Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   เปิดปูมพรรคการเมืองแนวมุสลิม :ความท้าทายในระบบการเมืองไทย

เปิดปูมพรรคการเมืองแนวมุสลิม :ความท้าทายในระบบการเมืองไทย

เอกราช มูเก็ม :  รายงาน

                 สำนักข่าวอะลามี่ : การตายของ ”มุคตาร์ กีละ” หัวหน้าพรรคประชาธรรม ที่ชูธงเป็นพรรคการเมืองมลายู และเป็นตัวแทนของชาวมลายูมุสลิม ที่จะนำปัญหาและการต่อสู้บนถนนการเมือง นับเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

                และ ยิ่งท้าทายไปกว่านั้นคือ การทำงานของพรรคการเมือง บนพื้นฐานของพรรคการเมืองแนวมุสลิม นั่นเอง

               ความจริงพรรคการเมืองแนวมุสลิมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้พรรคแนวมุสลิมก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในปี 2500 เคยมีการจดทะเบียนพรรคการเมืองหนึ่งชื่อ  "พรรคไทยมุสลิม" โดยมี ฮัจยีประโยชน์ ค้าสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค( 65 ปีพรรคการเมืองไทย กรุงเทพฯ 2539 หน้า14-15)

              ต่อมาก็มีการก่อตั้ง "พรรคแนวสันติ" เมื่อปี พ.ศ.2516-2517 ในยุคเผด็จการทหาร โดยหัวหน้าพรรคเป็นคน อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เป็นการรวบรวมนักการเมืองในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้(รวม จ.สตูล) แต่ในปีต่อมาหัวหน้าพรรคถูกยิงเสียชีวิตและต้องยุบพรรคไปในที่สุด

            ในปี 2541 -2542  ก็มีความพยายามรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองแนวมุสลิม โดยใช้ชื่อว่า "พรรคสันติภาพ" โดยมี ดร.อำนวย สุวรรณกิจบริหาร เป็นหัวหน้าพรรค แต่พรรคดังกล่าวก็ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ไม่นานในที่สุดก็ต้องปิดตัวลง

            ต่อมาในการเลือกตั้ง 2548  พิเชษฐ สถิรชวาล อดีตนักการเมืองหลายสมัยและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงซึ่งในขณะนั้นเขายังนั่งในตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ผู้จุดประกายความคิดเพื่อรวมตัวปัญญาชนและคนมุสลิมทั่วประเทศ จัดตั้งพรรคการเมืองแนวมุสลิม อีกครั้ง โดยตั้งชื่อพรรคว่า ”สันติภาพไทย ”โดยมี มุคตาร์ กีละ เป็นเลขาการพรรค

           "นโยบายหลักๆของเรา จะมุ่งไปที่ภาคใต้เป็นหลัก เพราะเป็นปัญหาใหญ่ วันนี้ความรุนแรงเกิดขึ้นไม่หยุด แต่เราจะเข้าไปแก้ปัญหาความแรงแรงให้เป็นเปลี่ยนการต่อสู้ทางการเมือง"  พิเชษฐ ให้สัมภาษณ์ในขณะนั้น

           “ การจัดตั้งพรรคการเมืองแนวมุสลิมในประเทศไทยเป็นครั้งล่าสุดและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เพราะถ้าไม่สามารถจัดตั้งได้ในโอากสครั้งนี้ ในอนาคตคงไม่ต้องพูดถึง “ ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการมุสลิม กล่าวถึงการจัดตั้งพรรคสันติภาพไทย

              ดร.จรัญ ยังวิเคราะห์การตั้งพรรคแนวมุสลิม ว่า ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสังคมมุสลิมในขณะนี้มีมายาคติมากมาย และนับเป็นความท้าทายในการก่อตั้งพรรคการเมือง เพราะถ้าทำได้สำเร็จเปรียบเสมือนได้รับชัยชนะไปแล้วขั้นตอนหนึ่ง

             "การสร้างพรรคการเมืองแนวมุสลิมในประเทศไทยนับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เพราะจากนี้ไปจะเป็นการจารึกไว้อีกครั้งในความทรงจำ เพราะเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่จะร่วมกันสร้างคุณงามความดี การเมืองก็คือคุณงามความดีอย่างหนึ่ง เพราะการเมืองในระบบอิสลามคือการทำงานทางการเมืองแบบบริสุทธิ์ และยุติธรรม" ดร.จรัญกล่าว

                ล่าสุดเมื่อการเลือกตั้ง กลางปี 2554 ที่ผ่านมา พรรคการเมืองพรรคเล็กก็เกิดขึ้นอีกในนาม พรรคประชาธรรม แต่พรรคนี้อาจต่างจากพรรคการเมืองแนวมุสลิมในอดีต โดยชูความเป็นพรรคมลายู เป็นพรรคของชาวมลายู โดยเน้นพื้นที่ฐานเสียงใน 3จังหวัดชายแดนใต้             

                แม้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธรรม ที่มี  “มุคตาร์ กีละ ”เป็นหัวหน้าพรรค จะไม่สามารถนำพลพรรคเข้าสภา แม้แต่คนเดียวอีกก็ตาม

                แต่พรรคประชาธรรม ก็นับว่ามีบทบาทมากในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะสามารถรวบรวมนักกิจกรรมมลายู เข้ามาสู่ถนนเลือกตั้ง นับเป็นการจุดประกายการต่อสู้ที่ในอดีตใช้ความรุนแรง สู่ถนนการเมือง ใช้การเมืองเป็นเวทีการต่อสู้

                การประกาศตัวของพรรคประชาธรรม ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในพื้นที่สีแดง ซึ่งนั่นหมายถึง อาจมีแรงหนุนจากกลุ่มขบวนการที่ต่อรัฐบางส่วนให้การสนับสนุน แต่ก็ไม่มีใครยืนยันหรือแม้แต่แกนนำของพรรคประชาธรรม ก็ออกมาปฎิเสธข้อกล่าวหานี้

                แต่ดูเหมือนว่า ถนนการเมืองของผู้นำพรรคประชาธรรม ได้เดินสู่วังวลเดิม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา มุคตาร์ กีละ ก็ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตหน้าบ้านพักในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส  นับเป็นการปิดฉากหัวหน้าพรรคประชาธรรมอีกคนบนถนนการเมืองสายนี้

                ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ก็เป็นหน้าที่ตำรวจในการติดตามและสืบสวนว่า มีที่มาและปมสังหารจากสาเหตุใด

                แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า หัวหน้าพรรคที่เดินตามแนวมุสลิม ไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ

                การตายขอ”มุคตาร์ กีละ” ไม่ใช่รายแรก และอาจไม่ใช่รายสุดท้าย