The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ปิดช่องการเมืองแก้ พ.ร.บ.กลาโหม

ปิดช่องการเมืองแก้พ.ร.บ.กลาโหม
ม.43ล็อกแก้ก.ม.ต้องเข้าสภา กห.

โดย : ผึ้งหลวง

                สำนักข่าวอะลามี่ : แม้ว่าการทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารจะมีความสมบูรณ์เรียบร้อยไปแล้ว แต่ดูเหมือนฝ่ายการเมือง นำโดยส.ส.พรรคเพื่อไทยและเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ยังมีความพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่เป็นผลิตผลของรัฐบาล คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) สมัยที่ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี

                วัตถุประสงค์ที่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมา เพื่อป้องกันการล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง และต้องการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง ที่สำคัญต้องการให้กองทัพเป็นเขตปลอดการเมืองแทรกแซง

               เพราะที่ผ่านมารัฐบาลสามารถใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการในองค์กร ตำรวจ มหาดไทย ยุติธรรม และอีกหลายกระทรวงอย่างเบ็ดเสร็จ เหลือเพียงแค่กองทัพแห่งเดียวเท่านั้นที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปจัดโผเองไม่ได้

               ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย พยายามแก้ไขพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เพื่อเปิดทางให้รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารได้ เนื่องจากรัฐมนตรี ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง เป็นผู้กำหนดนโยบาย รับผิดชอบงานบริหาร แต่กลับไม่มีอำนาจสั่งการหรือแต่งตั้งตัวบุคคลที่เห็นว่ามีความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมได้ เพราะติดขัดด้วยมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ต้องกระทำโดยผ่านคณะกรรมการ

               ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ก็มาจากนายทหารที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงรัฐมนตรีว่าการหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการเท่านั้น

                สำหรับเนื้อหาใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ฝ่ายการเมืองต้องการให้แก้ไข คือมาตรา 25 ที่ระบุไว้ในวรรค 2-3 ว่า “การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่ง ตั้งขึ้นแล้วเสนอคณะกรรมการตามวรรคสามพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

               ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่ง ตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสองและระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทย

             จะเห็นได้ว่าการจัดทำพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้จัดโครงสร้างของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารว่า พ.ร.บ.กลาโหมระบุว่าให้มีคณะกรรมการในการพิจารณา 7 คน

               โดยมี รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม (กรณีที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หากไม่มี ก็จะเหลือเพียง 1 เสียงจาก 6 เสียง) ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. เมื่อมีการจัดตั้งแล้ว ก็ออกข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมถึงขอบเขตในอำนาจของคณะกรรมการดังกล่าว

                สังเกตได้ว่าจะมีฝ่ายการเมืองเพียง 2 เสียง (รมว.และรมช.) จากทั้งหมด 7 เสียง ซึ่งหากผู้บัญชาการเหล่าทัพผนึกกำลังกัน ก็จะสามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้ทุกตำแหน่งตามความต้องการ โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย

              ดังนั้นการที่ฝ่ายการเมืองออกมาเคลื่อนไหว เพราะไม่สามารถเข้าไปมีสิทธิ์มีเสียงในการปรับย้ายเด็กของตัวเอง ขณะที่พ.ร.บ.กลาโหมก็จะบล็อกในตัวของมันเองทั้งหมด เมื่อกองทัพมีมติออกมาอย่างไรก็จะต้องยึดตามมตินั้น

              จึงทำให้ฝ่ายการเมืองต้องการเข้าไปแก้ไข โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมสามารถเข้ามาแก้ไขจัดทำโผทหารได้

              โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย “ประชา ประสพดี” ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ “รองประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร” พยายามเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเห็นว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวอำนาจกับทหารมากเกินไป ทั้งที่โดยนิตินัยแล้วนายกรัฐมนตรีต้องมีส่วนเข้าไปดูและมีอำนาจในการตัดสินใจด้วย

              แถมยังบอกอีกว่าเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ แล้วจะเชิญรมว.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพมาให้ข้อมูลด้วย หากเชิญแล้วไม่มาก็จะเตือน 1 - 2 ครั้งก่อน หากยังไม่มาอีกก็จะใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็จะนำผลการศึกษาไปเสนอกับรัฐบาล นอกจากนี้ ส.ส.ก็ยังสามารถเข้าชื่อเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวได้เช่นกัน

             ดูเหมือน “ส.ส.พรรคเพื่อไทย”จะ เข้าใจว่ากระบวนการแก้ไขพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ทำง่ายไม่มีอุปสรรคและปัญหาอะไร

               แต่แท้ที่จริงแล้วการจะแก้ไข “พ.ร.บ.กลาโหม” จะต้องผ่านที่ประชุม “สภากลาโหม”ก่อน เมื่อสภากลาโหมผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็จะนำเรื่องให้รัฐบาลเพื่อนำสู่การพิจารณาแก้ไขของรัฐสภา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีความยุ่งยาก

               เพราะสลับซับซ้อนมาก เมื่อนำเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.เข้าสู่สภากลาโหม จะต้องผ่านด่านอรหันต์ที่มีคณะกรรมการแต่ละเหล่าทัพ เหล่าทัพละ 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ 5 คน ราชองครักษ์ 5 คน และรมว.กลาโหม อีก 1 คน รวมทั้งหมด 36 คน

              ดังนั้นกว่าจะผ่านขั้นตอนของสภากลาโหมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระบวนการตราพ.ร.บ.กลาโหมคือไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

               ที่สำคัญพ.ร.บ.กลาโหมได้ระบุไว้ในมาตรา43 (5)ว่า การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหารต้องผ่านมติสภากลาโหม

               สำหรับมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ระบุว่าในการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องดังต่อไปนี้ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม (1) นโยบายการทหาร (2) นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร (3) นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม (4) การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม (5) การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร (6) เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดให้เสนอสภากลาโหม

                จะเห็นได้ว่าใน (5) เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า “การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร จะต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหมเท่านั้น”

                ดังนั้นมาตรา 43 ของ “พ.ร.บ.กลาโหม” ถือเป็น “บล็อก” การแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการทหารไว้เกือบทุกเรื่องก่อนจะแก้ไขต้องได้รับความเห็นชอบจาก “สภากลาโหม” ก่อนถือเป็นการ “รู้ทัน” การเมือง เพราะการตราพ.ร.บ.ฉบับนี้ทำขึ้นในสมัยรัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์” ได้นำ “จุดอ่อน” ของกองทัพในสมัยรัฐบาลทักษิณมาแก้ไข เพราะขณะนั้นพรรคไทยรักไทยมีเสียงในสภาเกินกว่าครึ่ง การบริหารงานทั้งด้านบริหารและนิติบัญญัติจึงเบ็ดเสร็จ

              ผิดกับ “พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547” ที่แก้ไขในสมัย “พ.ต.ท.ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรีที่ให้อำนาจ “การเมือง” เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจได้โดยง่าย เนื่องจากโครงสร้างของ “พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ” มีนักการเมืองและคนนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจเข้าไปนั่งเป็น “คณะกรรมการ” อยู่จำนวนมากจึงไม่แปลกที่จะมีเสียงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนเสนอว่าอยากให้แก้ไข “พ.ร.บ.กลาโหม” เหมือนกับ “พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ”

               เพราะโครงสร้างของ “คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ” (ก.ต.ช.) ที่มีหน้าที่แต่งตั้ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” (ผบ.ตร.) คือ มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย 1.ฝ่ายรัฐบาล 2.ฝ่ายข้าราชการ และ 3.ฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ ถือว่ามีคณะกรรมการหลากหลายไม่ใช่มีเฉพาะข้าราชการตำรวจ
ที่สำคัญ “คณะกรรมการ” ดังกล่าวจะคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อแต่งตั้ง “ผบ.ตร.” ตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอ

                 ในเมื่อ “ประธาน ก.ต.ช.” คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจาก “ฝ่ายการเมือง” และเป็นผู้ที่เสนอชื่อ “ผบ.ตร.” จะมี “คณะกรรมการ” คนไหนกล้าเห็นแย้ง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ “ฝ่ายการเมืองแรง” คงไม่มีใครอยากออกมาแสดงความคิดเห็นแย้ง!

              แต่ในทางตรงกันข้ามหาก “กฎหมายแรง” ให้อำนาจข้าราชการมีเต็มที่ ก็จะทำให้ข้าราชการกล้าปฎิบัติงานได้เต็มที่ชนิดไม่กลัวเกรง “ฝ่ายการเมือง”

               กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนายิ่ง “ฝ่ายการเมือง” พยายามจะแก้กฎหมายเพื่อจะเข้าไป

                “มีสิทธิ์-มีเสียง” นำคนของตนเองมาค้ำบัลลังก์ฝ่ายบริหารให้อยู่นานที่สุด ยิ่งจะไปเพิ่มความหวาดระแวงแก่กัน

                กองทัพถือเป็นเครื่องมือในการทำงานให้แก่รัฐบาล แต่กองทัพไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองของใคร ที่สำคัญกองทัพต้องไม่ใช่ทำเพื่อใครคนหนึ่งคนใดเป็นการเฉพาะ....!