The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   นบีมูฮำมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

นบีมูฮำมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

ผู้นำการพัฒนาคุณภาพฮาลาล ผู้รังสรรค์รากฐานงานวิทยาศาสตร์

 

โดย :  รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

          ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เริ่มเผยแผ่ศาสนาอิสลามในมักกะฮ์ใน ค.ศ.610 เริ่มด้วยการแนะนำหลักศรัทธา ในศาสนาอิสลามควบคู่ไปกับแนวทางปฏิบัติในส่วนแรกนั้นเน้นความศรัทธาในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) การสำนึกในบุญคุณของพระองค์ ส่วนหลังเน้นการปฏิบัติศาสนกิจ และการปฏิบัติต่อมนุษย์และสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อม ใช้ความสะอาดเป็นยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการน้ำเป็นกลยุทธเพื่อสร้างวินัยขึ้นในสังคม

               การเผยแผ่ศาสนาอิสลามในมักกะฮ์เต็มไปด้วยอุปสรรค ผ่านไปสิบปี มีผู้หันมานับถือศาสนาอิสลามไม่ถึง 200 คน โดยส่วนใหญ่ต้องหนีภัยไปยังต่างเมือง

                ใน ค.ศ.620 ภรรยาและลุงของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ซึ่งเป็นผู้อุปภัมภ์คนสำคัญถึงแก่กรรมลงในเวลาไม่ห่างกันนัก การขัดขวางการเผยแผ่มีมากขึ้นทำให้ท่านนบีทำงานหนักขึ้น การเผยแผ่แก่คนต่างเมืองที่มาจาริกแสวงบุญทางศาสนาในมักกะฮ์และอะกอบะฮ์ใกล้มักกะฮ์เริ่มได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวเมืองยาธริบ นำไปสู่การอพยพของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ไปยังเมืองยาธริบ ใน ค.ศ.622อันนับเป็นปีเริ่มต้นศักราชฮิจเราะฮ์(هجرة) การเผยแผ่ศาสนาที่เต็มไปด้วยอุปสรรคดังกล่าวกระทั่งทำให้นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงแสดงถึงความเป็นเอกบุรุษผู้ไม่ยอมแพ้ของท่านนบี

               นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) แม้อ่านไม่ออกเขียนหนังสือไม่ได้ ทว่าให้ความสำคัญกับการศึกษาอันนำไปสู่การบันทึกคัมภีร์อัลกุรอ่าน ในส่วนการพัฒนาสังคมนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นำมุสลิมพัฒนาบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองยาธริบ ที่เปลี่ยนชื่อเป็นมะดีนะฮ์อัลนะบะวี หรือเรียกสั้นๆว่า “มะดีนะฮ์” เน้นการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำในการชำระล้างร่างกาย, การบริโภค, และการเพาะปลูก

                ท่านนบี แสดงบุคลิกภาพของนักการเกษตรและนักสิ่งแวดล้อมมีการพัฒนาระบบขนส่งน้ำจากบ่อที่อยู่ด้านนอกเมืองเข้าสู่เมืองใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “ฆานะฮ์” (قناة ) มีการต่อท่อใต้ดินจากแหล่งน้ำโดยมีท่อเปิดสู่ผิวหน้าดินเป็นระยะเพื่อใช้ในการดูแลบำรุงรักษาฆานะฮ์ จากนั้นจึงดึงน้ำจากใต้ดินขึ้นสู่ด้านบนใช้อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เรียกว่า “ซาฆิยะฮ์” (ساقية) โดยการใช้ระบบระหัดตวงน้ำด้วยถังไม้เพื่อดึงน้ำขึ้นด้านบน มีการใช้แรงงานจากสัตว์เป็นหลัก

                 นอกเหนือจากการใช้ ซาฆิยะฮ์ ยังมีการใช้เทคโนโลยีอื่นๆร่วมด้วย เป็นต้นว่า “ชาดุฟ” (شادوف) ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณนั่นคือการตั้งเสาไม้สองเสาไว้เหนือบ่อแล้วดึงน้ำขึ้นด้านบนด้วยถังและเชือกโดยการใช้แรงงานมนุษย์

                 นอกจากนี้ยังมีระบบที่เรียกว่า “ซาฆิยะฮ์นาอูระฮ์” (ساقية ناعورة) คล้ายระหัดวิดน้ำที่ใช้พลังงานจากน้ำเองในการยกน้ำขึ้นด้านบน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการพัฒนาอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งภายหลังการทำงานหนักตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษ นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) สามารถรวบรวมชนอาหรับสร้างชาติของตนเองขึ้นได้เป็นครั้งแรก มีภาคพลเมืองที่มีหลักศรัทธาเป็นพลังขับเคลื่อน มีการศึกษาที่ยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของมุสลิม เกิดความมั่นใจและเคารพในตนเอง  

