The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   คุยกับลุงธง : ธงรบ ด่านอำไพ

เปิดผลการวิจัย “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมุสลิม”
: ศึกษากรณีการฟื้นฟูธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ตอนที่ 1)


            ผลการวิจัย “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมุสลิม โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศผสมผสานกับเศรษฐศาสตร์อิสลาม : ศึกษากรณีการฟื้นฟูธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นงานวิจัย ของ นายธงรบ ด่านอำไพ หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 57  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด

            ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

            ระบบเศรษฐศาสตร์อิสลามเกิดขึ้นมาในโลกนี้กว่า 1,400 ปี มีชุมชนมุสลิมที่ดำรงชีวิตด้วยหลักการนี้อย่างมั่นคงกระจายอยู่ทั่วโลก และมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม (Islamic culture) หรือหลักแห่งพลังศรัทธา ประเทศไทยมีชุมชนมุสลิมกระจายตัวอยู่กันเป็นชุมชน 39 จังหวัด โดยมีศูนย์กลางคือ มัสยิดที่มีการลงทะเบียนไว้มากกว่า 3,800 มัสยิด และที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนอีกมากกว่า 7,000 มัสยิด

            โดยมีประชาการ 10-12% ของประชากรทั้งหมดของประเทศคิดเป็นจำนวนประชากร 8-10 ล้านคนและมีอัตราเพิ่มของประชากรสูงขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรมุสลิมถึง 2,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลกซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

            สังคมมุสลิมไทยในปัจจุบันยังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจชุมชน และไม่มีระบบการเงินอิสลามที่ถูกต้องตามหลักศาสนารองรับ มุสลิมไทยส่วนใหญ่ยังยากจนเป็นจำนวนมาก การไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาครัฐ และระบบราชการอย่างเท่าเทียมกันที่เรื้อรังมายาวนาน 

            ประเด็นด้านอัตลักษณ์ : ความเป็นคนมุสลิมในประเทศไทยกลุ่มที่ต้องการความทันสมัยให้ชุมชนมุสลิม และการร่วมเทศกาลต่างๆ ในสังคมไทย แต่กลุ่มหัวอนุรักษ์ก็มีการต่อต้าน หากจำแนกแล้วสังคมไทยมุสลิมก็มีทั้งประเด็นปัญหาศาสนา วัฒนธรรม การเมือง สังคมเศรษฐกิจ และที่สำคัญธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นที่ไว้วางใจของชาวไทยมุสลิม และมีชาวมุสลิมใช้บริการทั้งการฝากเงิน และสินเชื่อน้อยมาก หรือเพียงร้อยละ 10 ของการใช้บริการเท่านั้น มีสินเชื่อด้อยคุณภาพมากถึงร้อยละ 50 ของสินเชื่อทั้งหมด

            ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยังไม่มีทิศทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ปัญหาทั้งหมดยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขอย่างไร ที่พอจะเป็นทางออกของสังคมมุสลิมไทยในเร็ววัน นอกจากการแก้ไขแบบบูรณาการทุกมิติอย่างจริงจัง จริงใจ  และต่อเนื่อง

            ผู้วิจัยจึงมีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาและเข้าใจปัญหาดังกล่าว เนื่องจากได้มีโอกาสเข้าเป็นกรรมการรักษาการกรรมการผู้จัดการ  และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จึงได้รับทราบถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้วิจัยมีแนวคิดและสนใจ ถึงการบริหารจัดการด้านธุรกิจ และการทำการการตลาดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ที่กำหนดให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางทางข้อมูลและการตลาดในชุมชนของตนเอง โดยมีความสำคัญของปัญหา ดังนี้

            1. บริบทของชุมชนมุสลิมภายใต้หลักการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และเศรษฐศาสตร์อิสลาม ความเป็นเครือข่ายทางสังคมของชุมชนมุสลิมที่มีผลต่อการพัฒนาชุมชน การประกอบอาชีพเป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสร้างความมั่นคงและยั่งยืนได้อย่างไร และส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของชุมชนในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนได้อย่างไร

