The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   “ แขกขาว” วาทกรรมบาดใจ

“ แขกขาว” วาทกรรมบาดใจ

+++  คำตอบ ถึงมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ กรณีระเบิดราชประสงค์

 โดย จอกอ

+++++++++++++++++++++++++

         ะหว่างที่ผมอยู่บนเวทีอภิปราย หัวข้อ “ทำข่าววิกฤติ ไม่ให้วิกฤติ..บทเรียนจากแยกราชประสงค์” จัดโดยหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฏีบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวฯ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ห้องประชุมอิศรา สมาคมนักข่าว  เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558


            พี่น้องมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ในนามมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ ได้มายื่นหนังสือถึงคุณวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอให้ดำเนินการปรับปรุงการนำเสนอข่าวที่มีลักษณะชี้นำให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน

            อันเนื่องมาจากวาทกรรม “แขกขาว” โดยในหนังสือได้พูดถึงหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ อย่างน้อยสองฉบับ คือไทยรัฐ และเดลินิวส์

            ในขณะอภิปราย ตัวแทนมูลนิธิ ได้ยกมือถามถึงเรื่องการทำงานของสื่อ ที่มีการกล่าวถ้อยคำ “แขกขาว” อันมีนัยสื่อถึงมุสลิมเป็นการแสดงความหมิ่นแคลนทางชาติพันธุ์ และอธิบายว่าก่อนเดินทางมายื่นหนังสือ ได้ไปแสดงเจตนา ทวงถามความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวแล้ว

          ผมตอบคำถามบนเวที ได้เพียงสั้นๆ ว่า หากการกล่าวถ้อยคำแขกขาวมีผลกระทบ ผมก็ถูกกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตามเรื่องเช่นนี้ ก็ได้ห้ามปราม พูดจากันแล้ว และน่าจะมีความเข้าใจมากขึ้น

           มองลงไปจากเวที มีบางคนที่รู้จักคุ้นเคย และผมตั้งใจว่าเมื่อเสร็จอภิปราย อาจได้มีโอกาสสนทนาทำความเข้าใจกันในรายละเอียดมากกว่านี้ เสียดายที่ลงจากเวทีแล้ว ตัวแทนมูลนิธิได้เดินทางกลับไปเสียก่อน

           ความจริง วาทกรรม แขกขาว เป็นภาพจำ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว  เมื่อปรากฏเหตุระเบิด ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ 31 ถนนสุขุมวิท 71 ผู้ก่อเหตุซึ่งพลาดถูกระเบิดขาขาด เป็นชาวอิหร่าน  และยังมีคนร้ายหลบหนีไปประเทศมาเลเซีย ครั้งนั้น สื่อใช้คำ “แขกขาว” เรียกขานมุสลิมที่มีผิวขาว จมูกโด่งเหมือนคนตะวันตก และใช้คำนี้ในเวลาต่อมา ในหลายวาระและโอกาส

          แต่ข่าวระเบิดสี่แยกราชประสงค์ครั้งนี้ ถือเป็นการก่อการร้ายที่มุ่งหวังผลสังหารผู้คนจำนวนมาก ขนาดความสำคัญของข่าว ทำให้ถ้อยคำเรียกแขกขาว ได้รับการตอกย้ำ มีการทำซ้ำทั้งในสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อกระจายเสียงและภาพ จนมุสลิมในประเทศไทยจำนวนมาก รู้สึกได้ถึงการตอกย้ำ และดูแคลนทางชาติพันธุ์

             เนื่องเพราะคำว่าแขกนั้น คือการสื่อสารถึงคนที่ด้อยกว่า หรือการเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคม เช่น การกล่าวขานคำว่า “พวกแขก” ไม่แตกต่างจากการเรียกคนจีนว่า “พวกเจ๊ก”

            ความเคลื่อนไหว ที่พยายามปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และการแสดงออกถึงเอกภาพของความเป็นมุสลิม ภายใต้ธงมุสลิมเพื่อสันติ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน และยกย่องยินดี แต่กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ก็อาจจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน และมีความเข้าใจในภูมิทัศน์ของสื่อมากกว่านี้

             เพื่อกำหนดยุทธวิธีการต่อสู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง

             สมาคมนักข่าวนั้น เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อหลักของประเทศไทย สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักข่าวผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ ภารกิจคือการดูแลเรื่องความเป็นอยู่ และสวัสดิการของนักข่าว ประการสำคัญคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เป็นเสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ

             แต่หากเลยธงไปถึงความรับผิดชอบ จะเป็นหน้าที่ขององค์กรอย่างน้อยสององค์กร คือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

          การทำสื่อที่ไปละเมิดสังคม หรือบุคคลอื่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการหมิ่นแคลนทางชาติพันธุ์ การใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง หรือเรื่องราวอื่นๆ ทำนองนี้ เป็นความรับผิดชอบของสภาวิชาชีพทั้งสอง ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสมาคมนักข่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักข่าวภาคสนาม

            ถึงแม้สมาคมนักข่าวจะมีกรรมการควบคุมจรรยาบรรณ ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งในกรรมการควบคุมจรรยาบรรณ แต่กรรมการจรรยาบรรณ ก็เป็นเพียงการแจ้งเตือน หรือออกแถลงการณ์ในบางกรณีที่มีการละเมิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง แต่ไม่มีกระบวนการสอบสวนตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียน

           กล่าวถึงที่สุดแล้ว สมาคมนักข่าว สภาวิชาชีพทั้งสอง ก็ไม่ได้มีศักยภาพที่จะไปเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือบรรเทาความเสียหายใดๆ ได้ด้วยตัวเอง เพราะอำนาจแท้จริงอยู่ที่เจ้าของผู้ประกอบการหรือนายทุนสื่อ

            และเมื่อคำนึงถึงภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป พัฒนาการของสื่อจากกิจการขนาดเล็ก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กิจการสื่อมีช่องทางที่หลากหลายขึ้น ทั้งสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียงและภาพ สื่อออนไลน์ คนทำงานสื่อ ซึ่งอยู่ในสมาคมนักข่าว หรือสภาวิชาชีพ ก็มีฐานะเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมข่าวเท่านั้น แปลว่า

หากกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ไม่เพียงต้องการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ หากแต่ต้องการให้สื่อตระหนักถึงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง การเลือกไปพูดจากับสื่อที่เป็นต้นกระแสธารคำว่า “แขกขาว” นั้น นับว่าถูกต้องแล้ว แต่จะต้องเข้าถึง นายทุนสื่อ ที่ไม่ใช่แค่คนรับหนังสือ หรือบรรณาธิการเท่านั้น

            ความจริงที่เจ็บปวดไปกว่านั้น ก็คือในบรรดาสื่อใหญ่ทั้งหลาย โดยเฉพาะสื่อที่พยายามแสดงราคาความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวต่างประเทศ ล้วนมีอคติต่อมุสลิมและอ่อนด้อยความรู้เรื่องอิสลามศึกษาอย่างยิ่ง

          มีหนทางเดียว คือสื่อมุสลิมจะต้องเป็นปึกแผ่น และรวมกันให้มีพลังที่จะต้านทานอคติ และความชั่วร้าย ในสื่อกระแสหลักให้ได้

 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ กันยายน 2558