Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   งานฮาลาลที่ดี ที่สุดในไทย "Thailand Halal Assembly 2023"

งานฮาลาลที่ดี ที่สุดในไทย “Thailand Halal Assembly 2023”

      # สร้างพลัง..เปลี่ยนแนวคิดวิถีฮาลาลแบบเดิม สู่ฮาลาลดิจิทัล

     # เพื่อเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้น ผลักดันฮาลาลไทยยืนหนึ่งในตลาดโลก

        สำนักข่าวอะลามี่ : เปลี่ยนแนวคิดวิถีฮาลาลแบบเดิมๆ ให้ทันสมัยและล้ำกว่าใคร...บนเวทีนำเสนอแนวคิดฮาลาลในโลกยุคดิจิตัล กับงานฮาลาลที่ดีที่สุดในไทย “Thailand Halal Assembly 2023” ภายใต้ธีมงาน “ฮาลาลจากแนวคิดสู่ดิจิทัลสู่ความวางใจ” (Digitalizing Halal Initiatives for Fostering Halal Trust) คาดหวังให้ทุกคนเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้น พร้อมผลักดันฮาลาลไทยยืนหนึ่งในตลาดโลก ระหว่างวันที่ 2 - 3 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมนูโว ซิตี โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายอรุณ บุญชม ผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นประธานเปิดงาน

          รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานจัดงาน Thailand Halal Assembly 2023 กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้เป็นเจ้าภาพหลักจัดงานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ดีที่สุดในประเทศไทยตลอด 10 ปี จนเป็นงานอีเว้นใหญ่ปลายปีที่ไม่ควรพลาด ซึ่งในปีนี้ “Thailand Halal Assembly 2023” ภายใต้ธีม “ฮาลาลจากแนวคิดสู่ดิจิทัลสู่ความวางใจ” (Digitalizing Halal Initiatives for Fostering Halal Trust) เป็นการแสดงจุดเด่นของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล และผู้พัฒนาระบบฮาลาลดิจิทัล คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดวิถีฮาลาลแบบเดิมๆ ให้ทันสมัย และทำให้ทุกคนเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้น



          ภายในงานประกอบด้วย 3 การประชุมวิชาการ ได้แก่ 1) งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล The International Halal Science and Technology Conference 2023 (IHSATEC 2023) เป็นงานนำเสนอผลงานวิชาการและวิจัยในการประชุม ซึ่งในปีนี้เดือน มีผู้ส่งผลงานทางวิชาการนำเสนอในงานประชุมนานาชาติมากถึง 71 ชิ้น โดยเป็นการนำเสนอในที่ประชุม 52 ชิ้น นำเสนอผ่านออนไลน์ 19 ชิ้น นำเสนอแบบปากเปล่า 47 ชิ้น โปสเตอร์ 24 ชิ้น ประเทศที่นำเสนอผลงานทางวิชาการเรียงตามลำดับมากน้อยได้ดังนี้ อินโดนีเซีย 30 ชิ้น ประเทศไทย 15 ชิ้น มาเลเซีย 9 ชิ้น ปากีสถาน 6 ชิ้น นอกจากนั้นยังมีผลงานจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อียิปต์ สหรัฐอเมริกา เยเมน เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง บรูไนดารุสลาม กัมพูชา ซูดาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ทรินิแดดแอนด์โทบาโก

           โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการตัดสินพิจารณาผลงาน (Reviewer) จะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Journal of Halal Science, Industry, and Business (JHASIB) 2024 ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (Vol.2, No.1) ต่อไป 2) The 16th Halal Science and Business International Conference (HASIB) พบกับ SPEAKER มากความสามารถกว่า 30 ท่าน จากนานาชาติมากกว่า 10 ประเทศ กับหัวข้อน่าสนใจหลากหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล เทคโนโลยีดิจิทัล ความมั่นคงทางอาหาร และนวัตกรรม 3) การประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาล : The 9th International Halal Standards และการจัดนิทรรศการ showcase นวัตกรรมดิจิทัล 3 ชิ้น ได้แก่
           
            (1) แอปพลิเคชัน Halal Route เป็นฐานข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวหลักจากใต้สุดถึงเหนือสุดของประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวมุสลิมจากทั่วโลก ได้เข้าถึงข้อมูลร้านอาหารฮาลาล ที่พัก ชุมชนมุสลิมและมัสยิด ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ 2) Thailand Diamond Halal Through HAL-Q Plus Halal Standardization System อันเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2558, (3) Diamond Halal Blockchain เทคโนโลยีการตรวจสอบยืนยันคุณภาพและสภาพฮาลาลตลอดห่วงโซ่อุปทานฮาลาล อันเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 กันยายน 2562 อีกทั้งจะมีการแสดงผลงานนวัตกรรม จำนวน 15 ชิ้นที่เป็นงานวิจัยพัฒนาคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ของ ศวฮ. ปีนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมในสถานที่ไม่ต่ำกว่า 200 คน ทางออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 5,000 บัญชี โดยเป็นผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 30 ประเทศ

          เห็นได้ชัดเจนว่า  ศวฮ. ยังคงมุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นด้านฮาลาล (Halal Trust) เป็นปณิธานที่ไม่เคยสิ้นสุด และการจัดงานครั้งนี้เราเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวคิดวิถีฮาลาลแบบเดิม ๆ ให้ทันสมัยและล้ำกว่าใคร เพราะ Thailand Halal Assembly เป็นเสมือนเวทีนำเสนอแนวคิดฮาลาลในโลกยุคดิจิทัลที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้น

            ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ฮาลาลไม่ได้นับเฉพาะผู้บริโภคมุสลิมซึ่งมีอยู่ประมาณสองพันล้านคนหรือหนึ่งในสี่ของประชากรโลกเท่านั้น  แต่ยังครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับประชากรโลกที่ไม่ใช่มุสลิมอีก 4,900 ล้านคน รวมเป็น 6,900 ล้านคนหรือ 88% ของประชากรโลก โดยผลิตภัณฑ์ฮาลาลด้านอาหารและการเกษตร มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญต่อปี รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food products) เป็นต้นว่า ผลิตภัณฑ์ครัวเรือน แฟชั่น คอสเมติกส์ ผลิตภัณฑ์ยาและการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ มีมูลค่าสูงถึง 76.4% ของมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลทั้งหมดหรือมีมูลค่า 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งการทำให้ทุกคนทั้งผู้บริโภคมุสลิมและไม่ใช้มุสลิมสามารถเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้นก็จะส่งผลให้อุตสาหกรรมฮาลาลไทยสามารถแข่งขันและยืนหนึ่งในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่มีคุณภาพในตลาดโลกได้

             สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและนวัตกรรมฮาลาล รวมถึงติดตามข่าวสารต่างๆ ของงานเพิ่มเติมได้ที่  www.Thailandhalalassembly.com , Facebook : Thailand Halal Assembly หรือโทร. 02-218-0618 รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย