The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   สื่อภาคใต้ เปิดวงเสวนาหาทางออก ? พลังงานบ้านเรา...เอาไงดี?

สื่อภาคใต้ เปิดวงเสวนาหาทางออก “ พลังงานบ้านเรา...เอาไงดี?

             สำนักข่าวอะลามี่ : สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสื่อมวลชนและกลุ่มองค์กรในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมคิด “พลังงานบ้านเรา...เอาไงดี? ” พร้อมร่วมออกแบบพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ให้ยั่งยืน มีผู้เข้าร่วมเสวนาคับคั่ง บรรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์

            วันนี้ (วันที่ 2 มีนาคม 2560)  สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสื่อมวลชนและกลุ่มองค์กรในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อร่วมกันคิด “พลังงานบ้านเรา...เอาไงดี?” และ เสวนา หัวข้อ “ร่วมออกแบบพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ให้ยั่งยืน” สร้างความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าภาคใต้และประเทศไทย ปัจจัยที่ทำให้พลังงานไฟฟ้ามีความมั่นคง และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โดยมีสื่อมวลชนและกลุ่มองค์กรในพื้นที่ภาคใต้ร่วมสัมมนากว่า 235 คน ณ โรงแรมบีพีแกรนด์ทาวเวอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

              นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้าภาคใต้ เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคม โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้เชิญนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มาร่วมให้ข้อเท็จจริงแก่สื่อมวลชนและกลุ่มองค์กรในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานไปสื่อสารให้สังคมได้รับทราบ สามารถนำข้อเท็จจริงไปออกแบบแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศไทยให้ยั่งยืนร่วมกันต่อไป

             สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีการบรรยายสร้างความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าภาคใต้และประเทศไทย ได้แก่ เรื่อง “การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ” โดย นายอุทัย ม่วงศรีเมืองดี นักวิชาการประจำสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เรื่อง “ทำอย่างไรให้ไฟฟ้ามั่นคง” โดย อาจารย์มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และเรื่อง การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ คณะทำงานการจัดทำแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

              นายอุทัย ม่วงศรีเมืองดี นักวิชาการประจำสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ ร่วมกับการส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงจากภาคกลาง ประมาณ 600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจมองว่าเพียงพอ แต่ถ้าไม่มีการจัดการใด ๆ เลย ในอนาคต ภาคใต้จะมีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงในระบบไฟฟ้า เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้เพิ่มขึ้นปีละประมาณร้อยละ 3 โดยมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์อนาคตในปี 2579 ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5,500 เมกะวัตต์

              ดังนั้น การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอจึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่จะเป็นในรูปแบบใดนั้น จำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ และมองถึงภาพรวมของประเทศ ไม่มองแบบแยกส่วน ต้องคำนึงถึงราคาที่เหมาะสม และเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมด้วย เพราะมีเชื้อเพลิงให้เลือกหลายชนิด ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า (LNG) น้ำ ลม และแสงอาทิตย์ ซึ่งมีราคาต้นทุนที่แตกต่างกัน และมีข้อดีข้อด้อยที่ต่างกัน

             นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน วิทยากรบรรยายในหัวข้อ ทำอย่างไรให้ไฟฟ้ามั่นคง กล่าวว่า การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าต้องคำนึงถึงความมั่นคง โดยมีโรงไฟฟ้าเพียงพอและระบบไฟฟ้ามั่นคง นอกจากนี้ต้องมีราคาที่เป็นธรรม ประชาชนทุกคนสามารถจ่ายได้ และผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้ โดย

            1) การลดความเสี่ยงด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป และลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก
           2) เสริมสร้างความมั่นคงของระบบ โดยการมีกำลังผลิตสำรองอย่างพอดี มีกำลังผลิตพึ่งพาได้เพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง และมีสายส่งที่เพียงพอ
           3) มีราคาที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้ และอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งมีการออกแบบการพัฒนาพลังงานได้หลายรูปแบบ โดยควรเลือกใช้เชื้อเพลิงในสัดส่วนที่เหมาะสม กับบริบทของประเทศนั้น ๆ เพราะในแต่ละประเทศมีลักษณะที่แตกต่างกัน ในการคิดไม่ควรอิงกับกระแสโลกมากจนเกินไป ต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลให้ถูกต้อง รอบด้าน เพราะเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ต้องเลือกสัดส่วนเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

           ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ คณะทำงานการจัดทำแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ว่า เป็นเครื่องมือให้รัฐบาลตัดสินใจก่อนการวางนโยบายและแผนการพัฒนาในภาพกว้าง โดยมีกระบวนการพิจารณาครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี

           โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างสมดุล หาแนวทางที่ดีที่สุดที่สังคมยอมรับร่วมกันในทุกด้าน โดยมีกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือทางเลือกที่เปิดกว้างมากขึ้น ข้อสรุปของการพัฒนามีทางออกเป็นไปได้หลายรูปแบบอย่างเปิดกว้าง

           อาทิ อาจมีการเปลี่ยนแปลงขนาด เทคโนโลยี ระยะเวลาดำเนินการ หรือยกเลิก จึงส่งผลให้การพัฒนามีความคลอบคลุมมากขึ้น ซึ่งควรจัดทำควบคู่ไปกับการวางนโยบายและแผนพัฒนาของรัฐบาล เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันและรัฐบาลได้ทบทวนการดำเนินงานให้รอบคอบ มองรอบด้านในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และลดความขัดแย้งที่เกิดในสังคมลง ทั้งนี้ การทำ SEA มีความแตกต่างจากการทำ EIA และ EHIA ที่ประเมินผลกระทบในระดับโครงการที่มีโจทย์ในการพัฒนาอยู่แล้ว”

           นอกจากนี้ ในภาคบ่ายมีการเสวนา หัวข้อ  “ร่วมออกแบบพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ให้ยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิทยาเทคโนโลยีและการจัดการพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินการเสวนาโดย คุณสร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ อดีตผู้ดำเนินรายการข่าวไอทีวี และปัจจุบันเป็นเจ้าของรายการ SMART ENERGY ทางไทยรัฐทีวี

            โดยมีผู้เข้ารับฟังการเสวนา ร่วมแสดงความคิดเห็นในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ โดยภาพรวมเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าสมัยใหม่ แต่ปัญหาของประเทศไทยคือการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกันและไม่รอบด้านทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันมาก ส่งผลให้พัฒนาโครงการต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย