The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   จุฬาราชมนตรี อดีตเด็กปอเนาะ

จุฬาราชมนตรี ศิษย์เก่าปอเนาะ

โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

++++++++++++++++++++++++++++++++

            สำนักข่าวอะลามี่ : ปอเนาะ เป็นสถาบันการศึกษาสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาแต่อดีตกาล มุสลิมในพื้นที่ ตลอดทั้งภาคใต้ตอนบนไปจนถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ล้วนมีรากเหง้าจากชายแดนภาคใต้

            เพราะ สถาบันปอเนาะ ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ศึกษา แต่เป็นสถานที่ฝึกฝนและบ่มเพราะแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อดำรงตนเป็นมุสลิมที่ดีตามหลักคำสอนของศาสนา

            เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอิสลามให้ความสำคัญกับหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติในเวลาเดียวกัน นักเรียนปอเนาะ จะอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็กที่ปลูกรายล้อมบ้านของ “บาบอ” หรือ “โต๊ะครู” กระท่อมขนาดเล็กนี้เรียกว่า “ปอเนาะ” ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาอาหรับว่า “ฟุนดูก” ซึ่งแปลว่า “โรงแรม” หรือ “ที่พักอาศัยชั่วคราว”

             วิธีการเรียนการสอนของปอเนาะ ถ้าจะพูดอย่างง่าย ก็คล้ายระบบการศึกษาแบบอังกฤษ คือ มีระบบเล็คเชอร์ และติวเตอร์ บาบอ หรือโต๊ครู จะเป็นผู้เล็คเชอร์ โดยให้นักเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเด็ก หนุ่ม หรือ สูงอายุมานั่งเรียนร่วมกันที่ “บาลัย” (สถานที่ที่เป็นทั้งที่เรียนและละหมาดร่วมกันของทุกคน)

            หลังจากนั้น นักเรียนก็จะไปจับกลุ่มกันเพื่อศึกษารายละเอียดในสิ่งที่บาบอสอน โดยมีรุ่นพี่ที่มีความรู้ความลุ่มลึกในเนื้อหาวิชาที่บาบอ บรรยายเป็นติวเตอร์ ในการสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม

           ปอเนาะบางแห่งหลายแห่งรับทั้งนักเรียนทั้งชายและหญิง แต่จะมีการแบ่งแยกชายหญิงในการเรียนและการพักอาศัย ที่พักนักเรียนหญิงเรียกในภาษาไทยว่า “ปอเนาะใน หรือ ปอเนาะดาแล” ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่พื้นที่หลังบ้านบาบอ เป็นเขตห่วงห้ามของนักเรียนชาย แต่การละเมิดข้อห้ามดังกล่าวของนักเรียนชายบางคนก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

             ระบบการศึกษาดังกล่าว เป็นทั้งข้อเด่นและข้อด้อยในเวลาเดียวกัน เพราะการไม่มีระบบชั้น ทำให้นักเรียนต้องติดตามเนื้อวิชาที่เรียนด้วยตัวเอง หรือ การไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ทำให้คนหลายคนเมื่อออกจากปอเนาะ ไม่สามารถประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งได้ตามสาขาอาชีพของโลกสมัยใหม่ นักเรียนที่ไม่เอาใจใส่ หรือขวนขวายหาความรู้ โอกาสที่จะจบไปโดยไม่มีความรู้อะไรติดตัวไปก็มีอยู่ไม่น้อย

           .แต่สิ่งที่คนที่ผ่านระบบการศึกษานี้ได้ไป คือ การวางรากฐานของความรู้พื้นฐานของศาสนา

           ผู้ปกครองจะเลือกส่งบุตรหลานไปยังปอเนาะไหนนั่นขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข เช่น ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบาบอ เคยเป็นลูกศิษย์ของปอเนาะนั้นมาก่อน หรือ อาจจะเป็นความเชี่ยวชาญของบาบอ หรือ เจ้าสำนัก ดังนั้นหากจะเปรียบปอเนาะเป็นสำนักตักศิลา ก็คงไม่ผิด เพราะบาบอแต่ละคน จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกต่างกันในสาขาความรู้ เช่น บาบอ บางคนเชี่ยวชาญเรื่องนิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกห์) วิชาหลักไวยกรณ์อาหรับ หรือ วิชาจริยวัตรของศาสดา (ฮาดิษ) เป็นต้น

             แม้จะเป็นสถานศึกษาที่มีบทบาทสำคัญ แต่ปอเนาะ ก็ตกเป็นเป้าสายตาของหน่วยงานของรัฐมานับแต่ในอดีต หน่วยงานที่รับผิดชอบงานความมั่นคง และหรือการศึกษา พยายามที่ปรับและจัดระเบียบ นับแต่ปี พ.ศ .2514 มีการจัดระเบียบและเปลี่ยนปอเนาะให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อให้รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น วิชาสามัญถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของโรงเรียนเอกชน พร้อมกับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ

            ที่ผ่านมา รัฐพยายามมาทุกยุคทุสมัยในการจัดระเบียบและเปลี่ยนโฉมหน้าให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่ก็มีปอเนาะหลายแห่งที่ดำรงอยู่เช่นปอเนาะดังเดิม เพื่อเป็นทางเลือกให้คนในพื้นที่เพราะเรียนปอเนาะไม่มีค่าเทอม ไม่มีค่าแป๊ะเจี๊ยะ ในการเข้าเหมือนโรงเรียนทั่วไป อีกทั้งคนทุกวัยก็สามารถเรียนได้ เรียนๆ หยุดๆ ตามความพร้อมหรือความต้องการของของผู้เรียน นี่คือ เสน่ห์ของปอเนาะ และหัวใจสำคัญที่ทำให้ปอเนาะยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน

             พ่อของข้าพเจ้า ก็เป็นผลผลิตของสถาบันปอเนาะดั้งเดิม ท่านเป็นนักเรียนของปอเนาะในอำเภอจะนะ และโรงเรียนสกุลศาสตร์ หรือ ปอเนาะตุยง ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี ท่านก็มีความฝันที่จะไปเรียนต่างประเทศเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่น แต่แม่ของตัวเอง ไม่อยากให้ไปเรียนไกลบ้าน เลยต้องขวนขวายหาความรู้จากปอเนาะและค้นคว้าหาความรู้เอาเอง

             ช่วงที่เรียนปอเนาะตุยง ท่านมักจะปั่นจักรยานมาหา อัลมัรฮูม ดร. ฮาซัน หมัดหมาน อาจารย์มหาลัยสงขลานครินทร์ ในขณะนั้น ผู้เป็นทั้งญาติและรุ่นพี่ เพื่อแนะนำหนังสือให้อ่าน และไปอ่านหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัย บ่อยครั้งที่ท่านไปอ่านหนังสือใหม่ๆ ที่ ร้านนะห์ดีย์ ร้านขายตำราศาสนาในตัวเมือง

             ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งแรก เจ้าของร้านก็ไม่ชอบใจเท่าไหร่ที่เห็นเด็กปอเนาะมายืนอ่านหนังสือฟรีๆ พอไปบ่อยเข้า เจ้าของร้านก็เรียกมาถาม ก็ตอบไปตรงๆ ว่าไม่มีเงินซื้อ เจ้าของร้านเลยเรียกมานั่ง แล้วหยิบหนังสือมาให้อ่านและแปลให้ฟัง เมื่อแปลได้ หลังจากนั้นความเป็นมิตรก็เกิดขึ้น ทุกครั้งที่ไปที่ร้าน เจ้าร้านจะยกน้ำชามาให้ดิ่ม จนกลายเป็นภาพความทรงจำที่มีต่อร้านนะห์ดี จนถึงทุกวันนี้

            ( ปล. ภาพนี้เป็นภาพที่โรงเรียนสุกลศาสตร์จัดงานโรงเรียน หลังจากที่ได้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลามไม่กี่เดือน ท่านได้เดินทางมาเยี่ยมปอเนาะ และเคารพหลุมฝังศพของบาบอ นี้เป็นครั้งที่สอง ที่ท่านกลับมาเยี่ยมสถาบันแห่งนี้)