The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   วันที่10 รอมฏอน.คือตากใบเมื่อ 25 ต.ค.47

วันที่10 รอมฏอน..คือตากใบเมื่อ 25 ตุลาคม ปี2547
บายไลน์: อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
                   ahmadsomboon@hotmail.com

ด้วยพระนามของอัลลอฮ.ผู้ทรงเมตตาและกรุณายิ่ง

               เดือนรอมฏอนหรือเดือนแห่งการถือศิลอด มุสลิมผู้ศรัทธาที่บรรลุศาสนภาวะต้องถือศิลอดตลอดหนึ่งเดือน เป็นศาสนกิจที่ต้องปฏิบัติ(วาญิบ) ตามหลักการอิสลามหนึ่งในห้าประการสำคัญ

             ในรอบหนึ่งปีมุสลิมจะต้องปฏิบัติเป็นเวลาหนึ่งเดือน จะเป็นเดือนที่ 9 ของปีฮิจเราะฮ. เป็นห้วงเวลาที่มุสลิมถือว่าเป็นเดือนที่ประเสริฐยิ่ง ความประเสริฐของเดือนนี้มีมากมาย ดังตัวอย่างที่จะเสนอต่อไป

             ความสำคัญของเดือนรอมฏอน หรือเดือนการถือศิลอด ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวในซูเราะฮ.(บท)อัลบากอเราะฮ. อายัติที่185 ความว่า   “..เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้าและเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วน ซึ่งจำนวนวัน(ของเดือนรอมฏอน) และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้าและเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ..” (บทแปลของสมาคมนักเรียนอาหรับ)

            เพื่อให้ความเข้าใจร่วมกันว่ามีข้อปฏิบัติอะไรบ้างในเดือนแห่งการถือศิลอดนี้

           1.มุสลิมผู้ศรัทธาจะต้องถือศิลอด โดยงดการดื่มกินอาหารตลอดวันตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์จะรุ่งสางและจะละศิลอด(รับประทานอาหารได้)เมื่อพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว

           2.จะมีละหมาดพิเศษที่เรียกว่าละหมาดตารอเวียะฮ.ในยามค่ำคืน ที่สามารถละหมาดที่บ้านแต่ส่วนใหญ่จะปฏิบัติร่วมกันในมัสญิด

           3.โองการอัลกุรอานได้เริ่มลงมาในเดือนนี้

          4.อัลลอฮ.ได้ประทานโองการอัลกุรอานในเดือนรอมฎอน

          5.มีการส่งเสริมให้มุสลิมที่มีความสามารถได้ไปปฎิบัติศาสนกิจอุมเราะฮ. ณ เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาราเบีย

          6.บัญญัติให้มุสลิมที่มีความสามารถในการบริจาคทานเฉพาะคือซากาตฟิตเราะฮ.(ประมาณมูลค่าเงินเท่ากับราคาของข้าวสาร 3.5 ลิตร)เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ผู้มีสิทธิ์ 8 ประเภท โดยเฉพาะในบรรดาเหล่านั้นคือผู้มีฐานะขัดสนและยากจนในสังคม

         และ7. เมื่อเดือนใหม่ขึ้นสู่ท้องฟ้าในวันแรกของเดือนที่ 10 แสดงถึงความสิ้นสุดแห่งการถือศิลอดตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนจะมีการเฉลิมฉลองวันอิฏิลฟิตรี หรือที่พี่น้องมุสลิมในโลกมลายู(Dunia Melayu Nusantara)ทั้งหลายจะเรียกว่าวันฮารีรายออิฏิลฟิตรี นั้นหมายถึงการถือศิลอดของเดือนรอมฏอนภาคบังคับจะสิ้นสุดลง

            วัฏจักรของศาสนปฏิบัติเช่นนี้ ถูกบัญญัติโดยอัลลอฮ.ที่ให้มนุษย์ชาติยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบันและอนาคตอันไกลโพ้นที่เป็นข้อบังคับให้มุสลิมเป็นผู้ปฏิบัติ การเวลาถึงแม้จะผ่านพ้นมานับพันๆปีเมื่อถึงเวลามุสลิมจะถือปฏิบัติทันที

          ในเดือนแห่งความเป็นศิริมงคลนี้เองที่มุสลิมจะต้องเคร่งครัดมากกว่าปกติในเรื่องการรักษาศาสนปฏิบัติที่ครบรอบด้านด้วยบุคลิกทางกายภาพและจิตวิญญาณที่แน่วแน่ อดทั้งอาหารอดทั้งน้ำดื่ม ไม่กล่าววาจาที่เป็นเท็จ อนุเคราะห์ บริจาคเมตตาช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่า ทบทวนการประพฤติปฏิบัติของตนเองตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา

         ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการให้อภัยแก่บุคคลอื่น พร่ำขออภัยโทษจากอัลลอฮ.อย่างมากมาย เพื่อให้ยกโทษความผิดของตนเองที่กระทำลงไปทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา อ่านและฟังเรื่องราวดีๆที่จะเป็นผลบุญที่น่ากระทำยิ่ง โดยเฉพาะการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ยอมศิโรราบต่อคำสั่งของอัลลอฮ.โดยไม่มีเงื่อนไข

       ศาสนปฏิบัติเช่นนี้ คือสิ่งที่ดีงามของแหล่าบรรดาผู้ศรัทธา หากคนเหล่านั้นส่วนหนึ่งถูกกระทำอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมผู้เรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องพื้นฐาน แต่ถูกมองและทำให้เกิดความเข้าใจว่า จะบานปลายเป็นเหตุแห่งความรุนแรง ณ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสเมื่อ วันที่ 25 ตุลาคม 2547

         ล่าสุดอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร ต้องออกมาขอโทษเมื่อไม่นานมานี้(หลังจากทราบผลว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง)

           การขอโทษ...น่าจะหมายถึงการขออภัยในความผิดพลาดของตนเองในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ(และหมายถึงการล้างมลทินข้อกล่าวร้ายแก่ประชาชนด้วย)

         การขอโทษ....จะต้องไม่เกิดขึ้นด้วยจังหวะและเงื่อนไขใดๆ อาจจะต่างเวลากันกับการขอโทษของ พล.เอก สรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งในทัศนะอิสลามถือเป็นเรื่องที่ดีงามและน่ายกย่อง

         แต่การขอโทษ ...จะต้องมีเจตนาที่ดี และบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง การแสดงออกว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่จะอยู่กับเงื่อนไขบางประการที่จะได้รับการยกโทษ เช่น

         1.ความเลวร้าย ความโหดเหี้ยมและความไม่เป็นธรรมเช่นนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นๆซ้ำอีก และพยายามแสวงหาทางอย่างจริงจังในการลดละและยกเลิกการมีทัศนะการมองประชาชนและญาติพี่น้องของเหยื่อที่ถูกกระทำว่าเป็นศัตรู พร้อมทั้งเปิดโอกาส ให้ความสะดวกให้เขาทั้งหลายแสวงหาความยุติธรรมตามกระบวนการศาลแห่งรัฐ

        2.มีความพยายามในการสร้างความดีงามอย่างเคร่งครัดและเป็นรูปธรรม ที่จะปกป้องรักษาสัจจะวาจาในการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำให้ฟื้นฟูความเข้าใจ ความรู้สึกที่ดีงาม จนสามารถมั่นใจว่าสิ่งที่ผู้กระทำได้ขอโทษนั้นคือการมีเจตนาที่บริสุทธิ์จริง (เพราะความผิดกรณีการกระทำให้ผู้อื่นตายโดยเจตนาจะต้องทดแทนเท่าชีวิตเช่นกัน)

        3.รัฐไม่บังควรกล่าวว่าสิ่งที่ให้แก่ผู้เสียหายและครอบครัวมันมากพอแล้ว เพราะในทัศนะของผู้ถูกกระทำถึงชีวิต จะไม่มีมากมายเท่ากับความรู้สึกเสียใจและสร้างความรู้สึกการอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้องที่แท้จริง (มิใช่เงินทองสิ่งของมีค่าหรืออื่นๆเพียงอย่างเดียว)

       ในทุกวันที่ 10 ของเดือนรอมฎอนในปีหน้าและปีต่อๆไป ปรารถนาอยากจะเห็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส โอบกอดกันและกันด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และอภัยซึ่งกันและกัน

       เพราะทุกชีวิตที่เสียไปเป็นความเมตตาและกรุณาของพระองค์อัลลอฮ.อย่างแท้จริง เขาทั้งหลายไม่อาจจะฟื้นคืนชีพมาร่วมถือศิลอดร่วมกับลูกเมียและครอบครัวญาติพี่น้องที่เขารักอีกแล้ว คงเหลือแต่คนข้างหลังที่อ่อนล้าอ่อนแรงกำลังเรียกร้องความเป็นธรรมแก่เขาทั้งหลายอย่างหนักหน่วงเท่านั้น 

         จึงฝากให้รัฐบาลใหม่ได้สานต่อเรื่องการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในมิติของการฟื้นฟูสภาพจิตใจ แทนการมีกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มากมายเฉกเช่นที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะเดือนแห่งความประเสริฐนี้ จะเป็นโอกาสอันเหมาะสมยิ่งที่จะคิดหาทางออกร่วมกับประชาชนอย่างจริงจัง เพราะปัญหาความไม่สงบที่ภาคใต้ไม่ยากอย่างที่คิด เป็นเพียงเส้นผมบังภูเขาเท่านั้น

         เว้นเสียแต่ว่า...ผู้มีอำนาจในรัฐมีคำตอบที่เป็นอื่น...?