The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   แผนเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียน ไทยพร้อมหรือยัง...?

แผนเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียน ไทยพร้อมหรือยัง...?

โดย ทนงศักดิ์ หมื่นหนู

              สำนักข่าวอะลามี่ : วันนี้ถนนทุกสายต่างมุ่งสู่การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community)

              ในปี 2558 โดยแต่ละประเทศได้เตรียมพร้อมทั้งในเชิงรุกและการตั้งรับไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจสังคมการเมืองและวัฒนธรรม ทว่าประเด็นที่ดูจะเป็นเงื่อนไขและถูกจับตาที่สุดอีกประเด็นหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี แน่นอนว่าทุกประเทศจะต้องปรับลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานให้หมดไป

            แต่อีกด้านหนึ่งเกรงว่าหากไม่มีการควบคุมหรือบริหารจัดการที่ดี ก็อาจจะซ้ำเติมปัญหาวิกฤติด้านแรงงานให้รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของมาตรฐานแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามของแต่ละประเทศที่จะจัดทำมาตรฐานกลางฝีมือแรงงานอาเซียนขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบที่จะใช้คัดกรองแรงงานร่วมกัน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

              จากข้อมูลกระทรวงแรงงานระบุว่าแต่ละปีมีแรงงานไทยกว่า 1.2 แสนคน ที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ขณะเดียวกันมีแรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกกฎหมาย และที่ลักลอบเข้ามาทำงานในไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 3.5 ล้านคน ซึ่งหากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีกันจริงๆ มีการคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานจำนวนมหาศาลที่จะเคลื่อนย้ายหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน

            สอดคล้องกับแนวคิดของ นายแอนดรูว์ บรูซ (Andrew Bruce) ผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (IOM) ที่วิเคราะห์ผ่านประสบการณ์ในหลายประเทศว่า สิ่งที่จะตามมาหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมหาศาลในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า แรงงานสาขาใด ที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน หรือเป็นที่ต้องการของตลาด จำเป็นต้องดูเรื่องความสมดุลของตลาดแรงงาน รวมทั้งความสมดุลของโครงสร้างประชากรแต่ละประเทศควบคู่ไปด้วย

             ขณะเดียวกันก็มองประเทศไทยว่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดี เป็นประเทศที่มีทั้งการส่งออกแรงงาน และรับเข้าแรงงานมาทำงาน จึงเป็นตลาดที่น่าจับตามอง

                ขณะที่ปัญหาสมองไหล ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ ไอโอเอ็ม แสดงความกังวลโดยเฉพาะหากปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในวิชาชีพที่สำคัญ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ก็อาจจะส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนประเทศนั้นๆ ได้ มองว่าการเปิดเสรีอาเซียนภายใต้กรอบนโยบายเดียว มันอาจจะส่งผลดีกับบางประเทศ แต่มันก็อาจจะส่งผลเสียให้กับบางประเทศได้ในเวลาเดียวกันด้วย

               ถามว่าประเทศไทยเราจะมีแผนรับมืออย่างไร กับแรงงานจำนวนมหาศาลดังกล่าวที่มีความเป็นไปได้ว่า จะมีทั้งแรงงานที่ทะลักเข้ามาทำงานในประเทศ กับแรงงานก้อนใหญ่ที่จะไหลออกไปทำงานนอกประเทศ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานไทย ความได้เปรียบเสียเปรียบ ตลอดจนขีดแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งผลักดัน และส่งสัญญาณที่เป็นรูปธรรมถึงความพร้อมของไทยต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

              แม้ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเสนอรัฐบาลเพื่อบรรจุในแผนชาติ ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะได้ข้อสรุปและนำไปสู่การปฏิบัติ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์