The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   คมคิด : จอกอ : อิสลาม หิ่งห้อยน้อยแสงในญี่ปุ่น

อิสลาม หิ่งห้อยน้อยแสงในญี่ปุ่น
โดย จอกอ


             สำนักข่าวอะลามี่:  ยกเว้นประเทศมุสลิมแล้ว หลายประเทศที่ผมเคยไปเยือน ทั้งในแถบเอเชีย ยุโรปตะวันออก ล้วนมีร่องรอยของอิสลามปรากฏให้เห็น มากบ้าง น้อยบ้าง ฝั่งตะวันตกนั้น ที่ฝรั่งเศส จะเห็นกลุ่มประชากรมุสลิมหนาแน่นในเอเชีย เมื่อคราวหนึ่งนั่งรถผ่านกลางประเทศกัมพูชา มุ่งหน้าสู่เวียดนาม ในช่วงกลางประเทศ ล้วนมีหมู่บ้าน ตำบล เรียกว่ากำปง และมัสยิด เรียงรายอยู่ตลอดเส้นทาง

              ยังไม่ต้องพูดถึงพม่าและลาว ซึ่งมีกลุ่มคนมุสลิมปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะพม่าที่มีปัญหาชนกลุ่มน้อย “โรฮิงญา” แต่ในเมืองหลวงเก่า ย่างกุ้ง หงสาวดี และหลายจังหวัดในพม่า ไม่เคยขาดโดม และดาวเดือน

              แต่น่าแปลกอย่างยิ่ง เมื่อเอ่ยถึง ญี่ปุ่น อิสลามก็คล้ายหิ่งห้อยน้อยแสง ด้วยระดับความหวาดระแวงสูงเต็มพิกัด

               คุมิโกะ ยากิ ศาสตราจารย์ ผู้ศึกษาเรื่องมุสลิมอาหรับ บอกว่า “ในญี่ปุ่นมีความคิดว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีจิตใจคับแคบ และเราควรอยู่ให้ห่างไกลไว้”

               ทัศนคติเช่นนี้เอง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ไม่ให้สัญชาติมุสลิม

               ผมไปญี่ปุ่น 2 – 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อราวกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เหลียวหาก็ยังมองไม่เห็นภาพตัวแทนอิสลาม ไม่ว่ามัสยิดหรือผู้คน ทั้งที่อิสลามในญี่ปุ่นก็มิได้เป็นศูนย์เสียทีเดียว

                อาจจะเป็นเพราะครั้งนี้ไม่ได้ไปโตเกียว เกียวโต โอซากา นางาซากิ เมืองหลักของญี่ปุ่น แต่คราวนี้ไปที่ฟุกุโอกะ เมืองบนเกาะคิวชูทางใต้ของประเทศ เมืองที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต

               ว่าไปแล้ว ฟุกุโอกะ ก็มีมัสยิดที่สร้างและเปิดเป็นทางการเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยการต่อสู้กว่าจะได้มาของชมรมนักศึกษามุสลิมแห่งมหาวิทยาลัยคิวชู ถึงกระนั้นผมก็เข้าถึงได้เฉพาะเรื่องราวความเชื่อแบบญี่ปุ่นเท่านั้น

                สีสันของศาสนาและความเชื่อครั้งนี้ในญี่ปุ่นของผม เริ่มที่ศาลเจ้าคาไซฟุ ศาลเจ้าเก่าแก่อายุกว่าพันปี ที่สร้างอุทิศให้ “มิซิซะเนะ” นักปราชญ์คนสำคัญในสมัยเฮอัน ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา ดังนั้น ในวันที่ไปเยือนคาไซฟุ จึงเห็นเด็กนักเรียนจำนวนมาก ที่ไปขอพรให้มิซิซะเนะ ดลบันดาลความสำเร็จเรื่องการเรียนให้กับพวกเขา

              เมื่อ มิซิซะเนะ ตาย มีการใช้วัวเคลื่อนขบวน เพื่อไปทำพิธีศพ แต่มาถึงบริเวณที่ตั้งศาล วัวไม่ยอมเดินอีกต่อไป พวกเขาจึงจัดการศพมิซิซะเนะที่บริเวณนี้ ซึ่งต่อมาได้มีการปั้นรูปวัวไว้เป็นสัญลักษณ์ก่อนเข้าประตูศาลด้วย

