Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   วิกฤติ COVID-19 : (ตอน 2 ) มัสยิดต้องรับใช้สังคม

วิกฤติ COVID-19

ภารกิจองค์กรมุสลิม

สู่สายเชือกแห่งศรัทธา

ตอน 2  : มัสยิดต้องรับใช้สังคม

             สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดนานร่วม 2 ปี ไม่เพียงทำลายระบบเศรษฐกิจ แต่ยังทำลายชีวิตมนุษย์ และยังกระทบต่อสภาพทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมมุสลิม ที่มีกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางความเชื่อศาสนา มีการสั่งปิดมัสยิด งดการละหมาดวันศุกร์ งดการรวมตัวทำกิจกรรมทางศาสนา



           ขณะที่การแพร่ระบาดโควิดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม มีการแพร่เชื้อที่ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนมุสลิมนับเป็นพื้นที่เสี่ยงซึ่งหลายชุมชนไม่มีพื้นที่สำหรับผู้กักตัวจนเกิดความเสี่ยงมากขึ้น

          ฮัจยีมุสตอฟา (อนุสรณ์) องอาจ อิหม่ามมัสยิดบางอุทิศ ย่านเจริญกรุง เขตบาคอแหลม กรุงเทพฯ กล่าวถึง แนวคิดการจัดตั้งศูนย์พักคอย มัสยิดบางอุทิศ เพื่อส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มสีเขียว โดยใช้อาคารเรียนของมัสยิดเป็นสถานที่พักคอย จากผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในขณะนี้ ระบบสาธารณสุขของรัฐไม่สามารถรองรับได้ทัน

             “ ในฐานะเป็นผู้บริหารมัสยิด จึงได้หารือกับมัสยิดข้างเคียงในพื้นที่จึงได้รวบรวมประกอบด้วย อิหม่ามประพัฒน์ วรกานต์ มัสยิดอัลอะติ๊ก  (สุเหร่าเก่า) นายปรีดา หร่ายมณี  กรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร (มัสยิดอัสสละฟียะฮ์ )  คุณดนุ นาอุดม ประธาน หน่วย อพปร.ฐานแม่บาง สำนักงานเขตบางคอแหลม สาธารณสุข 12 ศูนย์จันเที่ยงเนตรวิเศษ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอย สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด โดยการร่วมมือจากคนในชุมชนและมัสยิดข้างเคียง

            สำหรับรูปแบบการจัดตั้งศูนย์พักคอยของมัสยิดบางอุทิศ จัดตั้งในรูปแบบเอกชน เพื่อบรรเทาความลำบากของสังคม โดยได้รับการอำนวยความสะดวก นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าฯ กทม. สนับสนุนการวางระบบ แต่สำหรับงบประมาณใช้ดำเนินการเป็นของเอกชนทังหมด

             อิหม่ามอนุสรณ์ กล่าวว่า มัสยิดต้องเป็นองค์กรเสียสละ เพื่อลดภาระราชการ อีกทั้งยังจะเป็นองค์กรที่จะต้องดูแลผู้คนนในภาวะลำบาก โดยเราจะทำจนสุดความสามารถ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย  สำหรับสถานที่ตั้งเราใช้อาคารโรงเรียน 4 ชั้น ซึ่งสามารถรองรับได้ 50 คน

              โดยก่อนหน้านี้ได้ทำหน้าที่ประสานงานให้คนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด ด้วยการประสานงานกับเขตบางคอแหลม  และนับตั้งแต่ตั้งเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา มัสยิดบางอุทิศ ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายในการปรุงอาหาร จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคจัดทำอาหารปรุงสุก แจกตามชุมมชนต่างๆ โดยไม่เลือกว่าไทยพุทธหรือมุสลิมทุกวันประมาณ 200 กล่อง/วัน โดยเราใช้คอนเซ็ปต์ ในการรณรงค์ว่า “ อิหม่ามไม่ทิ้งมะมูม ”


            “ ผมเป็นนักกิจกรรมมาก่อน จึงอยากเห็นโมเดลการใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางจริงๆ เพื่อให้มัสยิดอื่นนำไปเป็นต้นแบบในการจัดการช่วยเหลือชุมชนต่อไป ที่สำคัญไปกว่านั้น ในมิติการเสียชีวิต บางบ้านถูกกักตัวทั้งบ้าน ขณะที่คนในบ้านเสียชีวิต ไม่มีใครจัดการศพได้ เป็นหน้าที่อิหม่าม ที่จะทำหน้าที่แป็นคนดูแลแทนครอบครัวที่ติดเชื้อ โดยได้รับการสนับสนุนจากชมรมไทยมุสลิมอาสา ทำโลงศพให้ฟรี แต่เราก็ร่วมบริจาค นี่จึงเป็นภารกิจในฐานะอิหม่ามที่จะต้องรับผิดชอบและต้องทำให้ลูกบ้านในนามมัสยิด”


           อิหม่ามอนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบศูนย์พักคอย จะดำเนินการในระบบของ Home Isolation หรือ การกักตัวที่บ้าน คือ อีกหนึ่งวิธีในการดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ทั้งนี้เนื่องจากคนในชุมชนแออัด ไม่สามารถกักตัวในบ้านได้ จึงให้ย้ายมากักตัวในมัสยิดแทน โดยมีการดูแลตามระบบสาธรชารณสุข เราจัดอาหารให้ 3 มื้อ เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐ โรงพยาบาลลดความหนาแน่นจากผู้ป่วยด้วย

           “ เราได้ทำความเข้าใจกับชุมชนให้ตระหนักถึงความเสียสละ เป็นความจำเป็นที่จะต้องกล้าทำ กล้าในทางที่ถูก กล้าทำความดี  ทั้งนี้ศูนย์พักคอยมัสยิดบางอุทิศ จะบริการพี่น้องในชุมชนใกล้เคียงประกอบด้วย ชุมชนบางอุทิศ ชุมชนสวนหลวง ชุมชนอัสสละฟียะฮ์ ชุมชนหลังตลาดเก่าวัดพยาไกร และชุมชนเซ่งกี่ ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม “

ติดตามใน นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับสิงหาคม 2546