The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   “ไอแบงก์” กำลังเหมือนต้นไม้ตายทั้งยืน”

“ไอแบงก์” กำลังเหมือนต้นไม้ตายทั้งยืน”

โดย กองบรรณาธิการ

                  ...” ถ้าสังคมมุสลิมไม่ตื่นตัวเรื่องเหล่านี้ สักวันหนึ่งมันก็จะฝ่อ สุดท้ายไอแบงก์ จะยืนตายด้วยตัวของมันเอง”

+++++++++++++++++++++

         .พลโท ดร.สมชาย วิรุฬหผล อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย วิเคราะห์สถานการณ์ไอแบงก์ ที่กำลังเผชิญในขณะนี้ ขอย้อนกลับในอดีตว่า เป้าหมายในการจัดตั้งธนาคารอิสลามฯ โดยอาศัยความเคลื่อนไหวทางการเมือง เป้าหมายอยากจะจัดตั้งเพื่อหวังผลทางการเมือง ขณะอีกด้านหนึ่งขอให้จัดตั้งเพื่อที่จะเป็นกลไกให้เกิดการขับเคลื่อน ให้เกิดการเพิ่มพูนฐานะทางเศรษฐกิจของมุสลิมในประเทศไทย

             “ มุสลิมเราถูกจำกัดด้วยดอกเบี้ย เราจึงสร้างธนาคารไม่ปนเปื้อนดอกเบี้ย ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศให้จัดตั้งธนาคารอิสลาม ด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยระยะแรกมีกลุ่มทุนจากบรูไน เข้ามาถือหุ้น 10 % บริหารได้ระยะหนึ่งเริ่มขาดทุน ด้วยปัจจัยการบริหารที่มีข้อจำกัด และมีความต่างจากการบริหารแบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป  หลังจากนั้นได้มีการเจรจากับรัฐบาล จึงได้เพิ่มทุนให้อีกหมื่นล้านบาทเพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อและเป็นเงินหมุนเวียนของธนาคาร”

                .พลโท ดร.สมชาย  ยังได้วิจารณ์ โครงสร้างของไอแบงก์ โดยเฉพาะ บอร์ดบริหารจะต้องเพิ่มสัดส่วน โดยขอให้มีมุสลิมมากกว่าครึ่งขณะที่บอร์ดชะรีอะฮ์ จะต้องมีที่มาที่แตกต่างจากอดีต คัดสรรผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ ถ้าบอร์ดชะรีอะฮ์ไม่เข้าใจเรื่องไฟแนนซ์ จะต้องมีที่ปรึกษาด้านการเงิน และมีผู้ตรวจสอบชารีอะฮ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้

               ณ วันนี้ สถานการณ์ไอแบงก์เหมือนเครื่องบินใกล้ตก เป็นการยากที่จะแก้ไข มีแต่รอวันให้ปิดตัวมันเอง ขณะที่รัฐบาลยังไม่ช่วยอะไร แม้ว่าไอแบงก์จะทำเรื่องเสนอแผนฟื้นฟู ของบรัฐบาลแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะรัฐบาลมองว่าถึงให้เงินไป ก็เชื่อว่า ไม่สามารถฟื้นฟูได้ ”

            อดีตประธานบอร์ดไอแบงก์  อยากให้ทุกคนจับตาว่า นี่เป็นเกม อะไรหรือไม่  โดยระบุว่ารัฐบาลรู้ดีว่า จะทำอย่างไร เขาไม่ได้ยุบหรือควบรวมกิจการ รัฐบาลมองว่าแม้จะอัดงบไปก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่เขาเลือกจะนิ่งเฉย เพราะถ้าเลือกที่จะยุบ จะมีกระแสต้านจากมุสลิมหรือแสดงความไม่พอใจ

          “ ณ จุดนี้ รัฐบาลต้องปล่อยมือ คุมอย่างนี้ ก็นับวันจะเจ๊ง จึงอยากเสนอทางออกให้รัฐบาลเชิญชวนนักลงต่างชาติ กลุ่มประเทศมุสลิม ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย บูรไน หรือประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง มาร่วม เพื่อจะเป็นช่องทางที่จะนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาหมุนเวียนได้”

            อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจะยังถือหุ้นเพียงลดสัดส่วนลงมา อาจถือแค่ 25-30% จะทำให้ไอแบงก์ ปลอดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อจะได้มีการตัดสินใจในการบริหารได้ง่ายขึ้น ซึ่งการมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น จะสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้า และระบบธนาคารอิสลามของไทย อีกทั้งเราก็จะได้องค์ความรู้ในระบบการเงินธนาคารจากต่างประเทศที่ทันสมัย เข้ามาพัฒนาระบบและพัฒนาบุคคลกรเพิ่มขึ้นด้วย

