The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   People Focus : แมน เพชรวานิชสกุล

แมน เพชรวานิชสกุลขุนพลนำสินค้าฮาลาลบุกตลาดโลก

โดย เอกราช มูเก็ม

            สำนักข่าวอะลามี่ :   แมน เพชรวานิชสกุล  นักธุรกิจเครื่องประดับอัญมณีและพลอย ที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลมาเลเซีย ในวันที่ธุรกิจเครื่องประดับอัญมณีซบซา แต่เขาใช้ประสบการณ์ที่เคยโลดโผนในต่างประเทศให้เกิดประโยชน์  จึงเล็งเห็นธุรกิจใหม่ คือการค้าระหว่างประเทศ โดยการนำสินค้าฮาลาลไทยไปสู่ตลาดโลก


            แมน เริ่มได้รับความไว้วางใจจากทูตพาณิชย์มาเลเซีย ประจำประเทศไทย ให้จัดหาสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย และจัดหาสินค้าจากมาเลเซียเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าในเมืองไทยตามความต้องการ

            “ต่อมาผมได้รับการแต่งตั้งให้ เป็นผู้แทนงานมีฮาส (Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) หรือ มาเลเซีย อินเตอร์เนชั่นแนล ฮาลาลโชว์เคส ซึ่งเป็นงานฮาลาลที่ใหญ่อันดับหนึ่งของโลก

            นอกจากนี้  แมน เพชรวานิชสกุล ( Man PetchvanichskulPakwan) ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานฝ่ายฮาลาลด้านงานต่างประเทศสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอีกด้วย

            แมน บอกว่า หลังจากได้รับการตั้งจากมีฮาสในปีแรก ได้พยายามจัดหาผู้ประกอบการไทยออกร่วมงาน แต่ไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควร ในปีต่อมาเริ่มมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น หลังจากได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาราเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

            “ ท่านเลขาฯ ได้ชี้แนะแนวทางและได้มีโอกาสพบปะกับผู้คนหลากหลาย รวมถึง ทูตานุทูตประจำประเทศต่างๆ ทำให้เราเริ่มเป็นที่รู้จักและทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานมีฮาสเพิ่มขึ้นในปีที่ 2 และเป็นที่พอใจของประเทศมาเลเซีย”

          สำหรับงาน Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) คืองานที่รับเชิญโดยรัฐบาลมาเลเซีย มีผู้ประกอบการมาจากทั่วโลก 27 ประเทศ เป็นเวทีพบปะผู้ซื้อกับผู้ขายสินค้าฮาลาลโดยตรงจากทั่วทุกมุมโลก

            แมน บอกว่า ด้วยประสบการณ์การทำงานมีฮาสให้กับประเทศมาเลเซีย ทำให้หลายประเทศรู้จักตน จึงได้รับความไว้วางใจจาก ผู้จัดงานฮาลาลทั่วโลก อาทิเช่น  มอสโก เราจึงนำผู้ประกอบการไทยไปร่วมงาน โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ดร.วินัย ดะห์ลัน) และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ตลอดจนกระทรวงต่างประเทศ


            “ จากประสบการณ์นำสินค้าไทยไปเปิดตลาดประเทศรัสเซีย ปรากฏว่าเราประสบความสำเร็จมาก โดยสำนักงานคณะกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศรัสเซีย หลังจากนั้นผมได้รับการติดต่ออีกหลายประเทศให้เข้าร่วมงานฮาลาลเช่น งานฮาลาลตุรกี อินโดนีเซีย และบูรไน

            โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมได้รับเป็นตัวแทนขายพื้นที่ให้กับนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมที่ใหญที่สุดในโลกคือ ดูไบ เป็นนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เขตปลอดภาษี(ฟรีโซน) เป็นการให้ผู้ประกอบการไปทำธุรกิจอยู่ที่นั่น ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

แมน บอกว่า จากประสบการณ์พาผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดฮาลาลในประเทศต่างๆ พบว่า สินค้าจำพวกอาหาร เป็นที่พอใจและต้องการของตลาดโลกมากอาทิเช่น  อาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงนับว่าสินค้าจากประเทศไทยได้รับการยอมรับมาก นอกจากนี้ยังมีอาหารแช่แข็ง ผลไม้แปรรูป และเครื่องดื่มเช่น น้ำสมุนไพร(เพื่อสุขภาพ) เนื่องจากหลายประเทศให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพ

            อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับปรุง คือจะต้องพัฒนารูปแบบของการแพ็คเกจจิ้ง และคุณภาพของการผลิต รวมถึงกำลังและความสามารถในการผลิต เนื่องจากพบว่าบางรายหลังจากรับออร์เดอร์แล้ว ไม่สามารถผลิตให้ได้ จุดนี้ต้องมีการพัฒนา ซึ่งภาครัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนามากขึ้น

            ล่าสุดประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2558 เราจะนำผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดใหญ่นั่นคือ ผมได้รับการตอบรับและได้รับความไว้วางใจจากประเทศจีน ให้ไปร่วมงานThe 2nd Silk Road International Food Exhibition Fairand 2nd Silk Road Hotel Industry Event ซึ่งเป็นงานเส้นทางสายไหม เมืองอุรูวาจิ มณฑลซินเจียง ในงานนี้ เราเป็นบูธที่ใหญ่ที่สุด จากพื้นที่ทั้งหมด 80,000 ตารางเมตร โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 30 ประเทศทั่วโลก

            สำหรับเป็นมณฑลซินเจียงใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน มีประชากร 80% นับถือศาสนาอิสลาม อยู่กับชายแดนประเทศ ธิเบต  อุซเบกิสถาน และกลุ่มประเทศ ที่แยกตัวจากประเทศรัสเซีย ซึ่งประชากรที่อยู่ในประเทศในภูมิภาคนี้ประมาณ 600 ล้านคน

       

     “คณะของเราจะเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ วันที่ 20 เดือนกรกฎาคม โดยงานจะเริ่มวันที่ 23-27 กรกฎาคม โดยได้รับการสนับสนุน จากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ  คณะกรรมการกลางอิสลามประจำประเทศไทย และสถาบันอาหาร นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก สภา SME อีกด้วย”

            สำหรับการเดินทางไปเปิดตลาดฮาลาลที่มณฑลซินเจียงในครั้งนี้ จะมีผู้ประกอบการไทยนำสินค้าฮาลาลไปทั้งหมด 57 บูธ รวมกว่า100 คน  ซึ่งเราคาดหวังเวทีนี้จะเป็นการเปิดตลาดในแถบนี้ ประกอบกับปัจจุบันเส้นทางการขนส่งสินค้าเริ่มสะดวกขึ้น โดยใช้เส้นทาง R3A ซึ่งเส้นทางนี้เริ่มจากประเทศไทยเข้าผ่านเมือง ซินเจียงสามารถไปถึงรัสเซีย ใช้เวลาการเดินทาง 15 วัน ซึ่งเป็นการขนส่งทางบกที่สะดวกมาก และในอนาคตอันใกล้นี้ รถไฟความเร็วสูงก็จะตามมาทำให้สินค้ามีการขนส่งได้สะดวกยิ่งขึ้น

             นั่นหมายถึง ตลาดแห่งนี้จะเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง

ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับกรกฎาคม 2558