Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ฑูตสหรัฐฯแนะสร้างบรรยากาศการเจรจาดับไฟใต้

มุมมอง ”คริสตี้ เคนนีย์”ทูตสหรัฐฯ

               แนะสร้างบรรยากาศการเจรจาดับไฟใต้  

               ลั่นไม่แทรกแซง ชี้ เรื่องของคนไทยต้องแก้กันเอง

โดย กองบรรณาธิการ นิตยสาร ดิ อะลามี่

              สำนักข่าวอะลามี่ : มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จะขยับอะไร ก็ล้วนแต่เป็นข่าว ซึ่งมีทั้งทางบวกและทางลบ โดยเฉพาะในสายตาของผู้คนทั่วไป มองว่าการเคลื่อนตัวของสหรัฐอเมริกา ทุกอย่างล้วนแฝงด้วยผลประโยชน์ 

             “ คริสตี้ เคนนีย์” (Kristie Kenney ) เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดบ้านพักย่านถนนวิทยุ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ นิตยสาร ดิ อะลามี่” ถึงบทบาทของทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กับมุมมองหลากหลาย

            จากนี้ไปบรรทัดต่อบรรทัด จึงเป็นคำถามและคำตอบ ที่หลายคนอยากรู้ หลายคนอยากฟัง ว่า ในฐานะท่านทูตสหรัฐฯมองและคิดอย่างไรกับประเทศไทย และเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องการเมืองและปัญหาชายแดนใต้

           ดิ อะลามี่: ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกาในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีวะระอะไรสำคัญๆที่ได้พัฒนาการร่วมกันบ้าง

          คริสตี้ :  ไทยกับสหรัฐอเมริกา เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานมาก มีความสำคัญในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและด้านวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ท้าทายในวันนี้คือ การทำความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้มีความทันสมัย ควรจะสร้างความมั่นใจว่าคนรุ่นต่อไปจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

          ปัจจุบันมีการลงทุนและมีนักธุรกิจของชาวสหรัฐในปะเทศไทย มากกว่า650 ธุรกิจ และจะมาเพิ่มอีกเรื่อยๆ เช่น ในภาคธุรกิจยานยนต์ เช่น ฟอร์ดมอเตอร์ และธุรกิจของคอมพิวเตอร์ เวสเทิร์นดิจิตอล ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่

          ดิ อะลามี่: ในฐานะเป็นนักการทูต มองเรื่องการเมืองในประเทศไทยอย่างไร

          คริสตี้:  ไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองของคนไทย การเมืองเป็นเรื่องของคนไทย ที่จะต้องแก้ไข และจัดการกันเอาเอง  ในฐานะที่คนต่างชาติ อยากจะให้คนไทยตระหนักว่า “ เป็นปัญหาของคนไทยซึ่งคนไทย จะต้องแก้ปัญหากันเอาเอง”

           ดิ อะลามี่: ท่านรู้สึกหนักใจหรือไม่ที่สื่อพยายามนำท่านสู่ปัญหา

            คริสตี้ : ปัญหานี้ในเรื่องนี้มันเกิดขึ้นในทุกๆแห่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ในเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็จะมีการโยงเอาเรื่องการเมืองเข้ามาตลอด

            ดิ อะลามี่: อเมริกามีนโยบายต่อชาวมุสลิมหรือต่อประเทศมุสลิมอย่างไร

            คริสตี้ : ในที่นี้จะขอพูดในเรื่องของประเทศไทย ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเองมีชาวมุสลิมมากมาย โดยเฉาะประธานาธิบดีสหรัฐฯเองก็ได้มีความพยายามอย่างยิ่ง ที่จะพูดหรือสื่อสารกับชาวมุสลิมทั่วโลก

            “ เมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า  กล่าวสุนทรพจน์ ที่ประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นคำกล่าวที่มีนัยยะสำคัญ ในส่วนของดิฉันเอง ก็มีประสบการณ์ที่ดีและมีความเข้าใจมากกับชาวมุสลิม เคยไปเยือนมัสยิดหลายที่ ทั้งที่ สงขลา นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นมัสยิดที่ใหญ่”

