The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เล่าเรื่องจากชายแดนใต้

ตอน : ล่องทะเลดูฮวงซุ้ย" เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว "

โดย อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง

+++++++++++

                เมื่อประมาณ 2538 เราได้ลงเรือท่องแม่น้ำประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปากอ่าวบ้านปาเระ ที่อยู่ใกล้กับคลองปาแปรี บ้านปาเระงอฮง ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี

                เรือได้พาเราแล่นผ่านบ้านของอดีตซึ่งเคยเป็นช่างทองให้แก่ ราชสำนักปาตานี ในสมัยนั้น ....เราหยุดเรือ และลงเดินคุ้ยเขี่ยดินบริเวณนั้น พบว่ายังคงเห็นร่องรอยของเศษผงทอง...ทำให้เราและคณะตื่นเต้นมาก

                หลังจากนั้น คณะของเราเดินทางต่อ ผ่านหมู่บ้านกะดี (กือดี) ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่นั่นนับถือศาสนาพุทธ  หมู่บ้านแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง  เรือยังพาเราล่องต่อไป ผ่านหมู่บ้านเชคดาวุด อัลฟาฏอนี อดีตนักการศาสนา ผู้มีผลงาน ด้านการเขียนวรรณกรรมอิสลามที่เรียกว่า กีตาบญาวี ( Kitab Jawi ) เป็นตำราศาสนาอิสลาม ที่ยังใช้กันในโลกมลายู(Nusantara)จนถึงปัจจุบัน

                ทั้งนี้ในอดีต เชคดาวุด นักการศาสนาท่านนี้ เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างปาตานี กับเมืองมักกะฮ์  ประเทศซาอุดิอารเบีย อันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองระหว่างนครรัฐปาตานีกับสยาม ในขณะนั้น

                คณะของเราล่องเรือถึง บ้านกาแลบือซา (Pengkalan Besar) เป็นหมู่บ้านท่าเรือใหญ่ ที่นี่ เราเห็นบ้านท่าศพ ( Pengkalan Mayat ) ชุมชนแห่งนี้ที่มีลักษณะเด่นคือ มีหินบนหลุมฝังศพมากมาย เรียงรายระเนระนาดไปทั่วบริเวณ สันนิษฐานว่า ...น่าจะเป็นที่ฝังศพจำนวนมากที่เกิดจากการสงครามในอดีต แต่เรือของเราใหญ่เกินไป ที่จะล่องเข้าไปดูใกล้ จึงได้เห็นจากระยะห่างไกลเท่านั้น

                ขณะที่เรือของเรา ล่องไปที่ปากอ่าวบ้านปาเระ ไกด์นำทาง ได้นำเราลัดเลาะเรือผ่านชายหาดบ้านตันหยงลูโละ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน ไกด์บอกว่า วันนี้และเวลานี้ น้ำทะเลกำลังลง เราอาจจะมีโอกาสเห็นร่องรอยฐานฮวงซุ้ย ที่พี่น้องชาวจีนนับถือและมากราบไหว้อยู่เสมอทุกปี ก่อนที่ คุณดิเรก คณานุรักษ์ และคณะอดีตนายกเทศมนตรีปัตตานี จะอัญเชิญวิญญาณ ไปอยู่หน้ามัสยิดกรือเซะ ในปัจจุบัน ..นั่นคือ ฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว

                ทั้งนี้ด้วยสาเหตุชาวบ้านตันหยงลูโละ ไม่ชอบที่จะให้มาจุดประทัดเสียงดังในหมู่บ้าน อดีตนายกเทศมนตรีปัตตานี  จึงย้ายขึ้นมาอยู่บนฝั่งติดกับมัสยิดกรือเซะ ในปัจจุบัน

               ไกด์ บอกว่า ฮวงซุ้ย ที่เห็นอยู่เบื้องหน้า นั่นคือ " เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว"  ที่คนจีนนับถือ ก่อนหน้านั้น มันอยู่ที่ตรงนี้ (หมู่บ้านตันหยงลูโละ)

                และเป็นโชคดี ที่วันนั้น น้ำทะเลกำลังลงพอดี เราและคณะสามารถเก็บภาพหลักฐานได้ดังที่ปรากฏ

                เรื่องนิทานปรัมปรา ที่เกี่ยวข้องกับ ประวัติศาสตร์ปาตานีดารุสสลาม มีหลายเวอชั่น  คงไว้จะเล่าในโอกาสต่อไป (ถ้าสนใจ )

                สิ่งสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ คือ เราจะใช้ประวัติศาสตร์ไม่ให้มีการบิดเบือน เบียดเบียน ดูถูก ดูแคลน ปั้นน้ำให้เป็นตน ปั้นคนให้เป็นเทวดา เพื่อกดทับคนในสังคมเดียวกัน ไม่ได้  

                สิ่งเหล่านี้รอความท้าทายนักวิชาการและคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยกันหาทางออกเพื่อนำเสนอในสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไร มิใช่เป็นนักวิชาการ ประเภทสองหน้าสามหน้า ต่อหน้าคนฟังกลุ่มหนึ่งพูดอย่าง อีกกลุ่มหนึ่ง ให้ข้อมูลอีกอย่าง

                //////
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2557