                เมื่อพิจารณาคำว่า “วิทยาศาสตร์” ปรากฏนิยามในดิกชันนารี Oxford ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในแวดวงวิชาการของโลกว่าคือความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาและกายภาพวิทยาที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการสังเกตและการทดลอง ผลงานที่ปรากฏสามารถตรวจสอบและสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม

               ขณะที่ “นักวิทยาศาสตร์” คือบุคคลที่มีความรู้ในศาสตร์ด้านธรรมชาติหรือด้านกายภาพ สามารถนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เมื่อรับทราบนิยามที่ว่านั้นแล้ว ลองย้อนกลับมาพินิจพิเคราะห์ตัวตนของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ที่ทุ่มเททั้งชีวิตต่อสู้ผลักดันขับเคลื่อนสังคมอาหรับที่ล้าหลังด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการแนะนำและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในยุคนั้น

                 กระทั่งสังคมเกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบเกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมจับต้องได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาธรรมชาติวิทยา ได้แก่ ชลประทาน, การเกษตร, สาธารณสุข, ส่งผลให้สังคมพัฒนาก้าวหน้ายิ่งไปกว่าตอนเริ่มต้นเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ใครได้เห็นแล้วก็รู้ว่านี่คือผลงานของท่าน

                บันทึกหะดิษ ที่แสดงถึงการคำพูดหรือการกระทำของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) มีอยู่มากมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางวิทยาศาสตร์กระทั่งได้รับการยืนยันจากกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในระยะหลัง ได้แก่ เรื่องราวทางดาราศาสตร์, ธรณีวิทยา, ชีววิทยา, การแพทย์, โภชนาการ, พิษวิทยา หลายเรื่องเป็นการให้คำอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน ข้อมูลจากนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เหล่านี้กลายเป็นแนวทางสำคัญสำหรับมุสลิมในการพัฒนาศิลปวิทยาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นในจักรวรรดิอิสลามในระยะหลัง  

                นอกจากนี้ นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ยังอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน นำไปสู่การวางแนวทางด้านการบริโภคอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามบริโภคอาหารบางชนิดที่เพิ่มเติมจากสิ่งที่กำหนดไว้ในอัลกุรอ่าน ได้แก่ (ก) การห้ามบริโภคสัตว์ร้ายที่มีเขี้ยว เช่น เสือ, สิงโต, หมี, งู นกที่มีกรงเล็บเพื่อการจับสัตว์ เช่น เหยี่ยว, อินทรี, เค้าแมว, ฮูก, แสก (ข) การห้ามบริโภคเนื้อและนมของ “จัลลาละฮ์” (الجلا لة) หรือสัตว์ที่กินอาหารที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก (نجس)  อาทิเช่น ลาและฬ่อ ที่เลี้ยงใช้งาน, แร้ง, สุนัข, สัตว์สกปรก, สัตว์นำโรค,  ฯลฯ

                  (ค) การห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคที่สามารถระบาดเข้าสู่คน ได้แก่ โรควัวบ้า, กาฬโรค, อีโบล่า ฯลฯ ข้อห้ามทั้งหมดมีเหตุผลอธิบายได้ว่าเป็นไปเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ในภายหลังข้อห้ามต่างๆเหล่านี้รวมถึงข้อแนะนำอื่นๆของ นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ได้กลายเป็นแนวทางหลักในการจัดทำมาตรฐานอาหารฮาลาล ในปัจจุบัน

                 นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ระบุว่าหน้าที่หนึ่งของอาหารคือเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) สำหรับมุสลิมแล้วการไม่บริโภคอาหารที่มีคำสั่งห้ามตามที่กำหนดโดยอัลกุรอ่าน และเพิ่มเติมโดย ท่านนบีเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว หลักการฮาลาล ที่มุสลิมยึดถือกันอยู่จึงเป็นหลักศรัทธาหรือ อะกีดะฮ์อย่างชัดเจน

                 กระบวนการเตรียมอาหารฮาลาล ตามมาตรฐานจึงเป็นไปเพื่อรักษาอะกีดะฮ์ ให้กับผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมร่วมไปกับการดูแลความปลอดภัยของอาหารหรือหลักตอยยิบ (لطيب)อิสลามเน้นการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค โดยอาหารหรือสมุนไพร เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันโรค ในกรณีหลังนี้ นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) แนะนำอาหารหลายชนิดว่าช่วยป้องกันโรคบางโรคได้ เช่น ทับทิม, ซุบรำข้าวต้มกับนมและน้ำผึ้งซึ่งเรียกว่า “ทัลบีนะฮ์” (التلبينة), ยี่หร่าขาวหรือ Sana (Senna), เทียนดำ (Habbatussauda), เฟนูกรีก, ถั่วเลนทิล, น้ำส้ม, น้ำผึ้ง ฯลฯคำแนะนำเหล่านี้สอดคล้องกับรายงานวิจัยทางโภชนาการและการแพทย์จำนวนมากมายในระยะหลัง

 

มรดกการพัฒนาจากนบีมูฮำมัด (ซ.ล.)