            ทั้งนี้ธุรกรรมของธนาคารอิสลาม ไม่ใช่แค่รับฝากเงิน และปล่อยสินเชื่อ ยังมีหลายอย่างถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราสามารถสร้างรายได้ให้แบงก์ได้ โดยไม่ต้องแข่งกับแบงก์พาณิชย์ทั่วไป เช่น การออกศุกูกหรือกองทุนพันธบัตรอิสลาม เราสามารถสร้างรายได้  ไม่เพียงแต่จะเป็นการลดภาระรัฐบาล การลงทุนโครงการใหญ่ก็สามารถระดมทุนผ่านธนาคารอิสลามฯได้ เช่นกัน

   นอกจากนี้ยังเสนอรัฐบาลให้เปิดเสรีทางการเงิน ด้วยการเปิดช่องให้ธนาคารจากต่างชาติสามารถมาเปิดธนาคารระบบการเงินแบบอิสลามได้  ไม่ควรผูกขาด เพราะจะทำให้ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งแท้จริงตามหลักการอิสลามเอง ก็ห้ามเรื่องในการผูกขาด โดยเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันตามกลไกที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่มากจนเกินไป

           “ หากเราดูระบบการเงิน พบว่า อิสลามิกไฟแนนซ์ ในโลกนี้ โตมากกว่า 10% ทุกปี ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นได้รับผลกระทบจากเรื่องต่าง ๆ บ้างก็ปิดตัวกันไป เราน่าจะเปิดกว้างด้านการเงิน เพื่อรองรับการขยายตัวของการเงินให้เหมาะสม”

            .พลโท ดร.สมชาย ระบุว่า กระทรวงการคลังเองก็หวั่นกับการฟื้นฟูของไอแบงก์  โดยกำชับไม่ให้ผลีผลามกับการใส่เงินเข้าไปให้กับธนาคารอิสลามฯ ซึ่งนั่นหมายความว่า สุดท้ายหากไม่มีการแก้ปัญหาใดๆ ธนาคารอิสลาม จะเหมือนต้นไม้ที่ยืนตายทั้งต้น ผมคิดว่ามันเสียของ เรามีธนาคารอิสลาม ที่จะเป็นกลไกช่วยในเรื่องของผลประโยชน์ประเทศชาติได้ เป็นแหล่งระดมทุน การลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลได้ ถ้ารัฐไม่ทำ ก็ควรหากลุ่มทุนอื่นเข้ามาสานต่อ รัฐบาลก็ควรปล่อยมือไป
     

  “ ธนาคารอิสลามเป็นกลไกหลักการหลักชารีอะห์ เป็นพระประสงค์ของอัลเลาะห์(ซบ.) รวมถึงสามารถทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวมได้  และมุสลิมในประเทศไทยเอง เราต้องมาช่วยกัน รวมพลังเรียกร้องให้ ธนาคารอิสลามยังคงดำเนินธุรกรรมต่อไป แต่ ที่ผ่านมาไอแบงก์ฯ ขาดทุน ไม่ได้เกี่ยวกับมุสลิม แต่เกิดจากการบริหารจัดการหรือนโยบายที่ผิดพลาดเท่านั้น ”

            เขายังได้เรียกร้องไปยังองค์กรสำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักจุฬาราชมนตรี  ต้องตั้งคณะกรรมการทำงาน ศึกษาเรื่องธนาคารอิสลามฯ พร้อมให้ข้อเสนอแนะ ให้การปรึกษากับรัฐบาลถึงแนวทางว่าควรทำอย่างไร  ขณะเดียวกันต้องรณรงค์ไปยังกลุ่มคนให้เคลื่อนไหว ผลักดัน ตื่นตัวในเรื่องนี้ เพราะจะเกิดผลกระทบความเป็นอยู่ของมุสลิม โดยภาพรวมทั้งประเทศ

            “ เราเป็นประเทศสมาชิก AEC อาเซียนมีประชากร 500 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมุสลิม มากกว่า 250 ล้านคน ธนาคารอิสลามฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงประเทศไทยกับกลุ่มอาเซียน ซึ่งในระยะยาวอาจขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าหรือลาว เพราะการเงินอิสลาม ไม่ได้จำกัดเฉพาะมุสลิมเท่านั้น”

            อดีตประธานบอร์ดไอแบงก์  ยืนยันว่า ทางออกแก้ปัญหาธนาคารอิสลามฯ ในวันนี้ จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ ดึงพันธมิตรเข้าร่วมทุน รัฐจะต้องลดการถือหุ้นลง การที่รัฐบาลเฉย จะเป็นภาระของรัฐที่จะต้องอุ้มและขาดทุนไปเรื่อยๆ

            “ถ้ารัฐบาลไม่มีอคติก็ควรจะเลือกช่องทางที่ลดภาระ มุสลิมจะต้องเคลื่อนไหว และตื่นตัวกับเรื่องนี้ ก่อนจะสายเกินไป...ถ้าสังคมมุสลิมไม่ตื่นตัวสักวันหนึ่งมันก็จะฝ่อ สุดท้ายไอแบงก์ จะยืนตายด้วยตัวของมันเอง”

 หมายเหตุ:ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับพฤษภาคม 2558