              การประกอบพิธีภายในศาลเจ้าซึ่งมีตลอดทั้งวัน มีท่าโค้งคำนับและตีกลองเป็นจังหวะ ไม่แน่ชัดว่าเป็นพิธีกรรมในแบบของศาสนาใด อาจเป็นพุทธ หรือชินโต ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น และกล่าวได้ว่า เป็นศาสนาประจำถิ่น ด้วยไม่พบว่าศาสนาชินโตได้แพร่กระจายไปยังสถานที่ใดนอกปริมณฑลของญี่ปุ่น

                ศาสนาชินโตเป็นศาสนาที่เก่าแก่ เกิดมาพร้อมกับชาวญี่ปุ่น คำว่า “ชินโต” หมายถึงวิถีของพระเจ้า ศาสนาชินโตมีความเชื่อว่าวัตถุทุกอย่างในธรรมชาติ รวมทั้งปรากฏการณ์ต่างๆ มีวิญญาณหรือเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ เป็นความเชื่อแบบลัทธิภูตผี ผสมกับการบูชาบรรพบุรุษตามคตินิยมของจีน

               ชินโต  ยังสอนให้เด็กรู้จักมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ผู้อ่อนเยาว์ต้องเคารพผู้สูงอายุ ผู้หญิงต้องเคารพผู้ชาย ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีที่ภรรยาต้องอยู่ในอำนาจของสามี และมีส่วนคล้ายกับอิสลาม ที่ให้ผู้ชายปกปัองดูแลภรรยา ภรรยาต้องขออนุญาตสามีก่อนออกจากบ้าน

              การที่ชาวญี่ปุ่นมักโค้งให้กันด้วยความนอบน้อม ก็อาจจะมีอิทธิพลมาจากศาสนาชินโต

              ส่วนพุทธศาสนา เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านจีนและเกาหลี ประมาณกลางศตวรรษที่ 6 เป็นพุทธนิกายมหายาน เมื่อศาสนาพุทธมาถึงญี่ปุ่น ก็ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของคนท้องถิ่น และแตกออกไปอีกเป็น 56 นิกายใหญ่ และ 170 นิกายย่อย

              ในโบสถ์ของวัดพุทธ ประดิษฐานไว้ด้วย บุทสึโซ หรือพระพุทธรูป ซึ่งคนญี่ปุ่นที่ศรัทธา ก็จะจุดธูปบูชาเช่นเดียวกับคนไทย ในบ้านของคนญี่ปุ่น ก็มีแท่นบูชาพระ และแท่นบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งอาจเป็นส่วนผสมระหว่างพุทธและชินโต

              สำหรับอิสลาม เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นของยุคเมจิ มีพ่อค้าชาวอินเดีย และกะลาสีเรือชาวอินเดีย เชื้อสายมลายู เข้ามาค้าขาย และทำงานที่ โยโกฮาม่า และโกเบ คงคล้ายกับ เฉกอะหมัด (พ่อค้าชาวเปอร์เซีย) ที่ล่องเรือมาค้าขายในยุคกรุงศรีอยุธยา แต่ประวัติศาสตร์ของเฉกอะหมัด ในฐานะต้นสายตระกุล “บุนนาค” ในสังคมไทย มีเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้มากมาย

              ถึงแม้ชินโต จะเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ป่น แต่คนญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ก็เหมือนไม่มีศาสนา แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งความเชื่อหลายๆ อย่าง พวกเขาอาจนับถือบรรพบุรุษ ตายลงเผาแบบพุทธ หรือถึงวันคริสต์มาสก็รื่นเริงร่วมฉลองไปกับคนคริสต์ด้วย

              ยกเว้นอิสลามที่หลักปฏิบัติค่อนข้างเคร่งครัด และยากที่จะประนีประนอมกับความเชื่อชนิดอื่น ฉะนั้นการแผ่ขยายอาณาจักรแห่งความเชื่อในญี่ปุ่นจึงเป็นไปอย่างช้าๆ

ด้านหนึ่งมุสลิมญี่ปุ่นจึงอาจมีวิถีชีวิตที่เคร่งครัดในหลักการ ไม่ออกมาเที่ยวเตร่เฮฮา ดึ่มสาเก เครื่องดองของเมา และยิ่งญี่ปุ่นมีมาตรการคุมเข้ม การเติบโตขยายตัวของมุสลิมญี่ปุ่น พวกเขาจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น

              ไปฟุกุโอกะครั้งนี้ ยังไปไม่ถึงมัสยิด

             แต่ในถนนสักเส้นหนึ่งที่ผมนั่งรถผ่าน อาจมีชุมชนมุสลิมที่เข้มแข็งซ่อนตัวอยู่

              วันหนึ่ง ผมคงหาพวกเขาเจอ อินชาอัลลอฮ์..!!!!

 

 ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร อะลามี่ ฉบับเมษายน 2559