The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   บทบรรณาธิการ : เศรษฐกิจ การเมืองชายแดนใต้

เศรษฐกิจ การเมืองชายแดนใต้

โดย : เอกราช มูเก็ม


               ทันที่ ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ปลดล๊อคทางการเมือง และ กำหนดโรดแมปเลือกตั้ง ( ROAD MAP) ทำให้การเมืองเริ่มคึกคัก

              แต่สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ดูเหมือนยังไม่คึกคักตาม เพราะนักลงทุน ยังรอดูทิศทางทางการเมือง แต่นั่นก็หาใช่จะเป็นสูตรสำเร็จ เพราะเศรษฐกิจนอกประเทศอยู่นอดกเหนือการควบคุมอีกมากมาย

             กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เผยแพร่รายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกประจำไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2561-2562  จะมีแนวโน้มขยายตัวที่ลดลง ทั้งนี้ จากนโยบายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯและจีน จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่เฉพาะสหรัฐฯ-จีน แต่รวมถึงเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และประเทศที่ประสบปัญหาการเงินอย่างอาร์เจนตินา ตุรกี และบราซิล

             ขณะที่ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สหรัฐฯจะลดลงเรื่อยๆ จาก 2.9% ในปี 2561 เหลือ 2.5% ในปี 2562 และ 1.8% ในปี 2563 ส่วนจีนประเมินว่าจะมีอัตราเติบโต 6.6% ในปี 2561 เหลือ 6.2% ในปี 2562 แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจต่ำกว่า 5% ในปี 2562 หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป

             ไอเอ็มเอฟ ยังประเมินการเติบโตโดยรวมของชาติอาเซียน 5 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ว่าจะอยู่ที่ 5.3% ในปี 2561 และลดเหลือ 5.2% ในปี 2562 หากดูจากทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ ประเมินว่าจีดีพี จะอยู่ที่ 4.6% ในปี 2561 และ 3.9% ในปี 2562

            แม้เศรษฐกิจโดยรวมยังต้องรอติดตามหลังเลือกตั้ง แต่การทำงานของรัฐบาลก็ต้องเดินหน้า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลได้แต่งตั้ง ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่บูรณาการในการขับเคลื่อนในทุกด้าน

          พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ที่ลงพื้นที่สามจังหวัดบ่อยที่สุด ซึ่งฉบับนี้จะนำเสนอบทบาทของ คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนภารกิจในแทบทุกด้าน

            นิตยสารดิอะลามี่ ขอแนะนำให้ติดตามสถานการณ์การค้าไทย-ซาอุฯ หลังจากการเดินทางของคณะทำงานด้านฮาลาลประเทศไทย ไปยังเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ทำให้เห็นภาพการค้าในประเทศซาอุดิอาระเบีย และทิศทางการส่งออกสินค้าไทยไปยังซาอุฯ รวมถึงโอกาสการขยายไปประเทศบาเรนห์ มากยิ่งขึ้น

            นิตยสาร ดิ อะลามี่ ยังคงทำหน้าที่สื่อกลาง เพื่อเป็นสะพานเชื่อมการค้าไทยสู่เวทีตลาดโลก ภายใต้สโลแกนที่ว่า “คู่คิด ธุรกิจสู่ประชาคมอาเซียน”

หมายเหตุ : บทบรรณาธิการ นิตยสารดิ อะลามี่ ฉบับพฤศจิกายน 2561