The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   Melayu focus : นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

รัฐซาบะห์ มาเลเซีย : ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (ตอนที่ 1 )

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

            สำหรับประเทศมาเลเซีย ผู้เขียนมักคุ้นตั้งแต่เด็กๆ ด้วยจังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดบ้านเกิดของผู้เขียน ซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

            เมื่อโตขึ้นจึงมีโอกาสเดินทางไปยังรัฐต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายู นับตั้งแต่นั้นความรู้ของผู้เขียนเกี่ยวกับประเทศมาเลเซีย จึงเหมือนกับผู้คนทั่วไป นั่นคือประเทศมาเลเซีย มีประชากรประกอบด้วยชาวมลายูเป็นชนกลุ่มใหญ่ ต่อมาเป็นชาวจีน และชาวอินเดีย นอกจากนั้นประเทศมาเลเซียยังประกอบด้วยชนพื้นเมืองต่างๆ ในรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัค

           นั่นคือองค์ความรู้ที่ผู้เขียนมีอยู่ ซึ่งไม่แตกต่างจากชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในรัฐต่างๆ บนแหลมมลายูมากนัก

          แต่เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาของสมาพันธ์นักเขียนแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งมีการจัดงานสัมมนาขึ้นที่เมืองโกตากีนาบาลู เมืองเอกของรัฐซาบะห์ และเป็นการเดินทางสัมผัสรัฐซาบะห์เป็นครั้งแรก ทำให้ผู้เขียนต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาองค์ความรู้ใหม่ เกี่ยวกับประเทศมาเลเซีย ได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชีวิต สัมผัสความคิดของชาวรัฐซาบะห์ ทำให้ได้รับรู้ถึงช่องว่างความแตกต่างทางความคิดระหว่างผู้คนในรัฐต่างๆ บนแหลมมลายูกับผู้คนในรัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัคบนเกาะบอร์เนียว

          การสัมผัสรัฐซาบะห์ นับเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับผู้เขียนเมื่อผ่านชุมชนต่างๆ ในรัฐซาบะห์ จะเห็นว่าบางชุมชนจะมีทั้งมัสยิดของชาวมุสลิม และโบสถ์คริสต์ ตั้งอยู่ในชุมชนเดียวกัน บางแห่งมีทั้งสองศาสนสถานตั้งอยู่ตรงข้ามกัน

           เพื่อนชาวรัฐซาบะห์ บอกเล่าว่าชุมชนดังกล่าว เป็นชุมชนของชนเผ่าหนึ่ง ที่ผู้คนในชุมชนนั้นๆ มีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและนับถือศาสนาคริสต์และทั้งสองศาสนิกชนล้วนมีความผูกพัน เป็นพี่น้องกัน

           เพื่อนชาวรัฐซาบะห์ ซึ่งเรียกตนเองว่า ซาบาฮัน (Sabahan) ซึ่งหมายถึง ชนชาวรัฐซาบะห์แท้ ที่ไม่ใช่ชนชาวรัฐซาบะห์ ที่อพยพมาจากถิ่นอื่นได้กล่าวกับผู้เขียนว่า “..ถ้าท่านต้องการดูสภาพความปรองดองระหว่างชนเผ่าต่างๆ นั้น รัฐซาบะห์เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ท่านสามารถเห็นผู้คนที่นับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้..”

            รัฐซาบะห์ มีประชากรราว 3.2 ล้านคน ประกอบด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีกลุ่มชาติพันธุ์เป็นจำนวนหลายสิบกลุ่ม กลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐซาบะห์จะรู้จักในนามของชาวภูมิบุตร(bumiputera) กลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญๆ เช่น ชาวกาดาซานดูซุน ชาวมูรุต ชาวบาจาว ชาวลุนดาเยะห์ ชาวเกอดายัน ชาวบีซายา ชาวโอรังสุไหงชาวอิรานูน กลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากฟิลิปปินส์ภาคใต้รวมทั้งชาวมลายู

           แม้ชาวมลายูจะเป็นชนกลุ่มใหญ่สุดในประเทศมาเลเซีย แต่ชาวมลายู ไม่ใช่ชนกลุ่มใหญ่ในรัฐซาบะห์

            จากการสำรวจประชากรในปี ค.ศ. 1961 ก่อนที่รัฐซาบะห์ จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียนั้น ปรากฏว่าชาวกาดาซันดูซุน มีประชากร 32 %  ชาวจีน มีประชากร 23 %  ชาวบาจาว 13.1 %ชาวมูรุต มีประชากร 4.9 % ส่วนชาวมลายู มีประชากรเพียง 0.4 % และกลุ่มมุสลิมอื่นๆมีประชากร 15.8 % 

ต่อมาหลังจาก รัฐซาบะห์ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ทำให้ประชากรเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ชาวมลายู ก็ยังคงเป็นชนกลุ่มน้อยเหมือนเดิม

           จากการสำรวจประชากรเมื่อปี ค.ศ.2010 ปรากฏว่า ชาวกาดาซันดูซุนมีประชากรลดลงเหลือ 17.8 % ชาวจีนมีประชากร 9.11 %   ชาวมูรุตมีประชากร 3.22 %  ชาวบาจาวมีประชากร 14 %  ชาวมลายู(ที่มีเชื้อสายมาจากบรูไน) มีประชากรเพิ่มขึ้น 5.71 % และกลุ่มมุสลิมอื่นๆ มีประชากรเพิ่มขึ้น 20.56 %

           ติดตาม อ่านต่อ “ รัฐซาบะห์ มาเลเซีย : ความหลากหลายทางชาติพันธุ์” ในฉบับหน้า

+++++++++

 ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558