The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ตออัต... พลังสังคมที่จางหายไป

ตออัต... พลังสังคมที่จางหายไป

โดย บันฑิตย์ สะมะอุน

             คำๆ หนึ่งที่สำคัญต่อความเข้มแข็งของสังคม คือ การเคารพภักดี(ตออัต) และการให้สัตยาบันต่อกัน(บัยอะห์) เพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างผู้นำกับผู้ตาม เพราะสังคมในปัจจุบันเริ่มเผยจุดอ่อนของการเคารพภักดีให้เห็นเด่นชัดขึ้น

            การเคารพภักดี (ตออัต) เป็นข้อกำหนดแรกๆ ที่ถูกกำหนดให้เป็นกรอบดำเนินชีวิตแก่สังคมมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคมมาตั้งแต่เริ่มกำเนิด ด้วยจุดเริ่มต้นของอาดำและฮาวา(อาดำ-อีฟ) และขยายเผ่าพันธุ์กลายเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นขยายออกไปทั่วผืนแผ่นดินโลก กฎแห่งการเคารพภักดี(ตออัต) เป็นกฎที่พระเจ้าได้วางไว้แก่มนุษย์ตั้งแต่เริ่มแรก เพราะการจะให้มนุษย์กำหนดกฎแห่งการเคารพภักดีระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้น จะมีปัญหาไม่สิ้นสุด หากปราศจากคำสั่งจากพระเจ้า

           เพราะมนุษย์ไม่ยอมกัน มีอารมณ์เอนเอียง เห็นแก่ตัว มีทิฐิ ซึ่งเป็นอุปสรรค์สำคัญต่อการกำหนดกฎแห่งการเคารพภักดี

            กฎหมายเป็นข้อกำหนดที่ต้องการให้เกิดการเคารพภักดี แต่หลายครั้งที่กฎหมายไม่สามารถสร้างภาวะแห่งการเคารพภักดีขึ้นมาได้ หากปราศจากการเชื่อมโยงกับหลักคิดทางศาสนาในแต่ละศาสนา การที่สังคมละทิ้งกฎ แนวคิดทางศาสนา ก็ยิ่งจะทำให้กฎหมายที่มนุษย์คิดบัญญัติขึ้นมีจุดอ่อนมากมายติดตามมา

            กฎหมายจึงต้องแสวงหาแง่มุม แนวคิดทางศาสนาเข้ามาผนวกเป็นเครื่องมือในการสร้างกฎแห่งการเคารพภักดีขึ้นทางสังคม เพราะสุดท้ายแล้วคนอาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะกฎหมายมีบทลงโทษเพื่อให้รอดพ้นจากความผิด ความผิดทางกฎหมายอาจทำให้คนสำนึกในความผิดลดน้อยลง แม้จะวางบทลงโทษไว้รุนแรงเพียงใด   แต่ก็ไม่ทำให้คนผิดเข็ดหลาบ เพราะสำนึกในความผิดไม่เกิด บางคนถึงกับพูดเชิงเหน็บแนบว่า กฎหมายมีไว้เพื่อให้แหกกฎ จึงมีคนที่คิดหาทางมีชัยเหนือกฎหมาย มีคนพยายามทำให้กฎหมายเปลี่ยนแปลงจากผิดเป็นถูก หรือหาหนทางทำให้คนผิดรอดพ้นจบทลงโทษของกฎหมายอยู่ตลอดมา

            สำนึกแห่งการเคารพภักดี จึงไม่สามารถปลูกฝังลงในจิตสำนึกของผู้คนในสังคมได้เพียงการพึ่งพิงตัวบทกฎหมายเพียงด้านเดียว กฎหมายอาจลงโทษอาชญากรได้ แต่ไม่สามารถสร้างจิตสำนึกกับอาชญากรได้ การจะสร้างจิตสำนึกหรืออิทธิพลควบคุมคนในสังคมด้วยกฎแห่งการเคารพภักดี จึงต้องร่วมกันระหว่างกฎหมายกับกฎของศาสนาอย่างสมดุลย์