                  หลังการจากไปของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ใน ค.ศ.632 ภายในเวลาไม่ถึงสามทศวรรษ มุสลิมอาหรับสร้างจักรวรรดิอิสลามเป็นผลสำเร็จ เริ่มจากการพัฒนายกระดับตนเอง ยึดมั่นศรัทธาในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ปฏิบัติตนตามแนวทางซุนนะฮ์ (السنة) หรือ แนวทางที่นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ปฏิบัติไว้

                  กระบวนการการรวบรวมอัลกุรอ่านและการบันทึกหะดิษ สร้างระบบการศึกษาโดยใช้ภาษาอาหรับเป็นมาตรฐานช่วยทำให้ชนอาหรับคุ้นเคยกับกระบวนการดำเนินงานทางวิชาการที่เป็นรูปแบบ การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีหลักศรัทธาร่วมกันนำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยปัญญา เกิดศาสตร์ด้านต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์

                   ในช่วงเวลาหลังการจากไปของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ไม่ถึง 150 ปี ยุคสมัยอาณาจักรคีลาฟะฮ์อุมาวียะฮ์และอับบาสิยะฮ์ กระบวนการพัฒนาศาสตร์ต่างๆในอาณาจักรอิสลามเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น มีการแปลตำรับตำราจากอารยธรรมต่างๆ เกิดการพัฒนาโรงงานผลิตกระดาษ, โรงพิมพ์หนังสือ, การสร้างห้องสมุด, หอดูดาว, โรงเรียนหรือมัดราซะฮ์ (مدرسة),  มหาวิทยาลัยที่เน้นการศึกษาด้านความศรัทธาหรืออิมาน (إيمان) ควบคู่ไปกับศิลปะวิทยาการต่างๆหรืออิลมู(إيلمو) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์เน้นดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, การเกษตรโดยนำเอาการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ยุ่งยากมาสอนในเชิงศิลปศาสตร์ที่เรียบง่ายเรียกในภาษาอาหรับว่า “อัลฟะนูนัลฮะเราะฮ์”  (الفنون الحرة) หรือการเรียนการสอนแบบ “ศิลปะศาสตร์” (Liberal arts)

                   จักรวรรดิอิสลามหลังการจากไปของนบีมูฮำมัด ไม่ถึง 300 ปีขยายพื้นที่ไปกว่า 15 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมตะวันออกกลาง, เอเชียกลาง, อัฟริกาเหนือ, สเปน, อัฟกานิสถาน, อินเดียตะวันตก มีการสร้างโรงพิมพ์, ห้องสมุด, หอดูดาว, สถาบันด้านวิทยปัญญา, โรงเรียนมัดราซะฮ์, มหาวิทยาลัยในทุกพื้นที่ ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ก้าวหน้า เกิดบ้านแห่งวิทยปัญญาหรือไบตุ้ลฮิกมะฮ์(بيت الحكمة‎) ซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการขั้นสูงขึ้นในนครแบกแดดและสาขาในอีกหลายเมือง

                    เกิดการถ่ายทอดศาสตร์ต่างๆเข้าสู่ยุโรป การทำลายนครแบกแดดโดยชาวมองโกลกลางศตวรรษที่ 13 แม้สามารถชะลอการพัฒนาศิลปวิทยาการของมุสลิมไปได้มาก แต่การร่วมใจกันคัดลอกตำรานับแสนเล่มเพื่อนำออกจากเมืองก่อนถูกทำลายแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาความสำคัญของการศึกษาไว้ สิ่งนี้ส่งผลให้พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และสาขาอื่นในโลกมุสลิมยังคงดำเนินต่อไป

 

การออกสู่นอกแนวทางนำมาซึ่งความถดถอย

                 เมื่ออิสลามเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ภายใต้อาณาจักรอุสมานียะฮ์ การแข่งขันกับยุโรปที่ผ่านจากยุคมืดเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเต็มไปด้วยความเข้มข้นกระทั่งสร้างแรงกดดันต่อจักรวรรดิอิสลาม การอ่อนตัวลงของการใช้ภาษาอาหรับ การแยกส่วนศาสนาออกจากศิลปวิทยาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากระบบแยกศาสนาจากการเมืองหรือลัทธิ “เซคิวลาริซีม” (Secularism) หรือ “อัลมานียะฮ์” (علمانية) ที่แพร่มาจากยุโรป ตอนต้นศตวรรษที่ 17 ควบคู่ไปกับความล้มเหลวในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เท่าเทียมกันในจักรวรรดิ นำไปสู่การแยกการเรียนการสอนด้านสังคมออกจากโรงเรียนมัดราซะฮ์ เหลืออยู่เพียงการเรียนการสอนด้านหลักศรัทธาล้วน

