Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   รายงานพิเศษ: "แม่สอด" ประตูสู่อันดามัน

รายงานพิเศษ:  "แม่สอด" ประตูสู่อันดามัน

บายไลน์ : หลิวเม่าซาน

 นักข่าวมืออาชีพเกาะติดสถานการณ์ข่าวเศรษฐกิจชายแดนลุ่มน้ำโขงมานานร่วม15ปี.

++++++

          สำนักข่าวอะลามี่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า ถือว่าเป็นทำเลทองของประเทศไทย ในการเปิดประตูการค้าซีกตะวันตกออกไปเชื่อมกับประเทศพม่า ที่กำลังขึ้นชื่อเวทีตลาดโลก ถึงความเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติระดับเวิลด์คลาส

            ด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ ส่งผลให้บรรยากาศของหัวเมืองชายแดนแห่งนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และในอนาคตกำลังจะกลายเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ในฐานะประตูหน้าด้านในการรับมือการค้าไร้พรมแดนในกรอบอาเซียน

            บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ให้ความเห็นถึงการพัฒนาอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า แนวทางที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการให้ทันการเปิดประตูสู่การค้าเสรีในอาเซียน คือ การเร่งดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดให้แล้วเสร็จก่อนที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลในปี 2558

โดยเชื่อว่าประชากรกว่า 600 ล้านคน จะหลั่งไหลเข้ามาผ่านเมืองแม่สอดกันอย่างคึกคัก เพราะถือว่าเป็นเส้นทางที่เข้าสู่กรุงย่างกุ้งทางบกที่ใกล้ที่สุดแล้ว และหากดำเนินการเป็นรูปธรรมจะเป็นการสร้างโมเดลให้กับเมืองชายแดนด้านอื่นๆ ของประเทศไทยนำไปพัฒนาให้เกิดความสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ

            หอการค้ามองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนให้อำเภอแม่สอดพร้อมตั้งรับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในกรอบของอาเซียนได้อย่างเข็มเข็ง โดยเวลาที่เหลืออยู่อีก 2-3 ปีนับจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมอย่างรอบด้าน เป็นต่อไปที่แนวโน้มของอำเภอแม่สอด คงไม่ใช่แค่การเป็นประตูหน้าด่าน เพื่อเป็นเส้นทางผ่านเท่านั้น แต่จะต้องผลักดันให้เป็นแหล่งการค้า การลงทุนจากทั่วโลกภายในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยสามารถถือกระเป๋าใบเดียวนำเงินเข้ามาลงทุนได้ไม่ต้องมากังวลในด้านของการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบพม่าหากว่าภาครัฐของไทยไม่มองข้าม

            "ปัจจุบันนี้แม่สอดเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการ์เม้นท์ และสิ่งทอแหล่งใหญ่ของประเทศ ยังไม่รวมกับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และภาคพาณิชยกรรมต่างๆ จุดเด่นจะอยู่ที่การใช้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า และข้อได้เปรียบของเส้นทางคมนาคมที่อยู่ใกล้กับพม่า” บรรพต กล่าวและว่า

ซึ่งทุกวันนี้ในฝั่งตรงข้ามคือจังหวัดเมียวดี ก็ใช้ระบบการสื่อสารของไทย แม้ว่าพม่าจะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเมียวดีล่วงหน้าไทยไปแล้ว แต่ต่อไปเมื่อเราพัฒนาในพื้นที่ของแม่สอดแล้ว ยังสามารถที่จะเชื่อมโยงพัฒนาร่วมกับพม่า ในรูปแบบของเขตเศรษฐกิจร่วมไทย-พม่า ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่นักลงทุนจากนานาประเทศให้ความสนใจ

            ขณะที่ สุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้ความเห็นว่า ตามภูมิประเทศของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถือได้ว่ามีความโดดเด่นในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศพม่าที่ถือว่ากำลังเป็นที่สนใจในสายตากลุ่มนักลงทุนทั่วโลก จากการเปิดประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน

“เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีผลเปิดเสรีเชื่อมโยงกลุ่มประเทศสมาชิกในปี 2558 เท่ากับว่า อำเภอแม่สอด ของไทย จะเปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านที่สำคัญ ในการเปิดประตูการค้า การลงทุนซีกตะวันตก ที่จะใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างไทย-พม่า-ยุโรป” สุริยะ กล่าวและว่า

            อำเภอแม่สอด หากเปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ ก็เหมือนกับกึ่งกลางของเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต โดยไม่เพียงแต่เชื่อมโยงผ่านพม่าเข้าไปบังคลาเทศ, ปากีสถาน, อินเดีย, อิหร่าน, ตุรกี เข้าสู่ยุโรปแล้ว ในเส้นทาง East-West Corridor ก็สามารถเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดแถบภาคอีสาน และออกสู่จังหวัดมุกดาหาร ผ่าน สปป.ลาว เข้าไปยังประเทศเวียดนามได้อย่างสะดวก ด้วยการคมนาคมทางบก

ซึ่งจากนั้ไป จากเดิมที่เคยใช้เวลาในการเชื่อมโยงหากันในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านร่วมเดือน ก็จะร่นเวลามาเหลือเพียง 1- 7 วันเท่านั้น ขณะที่ยังสามารถเชื่อมต่อเข้าไปยังแหลมฉบังอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อลำเลียงสินค้าสู่ประเทศที่ 3 ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

            ด้าน พงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ให้ความเห็นถึงความพร้อมของด่านศุลกากรแม่สอดรองรับ AECว่า ทางกรมศุลกากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการทำงาน เพื่อรองรับการค้าเสรี โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Nationnal Single  Window

“ คาดว่าปลายปีนี้ การออนไลน์ของระบบจะสามารถนำมาใช้งานในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอันจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมไปถึงการปรับโครงสร้างบุคลากรให้เหมาะสมกับพื้นที่ “ พงศ์เทพ  กล่าวและว่า

ทั้งนี้จะมีการเพิ่มบุคลากรท้องถิ่นที่สามารถใช้การสื่อสารพม่าควบคู่กับการใช้ภาษาไทย และอังกฤษ เพื่อเป็นการพัฒนาให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้รวดเร็วขึ้น

            สำหรับศักยภาพทางการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรแม่สอด ถือว่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ในช่วงที่มีการปิดด่านเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยังมีมูลค่าการส่งออก 18,000 ล้านบาท และหลังจากมีการเปิดด่านเมียวดี มูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการส่งออก และนำเข้าสินค้าผ่านด่านแม่สอดเป็นอย่างดี

ล่าสุด ในช่วง6เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 มีมูลค่าการค้ามากกว่า 15,000 ล้านบาทแล้ว หากว่าเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างไทย-พม่า โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเมียวดี-กอกาเลก ที่รัฐบาลไทยให้เงินช่วยเหลือจำนวน 1,000 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จมูลค่าการค้าภายใน 2-3 ปีข้างหน้ามีโอกาสจะเพิ่มเป็นปีละแสนล้านบาท .

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับปฐมฤกษ์(มิ.ย.55)