            ถึงวันนี้ ประชาธิปไตยที่ต้องพึ่งพิงการยอมรับด้วยเสียงส่วนมาก กำลังอ่อนล้าและยอมจำนนต่อกฎของศาสนาที่เน้นให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยกฎแห่งการเคารพภักดี มากกว่าเพียงแค่การยอมจำนนจากเสียงส่วนมาก แต่เป็นการยอมจำนนด้วยจำนวนไม่ใช่การยอมรับด้วยกฎแห่งการเคารพภักดี

            ความต้องการเพียงให้คนส่วนมากยอมรับ อาจทำลายกฎแห่งการเคารพภักดีที่มีอยู่ในสังคมอย่างละมุนละม่อม เสรีภาพที่สังคมมนุษย์ใฝ่ฝันถึง อาจไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดกฎแห่งการเคารพภักดี เสรีภาพที่สังคมโหยหายกลับกลายเป็นตัวบั่นทอนภาวะแห่งความเคารพภักดีทางสังคม เพราะกฎแห่งการเคารพภักดีทำให้เกิดระบบ ระเบียบ กติกา มารยาท เพื่อให้สังคมเกิดพัฒนาการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุขอย่างแท้จริง 

              เป้าหมายของมุสลิม คือ การสร้างสังคม(ญะมายะห์) ที่ถูกออกแบบไปตามธรรมชาติ(ฟิตเราะห์)ของอิสลาม ซึ่งเป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมดั้งเดิมของมนุษย์แต่เริ่มแรก แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังทำให้สังคมมุสลิมเกิดปัญหาในการร่วมกลุ่ม(ญะมาอะห์) ซึ่งนั่นหมายถึงสัญชาติญาณบางอย่างของมุสลิมกำลังเริ่มจากหายไป

              การเคารพภักดี(ตออัต) จึงเป็นสัญชาติญาณหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่กำหนดไว้เพื่อการสร้างสังคม สังคมที่ออกแบบเพื่อการเคารพภักดี หรือวางอยู่บนฐานของการเคารพภักดี จึงเป็นสังคมที่เข้มแข็ง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกิดพัฒนาการเป็นกฎกติกา ระเบียบระบบต่างๆ ทางสังคมติดตามมามากมาย

              เพราะสังคมในวันนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องการเคารพภักดี เป็นสภาพสังคมที่ท้าทายต่อผู้นำและสภาวะของผู้นำที่ต้องสร้างเงื่อนไขแห่งการเคารพภักดีให้เกิดขึ้น ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ด้วยการสร้างสภาวะแห่งการยอมรับ การให้เกียรติ มองความแตกต่างให้เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ และการมีมารยาทที่ดีต่อกัน  การยัดเยียดการเคารพภักดีให้แก่กันนั้น เสี่ยงต่อความมั่นคงในการสร้างสังคม

               สำหรับหลักคิดของมุสลิมเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ การเคารพภักดี(ตออัต) เป็นสิทธิเฉพาะของพระเจ้า พระองค์คือผู้กำหนดกฎแห่งการเคารพภักดีให้กับมนุษย์ หนึ่งคือการเคารพภักดีที่มนุษย์ต้องมีต่อพระเจ้า และสองคือการเคารพภักดีระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งการเคารพภักดีใดๆ ก็ตามล้วนเป็นคำสั่งโดยตรงจากพระเจ้า (อัลลอฮ) ดังที่อัลกุรอานได้บัญญัติว่า

          “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเคารพภักดีอัลลอฮ และเคารพภักดีรอซูล(ศาสดา) และเคารพภักดีผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า แต่ถ้าเจ้าขัดแย้งกันในเรื่องใด ก็จงกลับไปยังอัลลอฮและรอซูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮและวันสิ้นโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่งและเป็นการกลับที่สวยงามยิ่ง” (อัล-นิสาอ์ / ๕๙)

/////