The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ศปบ.จชต.ดึงเยาวชนเรียนรู้ภาวะผู้นำ สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษา

ศปบ.จชต.ดึงเยาวชนเรียนรู้ภาวะผู้นำ สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษา

            ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศปบ.จชต. ) หนุนนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีภาวะผู้นำเสริมสร้างประชาธิปไตยและสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษา


            วันที่ 22 เมษายน 2562 พลเอก สุรเชษฐ์  ชัยวงศ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ/หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานพิธีเปิดอบรมค่ายภาวะผู้นำเสริมสร้างประชาธิปไตยและสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษา พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ โดยมี นายวาทิต  มีสนุ่น ผู้อำนวยการ  ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวรายงาน และ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจน นักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ครูพี่เลี้ยง วิทยากร และเจ้าหน้าที่ ศปบ.จชต.รวมจำนวนทั้งสิ้น 840 คน เข้าร่วมพิธีเปิดการอบรม ณ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

            การจัดอบรมค่ายภาวะผู้นำเสริมสร้างประชาธิปไตยและสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์  1.เพื่อส่งเสริมการศึกษาเพื่อความมั่นคงและเสริมสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุข

            2. ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและ 3. เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมของรัฐ รวมทั้งยอมรับและเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

            สำหรับนักเรียนที่เข้ารับการอบรมจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม 6 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 ชุดความรู้การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดย อาจารย์ ดร.ทวนธง  ครุฑจ้อน ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ

            ฐานที่ 2 ชุดความรู้ประวัติศาสตร์ร่วมราก โดย อาจารย์วาริน นาราวิทย์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ฐานที่ 3 ชุดความรู้หลักการศาสนา โดย อ.สุวิทย์ หมาดอะดำ และคณะวิทยากร มหาวิทยาลัยฟาฏอนี       
  

            ฐานที่ 4 ชุดความรู้การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพลเมือง โดย อาจารย์ ดร.อัศว์ศิริ ลาปีอี มหาวิทยาลัยทักษิณ ฐานที่ 5 ชุดความรู้ภาวะผู้นำและจิตอาสา โดย อาจารย์ณัฐปานี บัวอินทร์ วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี และฐานที่ 6 ชุดความรู้สันติภาพและความเป็นมนุษย์ โดย อาจารย์ชนกนาถ พูลสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

            นอกจากนี้ยังมีครูผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 130 คน เข้ารับการอบรมในด้านพหุภาษา พหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากคณาจารย์สาขาวิชาการสอนศิลปะศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ทั้งนี้เพื่อให้ครูผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ไปใช้ในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้

            การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในพื้น ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการเสริมสร้างภาวะผู้นำด้านประชาธิปไตยและสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษาเป็นอย่างดี

            ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดแนวทางขับเคลื่อนการบูรณาการรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านกระบวนการของกิจกรรมและโครงการที่มุ่งเน้นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

             โดยบุคคลเหล่านี้เป็นหัวใจหลักของกลไกการพัฒนา ที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนมีความภาคภูมิใจ แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน

          โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมอบรมค่ายภาวะผู้นำเสริมสร้างประชาธิปไตยและสังคมพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษาในครั้งนี้ มุ่งหวังให้นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สามารถนำวิถีประชาธิปไตยไปใช้ชีวิตประจำวันและในโรงเรียนได้ และมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

          อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดความเข้าใจในการสร้างสันติสุข นำไปสู่การสร้างความเข้าใจต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข

ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเมษายน 2562