Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   “สุรินทร์”แนะอาเซี่ยนร่วมมือพัฒนาฮาลาลป้อนตลาดโลก

สุรินทร์”แนะอาเซี่ยนร่วมมือพัฒนาฮาลาลป้อนตลาดโลก

        สำนักข่าวอะลามี่: เวทีวิชาการนานาชาติวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาล (HASIB 2012) โชว์ศักยภาพฮาลาลไทย “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ”แนะอาเซี่ยนร่วมมือพัฒนาฮาลาลป้อนตลาดโลก

         เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการนานาชาติวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาล (HASIB 2012) และ งานแสดงสินค้านานาชาติ ผลิตภัณฑ์ฮาลาล สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT-GT Halal Expo 2012) โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5   ตั้งแต่วันที่ 13-15 ตุลาคม  ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่

         งานนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน  อาจารย์อรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากจุฬาราชมนตรี และ นายวิเชียร จันทรโณทัย รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นประธาน

         ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานว่า ปัจจุบันประชากรมุสลิมมีมากถึง 50 % จากประชากร 600 ล้านคนในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่มวลรวมของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซี่ยนมากถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยหนึ่งในเครื่องมือ ที่จะผลักดันความสำเร็จของอาเซียนคือตลาดอาหารฮาลาล ที่มีมูลค่าสูงถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

         “ หากอาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาล ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ อาเซียน จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของทั้งโลกมุสลิมและโลกโดยรวม ไม่เพียงทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ทางสังคม วัฒนธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พร้อมกันไปด้วย”

           ดร.สุรินทร์  กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอาหารที่ดีสำหรับมนุษย์ 7,000 ล้านคน ซึ่งเราจะบริหารจัดการมันอย่างไร ให้มีคุณภาพ และถูกต้องตามวิธีการเชือด ถูกต้องตามฮาลาล พร้อมให้ความมั่นใจและสามารถพิสูจน์ตราฮาลาล ได้  ซึ่ง ตราฮาลาล ดังกล่าวจะเป็นบาร์โค๊ต สามารถตรวจสอบที่มาว่าได้รับการรับรองโดยใคร หมดอายุเมื่อไหร่

      “ มุสลิมเราเรื่องกินเรื่องดื่มเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คือเรื่องของความศรัทธาและความเชื่อ เราจะผลิต แปรรูป รวมทั้งแพ็คเกตจิ้ง ซึ่งเราจะต้องทำสิ่งนั้นให้ดี ใครมีจุดแข็งอะไรในการดำเนินธุรกิจ  In The Wlod Market  ใช้จุดแข็งในแต่ละประเทศมาช่วยกันเติมเต็มเป็นจุดเสริมด้วยกัน รับรองฮาลาลซึ่งกันและกัน และช่วยกันผลักดันฮาลาล ให้มากขึ้น  นี่คือประโยชน์ทางภูมิปัญญาและต้องช่วยกันรักษากันไว้ให้ดี”ดร.สุรินทร์ กล่าว

          ด้าน รศ.ดร.วินัย ดะห์สัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติหรือ HASIB 2012ในปีนี้ไฮไลท์ของงานจะมีนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปร่วมบรรยายเรื่องอานุภาพของตราฮาลาล

           นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอนวัตกรรมระบบบาร์โค้ดและซอฟแวร์ เพื่อใช้ในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานฮาลาล (Halal infrastructurization) พร้อมสาธิตการตรวจติดตามตู้คอนเทนเนอร์ บรรจุสินค้าที่ใช้ขนส่งผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวางระบบและรับรองฮาลาล เป็นการสร้างความมั่นใจแก่โลกมุสลิมว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ฮาลาล โดยการันตีด้วยผลงานรางวัลสุดยอดนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลสองปีซ้อนจากงาน World Halal Research Summit 2012 ที่ประเทศมาเลเซีย และ ผลงานนวัตกรรมดังกล่าวยังควบรวมระบบการผลิตอาหารฮาลาลปลอดภัยตามระบบ HAL-Q เข้ากับประบวนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศตรวจสอบรับรองและควบคุมการขนส่งผลิตภัณฑ์ฮาลาลตลอดห่วงโซ่อุปทานกระทั่งถึงมือผู้บริโภค

          

           “ในปีนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ฮาลาล นักอุตสาหกรรม นักธุรกิจฮาลาล กว่าสิบประเทศ เข้าร่วม พร้อมลงนามความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานด้านฮาลาล  6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา ปากีสถาน ญี่ปุ่น และไทย ซึ่งมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้แทน”