             สำหรับนโยบายของสหรัฐนั้น มุ่งเน้นในเรื่องของความสำคัญในทุกๆด้านที่สำคัญคือ การตระหนักและการทำความเข้าใจถึงศาสนา และต้องตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนของมุสลิมทั่วไปของทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย ชาวอินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์  เหล่านี้ เรามีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจและทำความรู้จัก

 

            ดิอะลามี่: อเมริกาจะถูกมองว่าไปเกี่ยวข้องหรือไปแทรกแซงการเมืองภายในของแต่ละประเทศบ่อยครั้ง ในฐานะท่านเป็นทูตซึ่งเป็นตัวแทนของสหรัฐจะอธิบายอย่างไร    

           คริสตี้: ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น หวังว่าท่านจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดอันนี้ได้  เราจะต้องมีความเคารพในความเชื่อของคนในท้องถิ่น เรื่องความคิดที่ว่าสหรัฐเข้าไปแทรกแซงที่จริงมันไม่ใช่นะคะ ทางสหรัฐ เราเข้าใจในวัฒนธรรม และความคิดของชาวมุสลิม และเราก็เชื่อและนับถือในเรื่องของสิ่งเหล่านี้”

          “ คนชาวมุสลิม ก็ไม่ควรกลัวชาวสหรัฐฯนะ เราก็หวังว่า ท่านจะสามารถจะสร้างความกระจ่างในเรื่องของความคิดอันนี้ให้กับชาวมุสลิมในประเทศไทยได้”

          ดิ อะลามี่: หลายคนวิจารณ์ว่าสหรัฐเข้าไปแทรกแซงในตะวันออกกลาง รวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องภาคใต้จะอธิบายอย่างไร

        คริสตี้: ไม่จริง สหรัฐมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ และขอย้ำว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาของประเทศไทย ที่คนไทยที่จะต้องเป็นคนแก้ไข  ส่วนตัวก็ไม่อยากเห็นใครถูกทำร้ายหรือได้รับบาดเจ็บ

          “ สิ่งที่เราพยายามจะทำก็คือ เราพยายามที่จะทำความเข้าใจของมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ถ้ามีโอกาส ก็จะพูดกับเขาทั้งเป็นการส่วนตัวและในเวทีสาธารณะ โดยที่ผ่านมาสถานทูตก็ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางมหาวิทยาลัยในภาคใต้และมีการเสนอให้ทุนกับนักเรียนและคนทั่วไปที่จะไปดูงาน  เราเองก็พยายามที่จะเสนอให้คนไทย รู้จักคนอเมริกันมากขึ้น ดิฉันคิดว่าคนไทยมุสลิมจะพูดกันด้วยความเข้าใจ”

           ดิ อะลามี่ : ท่านคิดว่าจะมีวิธีไหนเพื่อให้สถานการณ์ใต้ยุติ ในฐานะที่เป็นนักการทูต มองว่าจำเป็นต้องมีการเจรจา เพื่อให้มีสันติภาพหรือไม่

          คริสตี้: ไม่ทราบว่าคำตอบจะออกมาอย่างไร แต่มองว่า เราน่าจะสามารถคุยกันได้ เนื่องจากมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว  ในการที่จะพูดคุยกันได้ จะต้องมีการสร้างบรรยากาศที่ดี และมีความปลอดภัย และรู้สึกดี ที่จะคุยกันได้

            แม้ว่าเราจะเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาที่ว่า “การศึกไม่เคยจบด้วยกระบอกปืน ต้องมีการเจรจา” แต่มองว่า มันก็ง่ายอย่างที่จะพูด และยากไปกว่านั้นคือ การสร้างบรรยากาศที่จะเจรจากันให้ได้

          ดิ อะลามี่: ถ้าจะให้อเมริกาเป็นตัวแทน ในการเจรจาและเป็นเจ้าภาพในการเจรจาได้หรือไม่