            2. ประสิทธิภาพหรือความสามารถใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาชุมชน นำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับชุมชนอื่นๆ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างสอดคล้องกับระบบการเงินการธนาคารของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และผสมผสานกับแนวทางเศรษฐศาสตร์อิสลาม เพื่อพัฒนาชุมชนมุสลิมให้มีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่มั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างไร

          วัตถุประสงค์ของการวิจัย

            1. เพื่อศึกษาบริบทความเป็นเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตของมุสลิมประเทศไทย และความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรมุสลิมและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ และการประกอบอาชีพของชาวมุสลิมในประเทศไทย

            2. เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่สังคมมีอยู่แล้วมาปรับใช้ผสมผสานกับหลักการดำเนินชีวิตตามวิธีอิสลาม หรือหลักการเงินอิสลามหรือเศรษฐศาสตร์อิสลาม เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างประโยชน์แก่ชุมชน และนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือสินค้าของชาวมุสลิมให้เกิดการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

            3. เพื่อเสนอแนวทางการฟื้นฟูธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยสู่การเป็นธนาคาร ที่ใช้หลักการเงินอิสลามอย่างถูกต้องสมบูรณ์ทำธุรกิจตามหลักเศรษฐศาสตร์อิสลาม และขยายผลการพัฒนาชุมชนมุสลิมของประเทศไทย และนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินธุรกิจฮาลาล และสร้างแบรนด์ฮาลาล ด้วยสินค้าบริการที่เป็นฮาลาลภายใต้การผลิตของชุมชนมุสลิมในประเทศไทย

ขอบเขตของการวิจัย

            1. ขอบเขตด้านพื้นที่ เป็นการศึกษาพื้นที่ในประเทศไทยโดยทั่วไปโดยเน้นเรื่องพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากบางพื้นที่อาจมีความแตกต่างด้านการเมืองการปกครองและความมั่นคง

            2. ขอบเขตด้านเวลา ทำการศึกษาภายในระยะเวลา 3 เดือนโดยเริ่ม ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนมิถุนายน 2558

            3. ขอบเขตด้านเนื้อหา  ศึกษาบริบทชุมชนเครือข่ายทางสังคม ครอบคลุมเนื้อหาส่วนบุคคล ระบบความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ประเพณี วัฒนธรรม คุณภาพทางสังคม ความสัมพันธ์ของสมาชิก ลักษณะทางเศรษฐกิจ อาชีพ การบริการจัดการ การตลาด การอนามัยและสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยี, การเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบันและอนาคต และทัศนคติของประชากรที่มีต่อธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

            4. ขอบเขตด้านประชากร ศึกษาประชากรชองชุมชนมุสลิมในประเทศไทย และกรณีศึกษาการบริหารกิจการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยโดยทั่วไป

          วิธีการดำเนินการวิจัย

            การดำเนินงานครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการผลิต จำหน่ายสินค้าหรือเป็นผู้ให้บริการแก่ชาวมุสลิมในประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน โดยมีวิธีเก็บรวบรวมข้อมูล 2 ส่วนคือ

            1. การเก็บข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) โดยรวบรวมข้อมูลจากภาครัฐและเอกชนที่เชื่อถือได้ บทสัมภาษณ์ ข่าวสาร บทความ และบทวิจัยต่างๆ จากแหล่งอื่นๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ภาพรวมของชุมชนมุสลิมในประเทศไทย และความศรัทธาที่มีต่อการบริหารกิจการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในภาพรวม

            2. การเก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิ (Primary Data) ใช้แบบสอบถามไปยังมุสลิมในระดับต่าง ๆ เช่นผู้นำมุสลิม และนักธุรกิจ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลบริบทของชุมชน และมีการสัมภาษณ์เชิงลึก

            หลังจากนั้นได้นำผลการวิจัยมาวิเคราะห์ หาข้อสรุปและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (อ่านต่อฉบับหน้า)