคณะบุคคล จาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 ส่วนที่ 2  อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา กำลังตื่นตัวไม่แพ้ที่อื่น

                  ที่นี่ถูกเรียกว่า “ ศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซี่ยน” ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าสะอ้าน อ.เมือง จังหวัดสงขลา  เพื่อให้เด็กในพื้นที่ได้ใช้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้อาเซียนศึกษา

                  หากจะบอกว่า “ ศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซี่ยน” ที่นี่ เปิดตัวอย่างเป็นทางการก็ไม่ชัดเจน แต่เพิ่งจะเปิดตัวเพื่อให้เด็กได้รู้จักศูนย์แห่งนี้ครั้งแรกเมื่อวันนี้ 13 มกราคม 2555 จนถึงวันนี้ผ่านมากว่าครึ่งปี แม้จะไม่มีอะไรเปลี่ยนทางกายภาพมากนัก อันเนื่องมาจากด้วยงบประมาณที่จำกัด

                  แต่สิ่งที่เห็นถึงการเปลี่ยนได้ชัดมากที่สุดคือ รอยยิ้มของคณะทำงาน ที่มี "ดร.สุทิพย์ พูลสวัสดิ์" ในฐานะหัวหน้าโครงการที่นี่

                  สำนักข่าวอะลามี่ ได้ลงพื้นที่ไปดูการทำงานพบว่า ภายในตัวอาคารชั้น1 ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 ส่วนที่ 2  ถูกจัดตกแต่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องอาเซี่ยน  สัญลักษณ์และธงชาติของสมาชิกประเทกลุ่มประชาคมอาเซี่ยน แผนที่ที่ถูกจำลองเพื่องายต่อการเรียนรู้ ตลอดจนภาพกิจกรรมที่สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

                วันนี้เราได้พบกับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวัดเลียบ ต.สิงหนคร อ.สิงหนคร จ.สงขลา  และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดตาหลวงคง ต.ชิงโค  อ.สิงหนคร จ.สงขลา ร่วม50คน ต่างสนใจเรียนรู้เรื่องอาเซี่ยน เพราะสำหรับเขาแล้วถือว่าเป็นเรื่องใหม่ หลังจากที่ครูนำมาศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการศึกษาเรื่องประชาคมอาเซี่ยน

                 นายเฉลิมศักดิ์ มุสิเกษม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวัดเลียบ บอกว่า การศึกษาเรื่องประชาคมอาเซี่ยน จัดอยู่ในหมวดวิชาสังคม ขณะนี้เป็นโยบายของรับบายที่เร่งให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน โดยเด็กเหล่านี้จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องข้อมูลพื้นฐาน ของอาเซี่ยนศึกษา

                “เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน มาถึง หลายคนมองในเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งนี้อยู่ที่ว่าคุณอยู่จุดไหนแล้วมองออกไป ในส่วนตัวในฐานะนักการศึกษามองว่า ไทยไม่ได้เสียเปรียบเรื่องประชาคมอาเซี่ยน เพราะที่ผ่านมาเรามีการติดต่อสื่อสารและไปมาหาสู่กันตลอดเวลา” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวและว่า 

               ทั้งนี้คงเป็นไปไม่ได้ที่เราในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซี่ยน จะไปมาหาสู่กับประเทศสมาชิกทั้งหมด แต่เมื่อเราอยู่พื้นที่ไหน มีความสัมพันธ์กับใคร เช่นคนสงขลาและคนชายแดนใต้ สัมพันธ์กับมาเลเซีย ก็ใช้ภาษามาเลเซียในการติดต่อ ซึ่งคนในท้องถิ่น เขาใช้ภาษานี้ติดต่อกันมานานแล้ว ส่วนใครจะใช้ภาษาอังกฤษ เป็นการสื่อสารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งดังนั้นจะอยากให้รัฐบาลเข้าในในภูมิศาสตร์และทางกายภาพทางสังคม  เพราะมิฉะนั้นเราจะหลงทางและอย่ามองว่า ความได้เปรียบเสียเปรียบ

                ด้าน ดร.สุทิพย์ พูลสวัสดิ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการศูนย์เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซี่ยน บอกว่า ศูนย์แห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นบนข้อจำกัดทั้งงบประมาณและบุคลากร แต่ก้าวย่างของศูนย์แห่งนี้จะพยายามให้เป็นศูนย์ข้อมูลของอาเซี่ยน และเป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องประชาคมอาเซี่ยน ซึ่งในอนาคตอันไกล้ เราจะเปิดการเรียนการสอนภาษามาลายูกลาง เพื่อให่คนทั่วไปสามารถมาเรียนรู้ได้

                ”เราจะพยายามรวบรวมองค์ความรู้อาเซี่ยน ทั้งในและต่างประเทศให้มาอยู่ที่นี่  นอกจากนี้เราจะยกระดับให้3จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการเปลี่ยนมุมมองใหม่ ว่า3จังหวัดไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นโอกาสสู่ประชาคมอาเซี่ยน อีกทั้งที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้อาเซี่ยนในเชิงลึก ทั้งหมดเป็นการวาดฝันว่าเราและทีมงานจะต้องเดินไปข้างหน้า” ดร.สุทิพย์ กล่าว.

               ขณะที่ นางสาว ฟาติมะห์ นิกรือจิ นักวิชาการอิสระ ด้านชาติพันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ศูนย์เตรียมความพร้อมประชาคมอาเซี่ยน และเป็นวิทยากรประจำที่นี่ บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์แห่งนี้ได้รับการตอบรับจากโรงเรียนในสังกัด นักเรียน รวมถึงภาคสังคมอื่นทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชม นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้ประชาคมอาเซี่ยน

              “เด็กนักเรียนที่มาดูงานและเรียนรู่ที่ศูนย์เตรียความพร้อมที่นี่ จะได้สัมผัสกับการใช้ภาษาที่แปลกไปกว่าชีวิตประจำวัน มาที่นี่จะได้ยินภาษาใหม่เช่น เราพยายามทักทายเขาด้วยภาษาต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษ มาเลเซีย และภาษาอื่นๆทำให้เด็กนักเรียนรู้ว่ามีภาษาอื่นอีกมากมายที่เขายังไม่รู้” นางสาว ฟาติมะห์ กล่าว.

              ความพยายามของกลุ่มคนดังกล่าว แม้จะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ แต่นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญต่อการเปิดโลกทัศน์และองค์ความรู้ของเยาวชนและคนไทยสู่กากรเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน(AEC)ที่มีพลเมืองมากกว่า600ล้านคน