         คริสตี้: เป็นปัญหาของคนไทย ซึ่งคนไทยควรพูดกับคนไทยเอง

         ดิ อะลามี่: สถานการณ์พม่า อเมริกาให้ความสำคัญกับพม่าอยู่ในระดับไหน

            คริสตี้: สหรัฐให้ความสำคัญกับทุกประเทศในภูมิภาคอาเซี่ยน โดยเฉพาะพม่าจะเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะช่วยให้พม่ามีการพัฒนาให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น และช่วยในเรื่องของระบบประชาธิปไตย ให้มีการพัฒนาขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ทางสหรัฐกำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับคนไทย และเมื่อเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีของไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินิวัตร ได้พบกับ นางฮิลลารี่ คลินตัน ก็ได้พูดกันถึงเรื่องนี้ว่า จะสามารถร่วมมือกันได้อย่างไรบ้าง

         “ เราพูดถึงเรื่องของยกระดับเศรษฐกิจ ยกระดับของประชาธิปไตย และ ในเรื่องของการลงทุน ในประเทศพม่า”

         คริสตี้ บอกว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบ เพราะว่าเราเพิ่งจะเป็นการเปิดประเทศ และทางธุรกิจของสหรัฐเพิ่งรับรู้ในเรื่องนี้  โดยเมื่อเร็วนี้เป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนของกลุ่มนักธุรกิจสหรัฐเข้าไปในพม่า นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับสหรัฐที่เข้าไปในพม่า ทั้งนี้นักลงทุนก็จะต้องมีความรับผิดชอบและช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ช่วยในเรื่องของการปกป้องสิทธิของคนงาน  และมีส่วนช่วยในเรื่องของการพัฒนาประเทศ

           ดิ อะลามี่: อยากให้ท่านมองเรื่องของประชาคมอาเซี่ยน มีผลดีอย่างไรกับประเทศไทย หรือจะต้องมีการพัฒนาอะไร เพื่อจะให้ก้าวทัน AEC

            คริสตี้: เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับประเทศอาเซียน ประเทศไทย จะต้องเป็นศูนย์กลางของประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องต่างๆ ทั้งด้านการคมนาคม นับเป็นโอกาสที่ดีและสำคัญสำหรับคนไทย

           ดิ อะลามี่: อเมริกา สนใจการเคลื่อนไหวของการร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอาเซี่ยน แค่ไหน

            คริสตี้: น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมอาเซี่ยน มีประชากรมากถึง 650 ล้านคน  การรวมกลุ่มของอาเซี่ยนมีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะในเรื่องของทางธุรกิจ เรื่อง ทางการศึกษา เป็นสิ่งที่น่ามีความสนใจเป็นอย่างมาก

           “ ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเกิดว่าเรามี  โรงงานสักแห่งหนึ่งในประเทศพม่า กัมพูชา เวลาเราเคลื่อนย้ายของที่เราผลิตมายังแหลมฉบัง ไทยเราเป็นศูนย์กลาง ทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดมาก ถ้าเกิดว่าเราคิดอันนี้ขึ้นมา”

           ดิ อะลามี่: ท่านคิดว่าอาเซี่ยน จะต้องพัฒนาอะไรเพิ่มขึ้น

          คริสตี้: ประการแรกคือ เรื่องของภาษา  ภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะการปรับปรุง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ สื่อมวลชน ก็ควรที่จะอธิบายให้คนได้รับรู้ถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน เช่น หนังสือ หรือ นิตยสาร ดิ อะลามี่ ก็จะมีส่วนช่วยในอธิบายถึงโอกาสของคนในชาติอาเซี่ยน ที่จะเกิดขึ้นของ AEC ได้

           ดิ อะลามี่: ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธ์และความขัดแย้งชายแดน จะเป็นอุปสรรคของการรวมอาเซี่ยนหรือไม่

           คริสตี้: หวังว่ามันจะไม่เป็นอย่างนั้น  หวังว่าคนในชาติอาเซี่ยน จะเห็นถึงโอกาสอันนี้ ว่าจะช่วยสามารถที่จะเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะผ่านความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัยหรือคนในรัฐบาลว่า สิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงถึงกันได้

 หมายเหตุ: ตีพิมพืครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกันยายน 2555