                ขณะที่ระบบการเรียนในมหาวิทยาลัยลดการเรียนการสอนทางด้านหลักศรัทธาลง การยึดแนวทางซุนนะฮ์ของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ผิดเพี้ยนไป ซึ่งนักวิชาการหลายกลุ่มเชื่อว่าเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการล่มสลายทางศิลปวิทยาการในโลกอิสลาม ผลที่ตามมาคือ ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลกอิสลามลดลงอย่างรวดเร็ว

               ทศวรรษที่ 2000 มีงานวิจัยด้านสังคมของ ดร.ชารีฟเฮก (Shariff M Haque) แห่งมหาวิทยาลัย Canterbury เมืองไครต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เปรียบเทียบพัฒนาการของโลกมุสลิมกับโลกตะวันตกในยุคศตวรรษที่ 21 โดยให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ประเทศมุสลิมโดยเฉลี่ยมีนักวิทยาศาสตร์ในสังคมน้อยกว่าประเทศตะวันตก 17 เท่า ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทียบกับผลผลิตมวลรวมน้อยกว่า 25 เท่า  นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัย, สถาบันการศึกษา, อัตราส่วนการอ่านออกเขียนได้ต่ำกว่ามาก

                ข้อสรุปคือโลกมุสลิมปัจจุบันขาดการผลิตองค์ความรู้, ขาดการเผยแพร่ความรู้, และขาดการประยุกต์ใช้ความรู้ โดยสรุปคือโลกมุสลิมในปัจจุบันประสบกับภาวะถดถอยมีพัฒนาการที่กลับด้านกับโลกมุสลิมในยุคแห่งความเรืองรองทางวิชาการช่วงศตวรรษที่ 8-13 นักวิชาการจำนวนมากแสดงความคิดเห็นตรงกันว่าโลกมุสลิมจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เคยสร้างความสำเร็จให้กับโลกอิสลามมาแล้วนั่นคือแนวทางศรัทธาควบคู่ไปกับศิลปวิทยาการ ปรับปรุงการเรียนการสอนในโรงเรียนมัดราซะฮ์ให้กลับมาเป็นแบบผสมผสานหากหวังจะเป็นรูปแบบให้กับการพัฒนามนุษยชาติและประสงค์จะแข่งขันในโลกอนาคต

 

บทสรุป

            ด้วยการกำหนดจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ที่ทำให้บุคคลผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เช่น นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ถูกเลือกให้เป็นผู้นำสารจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ลงมาสู่มวลมนุษย์ นับเป็นความโปรดปรานอย่างยิ่ง ผลเชิงบวกที่เกิดขึ้นคือท่านนบีเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาโดยสนับสนุนการศึกษาของประชาชนอย่างเต็มกำลัง แนะนำให้เสาะแสวงหาความรู้แม้จะต้องเดินทางไกลถึงเมืองจีน แนะนำให้ศึกษาตั้งแต่เปลถึงหลุมศพ

              อิสลามแม้เน้นในเรื่องความศรัทธา แต่ นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เน้นย้ำเสมอว่าให้บรรดาผู้ศรัทธาใช้เวลาในการประกอบศาสนกิจเท่าที่กำหนดโดยใช้เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือออกไปประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิตและพัฒนาสังคม โดยท่านนบี ได้ทำตนให้เป็นแบบอย่างดังที่ปรากฏอยู่ในจริยวัตรของท่านที่มีบันทึกในรูปของหะดิษที่มีจำนวนมากมาย

              ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของท่านนบีในการทำหน้าที่ต่อสังคมอันนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆรวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งสังคมยุคหลังจากท่านได้นำแนวทางของนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

               มีรายงานหะดิษ กล่าวถึงนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ที่ตักเตือนบรรดามุสลิมที่ใช้เวลาเนิ่นนานในมัสยิดมากกว่าที่ใช้เวลาออกไปทำงานเพื่อเลี้ยงชีพภายนอก สิ่งนี้ต้องตรงกับคำสั่งที่ปรากฏในอัลกุรอ่าน บทที่ 62 อัลญุมุอะฮ์  (الجُمُعَةAl-Jumua) วรรคที่ 10 ที่กล่าวว่า

فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلَاةُ فَانتَشِرُوا فِي الْأَرْضِ وَابْتَغُوا مِن فَضْلِ اللَّهِ وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيراً لَّعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ

             “เมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้วจงแยกย้ายกันไปตามหน้าแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ และจงรำลึกถึงอัลลอฮ์ให้มากเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ”