The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   คิดนอกกรอบ : บันฑิตย์ สะมะอุน

เมือเด็กถูกยัดเยียดให้เรียน...การศึกษาจึงเป็นเรื่องน่าเบื่อ

+++++++++++++

         
 เป้าหมายสำคัญของการศึกษา คือ การบูรณาการความรู้ให้เข้ากับชีวิตจริงหรือการสร้างชีวิตด้วยความรู้ หรือทำให้การศึกษาให้ชีวิตแก่ผู้เรียน

         การศึกษาไทยเน้นสร้างผู้เรียนให้มีแต่ความรู้ ผ่านหลักสูตรที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระวิชาการ โรงเรียน/ครู คือ ผู้อ่านหนังสือให้เด็กฟังในห้องเรียน โรงเรียนเป็นสถานที่อันน่าเบื่อสำหรับเด็ก และก็น่าสงสารเด็กนักเรียนที่ต้องถูกขังอยู่ในโรงเรียนนับร่วมสิบปี และต้องทนเรียนกับสิ่งที่ถูกยัดเยียดให้เรียนด้วยวิธีการเดิมๆ ซ้ำซาก

            เด็กนักเรียนมีความรู้และแก้ไขปัญหาได้เพียงโจทย์ที่เป็นตัวอักษรในหนังสือ แต่ขาดประสบการณ์ที่จะแก้โจทย์ของชีวิตจริง

           ปัญหานี้ต้องร่วมกันคิดทั้งในเชิงนโยบายและเชิงขบวนการ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายและผู้น้อยที่คอยปฎิบัติตาม

            ต้องยอมรับความจริงของปัญหาตรงกันด้วยการหาวิธีแก้ไขที่เป็นเอกภาพ 

           การบังคับเรียนในสิ่งที่ขัดแย้งกับอัตลักษณ์/วัฒนธรรมของตัวเองนั้น เป็นการเรียนที่ขัดแย้ง/น่าขมขื่นยิ่ง และข้อขัดแย้งดังกล่าวอาจขยายจนเกิดเป็นความรุนแรงได้ ถ้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนา/อัตลักษณ์/วัฒนธรรม อย่างที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่มีการจัดการศึกษาในรูปแบบเฉพาะและมีความแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ของประเทศ 

           อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการศึกษาของสังคมมุสลิมขาดความชัดเจนที่เรื่องการบูรณาการ เรื่องความพร้อมในหลายๆ ด้าน แต่กลับไม่ถูกนำมาให้ความสำคัญเท่ากับความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการศึกษาระหว่างมุสลิมกับสังคมอื่น

           โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดชายแดนใต้ จะเห็นปัญหามากมายในการจัดการศึกษาแต่มักถูกแก้ไขไปด้วยแนวทางความมั่นคง แทนที่จะแก้ไขให้ตรงจุด คือ การศึกษาที่ต้องแก้ไขด้วยการศึกษา ความยากจนของคนในพื้นที่ก็ไม่แก้ให้ตรงกับเรื่องเศรษฐกิจ

            เด็กในพื้นที่จึงต้องเรียนมากกว่าเด็กในสังคมอื่น เรียนไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของพื้นที่ตน และบางครั้งถูกยัดเยียดด้วยหลักคิดหลักศรัทธาที่แตกต่างกัน โดยการนำเสนอในเชิงนโยบายและหลักสูตร และสุดท้ายก็จบลงสู่ปัญหาเดิม คือ ปัญหาความมั่นคง

             การแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยมักเน้นเพียงเรื่องหลักสูตร การจัดทำหลักสูตร/แก้ไขหลักสูตร/พัฒนาหลักสูตร ซึ่งหากมองถึงที่มาของปัญหานั้นกลับไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องหลักสูตร แต่เมื่อต่างคิดแต่เพียงการสร้างหลักสูตร จึงมีหลักสูตรมากมายหลากหลาย

            และสุดท้ายปัญหาคือ ความฟุ่มเฟือยในเนื้อหาสาระของหลักสูตรที่มากจนสับสน ไม่รู้จะเอาหลักสูตรใดมาเป็นมาตรฐานการศึกษา และสถานศึกษา หลักสูตรต่างๆ ที่สร้างขึ้นจึงไม่ต่างจากงานวิจัยที่ตั้งนิ่งอยู่บนหิ้ง ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ปัญหาทางจิตสำนึกและวิถีคิดทางการศึกษามากกว่าเพียงแค่จะคิดสร้างหลักสูตรใหม่

            หลักสูตรแกนกลางน่าจะลดจำนวนและปริมาณ(เวลาและเนื้อหาสาระ)ลง ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แทนที่ด้วยการเพิ่มหลักสูตรท้องถิ่นที่มีความสอดคล้องกับสถานศึกษา และวัฒนธรรม/อัตลักษณ์ท้องถิ่นของผู้เรียนได้ดีกว่า เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่สามารถถ่วงดุลย์ได้ระหว่างหลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรท้องถิ่น

           อำนาจส่วนกลางต้องลงมาเล่นกับท้องถิ่นให้มากขึ้น เท่าที่ประเมินหยาบๆ ส่วนตัวคิดว่าส่วนกลางลงมาเล่นกับท้องถิ่นน้อยเกินไป ลงมากับเพียงคำพูดและความหวังที่ทิ้งไว้กับท้องถิ่นแล้วก็จากไป เป็นเสมือนคำสัญญาที่แขวนไว้ปลายขอบฟ้า

            ส่วนกลางมักลงมาท้องถิ่นเพียงแผ่วเบา และบางครั้งการลงมาของส่วนกลางกลายเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งภายในท้องถิ่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดและทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่อยากเล่นด้วย เพราะส่วนกลางตั้งเป้าหมายและคิดแทนท้องถิ่น ถูกชาวบ้านในท้องถิ่นมองว่าไม่ติดดินและไม่จริงใจ อาจจะเป็นเพราะความต้องการของท้องถิ่นมีราคาแพงกว่า ความต้องการหยาบๆของส่วนกลาง

            ส่วนกลางหรือตัวแทนจากส่วนกลาง ทำได้เพียงแจกรางวัล มอบโล่ห์ ออกสื่อได้ภาพ ไม่ได้คิดหาวิธีการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั้งยืน และให้เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างชัดเจน

             ในส่วนของท้องถิ่นที่ได้รับประโยชน์จริงๆ ก็เป็นเพียงบางส่วนบางที่เท่านั้น ไม่ใช่วิธีการบูรณาการในการพัฒนาท้องถิ่น แต่เกิดภาพการแบ่งแยก/แยกส่วนพัฒนามากกว่า ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในท้องถิ่นขึ้น

            การมุ่งเน้นพัฒนาจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ต้องไม่ทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นและเข้าไปทำลายความสามัคคีของคนในท้องถิ่น เป็นจุดเน้นที่ส่วนกลางต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น

////